ยกเครื่องบริหาร 'สนามบินไทย' จิ๊กซอว์ขับเคลื่อนท่องเที่ยว

22 พ.ย. 2560 | 10:17 น.
การขยายตัวด้านการท่องเที่ยวของไทย ที่นับวันจะเติบโตสูงต่อเนื่อง สวนทางกับการพัฒนาสนามบินของไทย ซึ่งยังก้าวตามไม่ทัน ความท้าทาย คือจะทำอย่างไรที่จะเพิ่มศักยภาพของสนามบิน เพื่อรองรับการขยายตัวที่เกิดขึ้น

++ขยายสนามบินรับ333ล้านคน
หากมองในแง่ของการขยายศักยภาพของสนามบิน 4 ผู้เล่นหลักในฐานะผู้บริหารสนามบิน ไม่ว่าจะเป็นกรมท่าอากาศยาน (ทย.) บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. ทหารเรือ (สนามบินอู่ตะเภา) และสนามบินของเอกชน อย่างบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ก็จะเห็นว่าผู้บริหารสนามบินทั้ง 4 ราย ต่างก็กำลังอยู่ระหว่างการขยายศักยภาพในการรองรับของสนามบินด้วยการวางแผนการลงทุนในช่วง 10 ปีนี้ ไม่ตํ่ากว่า 2 แสนล้านบาท

เนื่องจากเห็นชัดเจนถึงอัตราการเติบโตของผู้โดยสาร อย่างสนามบิน 28 แห่งของทย.(ไม่รวมสนามบินเบตงที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) จะพบว่าในช่วงตั้งแต่ปี 2552-2559 มีการเติบโตของผู้โดยสารเฉลี่ย 25.40% หลายสนามบินที่เคยขาดทุนก็กลับมาทำกำไร จากการขยายตัวของสายการบินต้นทุนตํ่า ซึ่งแผนในการขยายสนามบินของทย.ในช่วง 10 ปีนี้ก็จะเป็นการขอรับการสนับสนุนงบลงทุนจากรัฐราว 3 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยปีละราว 3 พันล้านบาทต่อปี ที่ได้รับการทยอยจัด สรรมาบ้างแล้ว อย่างสนามบินขอนแก่น, สนามบินกระบี่

บาร์ไลน์ฐาน ส่วนสนามบินหลักทั้ง 6 แห่งของทอท.ก็เตรียมแผนขยายรองรับไว้แล้ว ทั้งที่อยู่ระหว่างการขยายเฟส 2 สนามบินสุวรรณภูมิ ขยายเฟส 3 สนามบินดอนเมือง และอื่นๆ ด้วยมูลค่าการลงทุนนับ แสนล้านบาท เช่นเดียวกับการขยายศักยภาพของสนามบินอู่ตะเภา รองรับนโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)

เพราะทุกคนเห็นดีมานด์การขยายตัวของผู้โดยสารที่เกิดขึ้น ซึ่งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) คาดว่าจากจำนวนผู้โดยสารในปีที่ผ่านมาซึ่งใช้บริการสนามบินในภาพรวมของไทย 139 ล้านคนจะขยับมาเป็น 333 ล้านคนในปี 2579 และเที่ยวบินก็จะเพิ่มจาก 9.61 แสนเที่ยวบินเป็น 2 ล้านเที่ยวบิน

++ชงคค.ยกสนามบินให้ทอท.
การขยายศักยภาพของสนามบิน ก็ต้องว่ากันไปตามแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่กำลังประเด็นและต้องนำไปสู่การตัดสินใจ คือ “การบริหารจัดการสนามบินอย่างไรที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ สูงสุดส่งเสริมให้ไทยเป็นเอวิเอชัน ฮับ ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศ” ซึ่งต้องยอมรับว่าสนามบินของทย.กำลังเป็นเป้า

หลังจากคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ซึ่งมี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติให้ทย. ศึกษาแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถท่าอากาศยาน และอาจมีแผนทางเลือกให้ ทอท.เข้ามา บริหารจัดการ หรือให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในสนามบินของ ทย. เพื่อสร้างโครงข่ายระบบการขนส่งทางอากาศโดยคำนึงถึงความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ

จากมุมมองของทอท.และทย.วันนี้ แน่นอนว่าเห็นต่าง โดยทอท.ยันว่าพร้อมรับสนามบิน ของทย.เข้ามาบริหารในระยะแรก 15 แห่ง เช่น สนามบินน่าน, ลำปาง, อุดรธานี, อุบลราชธานี, ขอนแก่น, นครพนม , พิษณุโลก, แม่สอด, กระบี่, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช เป็นต้น ขณะเดียวกันบอร์ดทอท.ยังมองว่าในอีก 8 สนามบินที่เหลือของทย. บอร์ดก็แนะว่าทอท.ควรรับมา บริหารด้วย แต่คงจะต้องเป็นระยะต่อไป ขณะที่ทย.ก็มองว่าจะมอบสิทธิ์ให้ทอท.บริหารจัดการ 2 สนามบิน คือสนามบินอุดรและตาก ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นข้อเสนอจากทั้ง 2 หน่วยงาน ซึ่งบทสุดท้ายคงต้องหารือร่วมกันและออกมาเป็นนโยบายของกระทรวงคมนาคม (คค.) ว่าตกลงจะฟันธงยกสนามบินให้ทอท.ได้กี่แห่ง

599246511 นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่าการที่ทย.เสนอแนวทางมอบสิทธิ์ให้ทอท.ให้บริหาร 2 สนามบินดังกล่าว เป็นเวลา 20-30 ปี เพราะเห็นว่าทอท.ยังขาดสนามบินที่ภาคอีสานและภาคตะวันตก ดังนั้นหากทอท.มีสนามบินครบทุกภาคของประเทศ ซึ่งด้วยความสามารถของทอท.ก็เชื่อว่าจะทำให้ส่งเสริมความเป็นเอวิเอชันฮับได้ในทุกภูมิภาค แต่คงไม่ใช่ทั้ง 15 แห่งตามที่ทอท.เสนอ เพราะทย.ต้องรักษาสมดุลการหารายได้ของสนามบิน เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ใช้บริการและประชาชน

เนื่องจากค่าธรรมเนียมในสนามบินของทย.เรียกเก็บจะน้อยกว่าสนามบินของทอท.มาก อย่างค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน (พีเอสซี) ทย.เก็บค่าธรรมเนียมผู้โดยสารระหว่างประเทศอยู่ที่ 400 บาท ทอท.เก็บ 700 บาท เที่ยวบินในประเทศ ทย.เก็บค่าพีเอสซี อยู่ที่ 50 บาท แต่ทอท.เก็บ 100 บาท ทั้งการเรียกเก็บค่าแลนดิ้งก็ต่างกัน เพราะทย.เก็บค่าธรรมเนียมไม่สูง โดยยอมอุดหนุนงบในส่วนนี้ให้แก่ผู้ใช้บริการปีละกว่า 1 พันล้านบาท เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการลดค่าตั๋ว กระตุ้นให้เกิดการเดินทาง ก็จะช่วยเรื่องการท่องเที่ยว และบางสนามบินที่แม้จะมีการให้บริการเชิงพาณิชย์น้อยแต่ก็มีการใช้งานด้านความมั่นคงทางทหาร ทางราชการ การฝึกบิน การขึ้น-ลงในโครงการฝนหลวง

mp22-3316-a นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)หรือทอท. กล่าวว่า การที่ทอท.เสนอที่จะบริหาร 15 สนามบิน ของทย.เราพิจารณาเป็นคลัสเตอร์ ที่จะเชื่อมโยงเอวิเอชัน ฮับของประเทศ ซึ่งเป็นการทำการบ้านตามที่ป.ย.ป. ให้แนวทางมา แต่หลังจากนี้ก็แล้วแต่รัฐบาลจะพิจารณา ซึ่งก็คงไม่ได้พิจารณาจากจำนวนสนามบิน แต่น่าจะพิจารณาจากหลักการที่จะเกิดประโยชน์แก่ประเทศ ส่วนการคิดค่าธรรมเนียมของทอท.เป็นไปตามพ.ร.บ.การเดินอากาศปี 2497 ที่กำหนดให้คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) พิจารณาค่าธรรมเนียมที่ต้องคิดที่ต้นทุน

++เปิดทางเอกชนร่วมลงทุน
ไม่เพียงการให้สิทธิ์ทอท.บริหารใน 2 สนามบิน ทย.มีแผนจะให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าในสนามบิน ของทย. โดยนำร่องใน 4 สนามบินตามกระบวนการ PPP ได้แก่ สนามบินลำปาง, สนามบินเพชรบูรณ์, สนามบินนครราชสีมา และสนามบินชุมพร

รวมไปถึงมองการเปิดให้เอกชนบริหารจัดการพื้นที่ ภายในอาคารผู้โดยสาร อาทิ สนามบินอุบลราชธานี, ขอนแก่น, กระบี่ โดยจะจัดกลุ่มแยกเป็นพื้นที่เพื่อเปิดให้เอกชนมาประมูล เพราะไม่อยากให้เกิดการผูกขาด เช่น พื้นที่สำหรับโอท็อป, พื้นที่สำหรับสนับสนุนการท่องเที่ยว, พื้นที่เชิงพาณิชย์

ทั้งยังมองถึงการให้เอกชนร่วมลงทุนในการทำโครงการทัวริสต์ แอร์พอร์ต ที่เริ่มใน 3 สนามบิน คือ ระนอง, น่าน และบุรีรัมย์ การเปิดให้เอกชนมาร่วมลงทุนก็จะทำให้ทย.มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีการบริหารจัดการที่คล่องตัวขึ้น ภายใต้จุดเน้นยํ้าว่าไม่ต้องการให้เกิดการผูกขาด เกิดมาเฟีย หรือกีดกันการใช้สนามบิน

อีกทั้งทย.ยังอยู่ระหว่างแก้ไขก.ม.เรื่องเกี่ยวกับการใช้เงินกองทุน ที่จะทำให้มีเงินเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมีอยู่ 1 พันล้านบาท เพื่อมาใช้บริหารจัดการสนามบินให้เกิดความคล่องตัวขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,316 วันที่ 23 - 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1