กนศ.ไฟเขียวแผนขับเคลื่อนอีอีซี

22 พ.ย. 2560 | 08:55 น.
กนศ.ไฟเขียวร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาบุคลากรรับการลงทุนในอีอีซี พร้อมอนุมัติเขตส่งเสริมรองรับการลงทุนอุตฯ 2 แห่ง ขระที่ทีโออาร์เชิญชวนนักลงทุนโครงการพื้นฐานคลอดได้ต้นปีหน้า

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในร่างแผนปฏิบัติ การการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การ วิจัย และเทคโนโลยี (พ.ศ. 2560 – 2564) ประกอบด้วย 4 ทิศทางหลัก ได้แก่ การผลิตบุคลากร และสร้างความรู้ ตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะงานที่มีรายได้สูงสำหรับคนทั่วไป ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาจบมาแล้วไม่มีงานทำ หรือการทำงานต่างระดับ

โดยให้ผู้ประกอบการเอกชนประสานงานโดยตรงกับสถาบันการศึกษา โดยมีหน่วยงานของรัฐคอยเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ การระดมความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและศูนย์เทคโนโลยีชั้นนำทั่วโลก เพื่อร่วมมือกับสถาบันการศึกษาไทย และเชิญชวนผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในด้านต่างๆ ที่ไทยยังต้องการเข้ามาทำ งานและฝึกอบรมบุคลากรไทย รวมถึงร่วมมือกับนักลงทุนเอกชนชั้นนำของโลก ผลิตบุคลากรสนองความต้องการของ ภูมิภาค โดยเฉพาะใน ด้านการบิน ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ การท่องเที่ยว และ การแพทย์

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้อนุมัติงบประมาณจากงบกลาง ปี 2561 สำหรับโครงการเร่งด่วนที่มีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการตาม แผนปฏิบัติการพัฒนาบุคคลากรฯ ในกรอบวงเงิน 861.02 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายสำ คัญในปี 2561 จะผลิตครู ต้นแบบในอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างเร่งด่วนอย่างน้อย 150 คน จัดโครงการให้เด็กและเยาวชนได้รับความรู้ทาง วิทยาศาสตร์ หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และระบบสารสนเทศ จำนวนอย่างน้อย 40,000 คน และจัดโครงการให้เกษตรกร อย่างน้อย 10,000 รายได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ใหม่จากสถาบันชั้นนำและมหาวิทยาลัย

ขณะที่แผนระยะกลาง(2562-2564)นั้น ที่ประชุมได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปจัดเวทีรับความคิดเห็นจากประชาคมการศึกษาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี เพื่อนำมาปรับปรุงแผนและโครงการโดยเร็ว

อีกทั้ง ที่ประชุมยังเห็นชอบการประกาศเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรม ในปี 2560 และ แผนการดำเนินงานในปี 2561 โดยให้นิคมอุตสาหกรรม Smart Park จังหวัดระยอง และนิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 จังหวัดระยอง จำนวนรวมกัน 3,366 ไร่ เป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรม รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย อีกทั้ง ได้รับทราบแผนในช่วงครึ่งปีแรก 2561 มีแผนที่จะประกาศเขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรม เพิ่มเติมอีก 9 แห่ง รวมเป็นพื้นที่รวมกันกว่า 30,000 ไร่ เพื่อรอรับการขยายตัวของการลงทุนอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี โดยมีเป้าหมารวม 5 หมื่นไร่

นายอุตตม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดว่าจะ ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน ได้ภายใน กุมภาพันธ์ 2561 คัดเลือกและเจรจาต่อรองกับเอกชนแล้วเสร็จ กรกฎาคม 2561 และเปิดให้บริการ 2566 กลุ่มโครงการที่เกี่ยวกับเมืองการบินภาคตะวันออก เช่น โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก คาดว่าจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในเดือนพฤษภาคม 2561 คัดเลือกและเจรจาต่อรองกับเอกชนแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2561 เปิดให้บริการ 2566

โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่าง กองทัพเรือ-บริษัทการบินส่วนไทยบริษัทแอร์บัส คาดว่าจะจัดทำรายละเอียดร่วมทุนกับภาคเอกชนได้ในเดือนมีนาคม 2561 เริ่มดำเนิน ธุรกิจได้ในปี 2564 โครงการพัฒนาศักยภาพท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งเป็นการดำเนินการของ กองทัพเรือ ในการพัฒนา พื้นที่เตรียมพร้อมโครงการเมืองการบินภาคตะวันออก เช่นการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 การก่อสร้างทางขับ (Taxiway) เป็นต้น ซึ่งจะดำเนินการให้สอดคล้องกับการพัฒนาโครงการเมืองการบินภาคตะวันออก

ส่วนกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับท่าเรือ และการขนส่งทางรางเพื่อเชื่อม 3 ท่าเรือ ได้แก่โครงการท่าเรือแหลมฉบัง อยู่ในระหว่างการศึกษาสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน มิถุนายน 2561 คัดเลือกและเจรจาต่อรองกับเอกชนแล้วเสร็จ ตุลาคม 2561 และเปิดให้บริการ 2568 โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด อยู่ในระหว่างการพิจารณาอนุมัติสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะประกาศเชิญ ชวนเอกชนร่วมลงทุน มิถุนายน 2561 คัดเลือกและเจรจาต่อรองกับเอกชนแล้วเสร็จ กันยายน 2561 และเปิด ให้บริการ 2567 โครงการท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ อยู่ในระหว่างการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเรือเฟอร์รี่ คาดว่าจะเปิด ให้บริการกุมภาพันธ์ 2562 โครงการรถไฟรางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ คาดว่าจะจัดทำรายงานการศึกษาแล้วเสร็จ ปี 2562 คัดเลือก ดำเนินการใน ปี 2563 และเปิดให้บริการ 2566

โครงการบริการขนส่งแบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation) ในชั้นต้นให้ การท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็น หน่วยงานหลักดำเนินการศึกษา และทำข้อเสนอจัดหาระบบโปรแกรมเชื่อมโยงข้อมูล คาดว่าจะติดตั้งระบบได้ใน ปี 2562 และโครงการ ICD บริเวณฉะเชิงเทรา กนศ. ได้มีมติให้เริ่มการศึกษาเพื่อช่วยบรรเทาลดความคับคั่งของ ICD ที่ ลาดกระบัง คาดว่าจะจัดจ้างที่ปรึกษาได้ไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2561 โดยโครงการโครงสร้างพื้นฐานทุกโครงการ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้เขียน TOR เพิ่มเรื่องการใช้ยางพาราเป็นองค์ประกอบ ในการก่อสร้างให้มากที่สุด