One Belt One Road และ‘ประเทศไทย4.0’ สู่ความมั่นคง-มั่งคั่งร่วมกัน(จบ)

24 พ.ย. 2560 | 04:56 น.
ดังที่กล่าวมาแล้วในรายงานตอนแรกว่า เป้าหมายของการจัดงานสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีนภายใต้หัวข้อ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และ “ประเทศไทย 4.0”: สู่ความมั่นคง-มั่งคั่งร่วม” ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเซียะเหมิน เมืองท่าและเมืองอันเป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งมณฑลฝูเจี้ยนนั้น นอกจากเพื่อให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนและนำเสนอผลงาน ตลอดจนบทความทางวิชาการจากนักวิจัยของทั้ง 2 ประเทศแล้ว ในท้ายที่สุดทางสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ก็จะนำข้อเสนอแนะจากผลการศึกษาวิจัยเหล่านี้มาเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องซึ่งจะนำไปเป็นนโยบายระดับประเทศในที่สุด พล.อ. สุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธ ศาสตร์ไทย-จีน ภายใต้สังกัดของวช. เปิดเผยว่า ในส่วนของประชาชนหรือบริษัทเอกชนที่สนใจจะนำข้อมูลจากงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ก็สามารถเข้าไปค้นคว้าหาข้อมูลตามหัวข้อที่ต้องการได้ที่เว็บไซต์ www.vijaichina.com ที่เป็นคลังข้อมูลเจาะลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-จีนในหลากมิติ

[caption id="attachment_233892" align="aligncenter" width="503"] คณะนักวิจัยไทยและจีน ที่ม.หัวเฉียว สาธารณรัฐประชาชนจีน คณะนักวิจัยไทยและจีน ที่ม.หัวเฉียว สาธารณรัฐประชาชนจีน[/caption]

“งานวิจัยของเรายังเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศทั้งของฝั่งจีนและไทย งานวิจัยหลายชิ้นยังศึกษาถึงการเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมไปถึงการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในระดับประชาชนที่จะมีความเข้าอกเข้าใจในวัฒนธรรมและประเพณีของกันและกันมากยิ่งขึ้น” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” พร้อมทั้งยกตัวอย่างการเชื่อมโยงหาจุดร่วมระหว่างนโยบายประเทศไทย 4.0 กับนโยบาย Made in China 2025 ที่สามารถจับมือแสวงประโยชน์ร่วมกัน

 

ไทย-จีนพัฒนายางพารา
ไม่เพียงเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น ที่ไทยและจีนสามารถจับมือร่วมลงทุนหรือจัดทำโครงการความร่วมมือเพื่อสร้างประโยชน์แบบ win win เพราะโอกาสสร้างความเชื่อมโยงและความร่วมมือด้านอื่นๆก็ยังมีอยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจภาคบริการ การขนส่งกระจายสินค้าทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ การร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยว การศึกษา หรือการแพทย์ (ทั้งแผนปัจจุบันและอายุรเวชแผนโบราณ) และที่สำคัญคือ ภาคการเกษตรและการค้า เนื่อง จากไทยเองเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ขณะที่จีนก็เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของไทย หากร่วมมือกันได้ก็จะสร้างเสถียรภาพให้กับราคาพืชผลการเกษตรของไทย และช่วยให้จีนเองบริหารจัดการสต๊อกสินค้าการเกษตรที่ต้องการนำเข้าจากไทยได้ดีขึ้น

[caption id="attachment_233890" align="aligncenter" width="376"] ดร.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร (ซ้าย) ดร.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร (ซ้าย) ศ. ดร.สุรชัย ศิริไกร (ขวา)[/caption]

ดร.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร นักวิจัยจากภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าของงานวิจัยหัวข้อ Trade Promotion Impact from One Belt One Road and Thailand 4.0 Policy: The Global Forecasting Model of Thai Chinese Natural Rubber Trade เปิดเผยว่า 56% ของผลผลิตยางทั้งหมดของไทยนั้นส่งออกไปยังตลาดจีน จีนจึงเป็นคู่ค้าที่มีอิทธิพลต่อตลาดยางพาราของไทย หากมองในระยะยาวเชื่อว่านโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีนจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อยางพาราไทย เพราะนโยบายดังกล่าวจะกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนเองพร้อมๆไปกับการสร้างความร่วมมือกับนานาประเทศที่อยู่รายรอบเส้นทาง ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจจีนขยายตัวก็จะมีการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น มีการผลิตในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น มีความต้องการใช้รถและใช้ยางรถยนต์ (รวมทั้งยางรถบรรทุก) เพิ่มขึ้น มีความต้องการนำเข้ายางเพื่อผลิตเป็นสินค้าต่างๆป้อนตลาดมากขึ้น นั่นหมายถึงโอกาสที่จีนน่าจะนำเข้ายางจากไทยมากขึ้นตามไปด้วยและยางได้ราคาดีขึ้น “เราประมาณการว่า ในระยะ 10 ปี หากจีนรักษาการขยายตัวของจีดีพีที่ระดับ 7% ไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้มีความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้นมากในหลักแสนตัน”

สำหรับข้อเสนอแนะเพื่อการรักษาสเถียรภาพราคายางนั้น ดร.มนต์ชัยระบุว่า หากเราส่งเสริมให้มีการใช้ยางภายในประเทศเพิ่มขึ้นได้ในสัดส่วน 25% ของปริมาณผลิตทั้งหมด หรือใช้เองในประเทศ 1 ใน 4 ของยางที่เราส่งออกก็จะทำให้ราคายาง มีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ควรเชิญชวนจีนเข้ามาตั้งโรงงานแปรรูปยางในไทยให้มากขึ้น เช่น โรงงานผลิตยางรถบรรทุก (เพราะใช้เนื้อยางเยอะ เทคโนโลยีไม่ต้องสูงมาก) “เท่าที่ทราบคือกลุ่มทุนของจีนเองชอบมาลงทุนในไทยมากกว่าประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือเมียนมา เพราะยางไทยรวมถึงยางแท่งมีคุณภาพสูงกว่าประเทศอื่นๆ และจีนก็มีสัมพันธภาพที่ดีกับไทยมาตลอด มีความใกล้ชิดกันมากกว่า การที่จีนเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางในไทยยังมีข้อดีสำหรับเขาเองคือจะทำให้เขาได้สินค้าตรงตามความต้องการ และลดความเสี่ยงในการบริหารจัดการสต๊อกยาง ไม่ต้องซื้อล่วงหน้าเอาไว้มากๆซึ่งทำให้มีต้นทุนในการบริหารจัดการ” ดร.มนต์ชัยยังแนะนำเพิ่มเติมว่า รัฐบาลสามารถสนับสนุนเรื่องนี้ด้วยการใช้มาตรการด้านภาษีส่งเสริมผู้ลงทุนจีนที่เข้ามาแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง และสนับสนุนด้านเงินทุนหรือเงินกู้ดอกเบี้ยตํ่าแก่ผู้ผลิตยางที่ต้องการขยับสถานะมาเป็นผู้แปรรูปยางเองด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,316 วันที่ 23 - 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1