ก.แรงงาน สำรวจพื้นที่ระยอง เตรียมคนรับอุตสาหกรรม เขต EEC

21 พ.ย. 2560 | 09:42 น.
ปลัดกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ระยอง เตรียมคนทำงานรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เขต EEC 3 จังหวัด มอบ กพร.ลุยยกระดับเทคโนโลยีชั้นสูงอีก 9,200 คน ย้ำ ต้องมีคุณภาพ ได้มาตรฐานสอดรับความต้องการ

นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ ต่อยอดความสำเร็จมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard โดยมีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว ในระยะแรกจะเป็นการยกระดับพื้นที่ในเขต 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ รองรับการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New Engines of Growth) โดยเน้นการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

 

โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภาคเอกชน ภาครัฐ เป็นเครือข่ายการพัฒนาบุคลากรร่วมกัน โดยในปี 61 กพร. มอบหมายให้ทั้ง 3 จังหวัดดำเนินการเฉพาะในโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวม 9,200 คน ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 17 ระยอง พร้อมเตรียมรับนโยบายของนายกรัฐมนตรี หลังตรวจเยี่ยมการพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาเขตพัฒนาพิเศษจังหวัดชลบุรี วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบด้วย

แรงงาน-2
นายจรินทร์ กล่าวต่อไปว่า สถาบันฯ ระยอง ได้บูรณาการกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยหน่วยงานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจังหวัดระยอง ทั้งสถานศึกษาของรัฐและเอกชน รวม 11 แห่ง ได้ตั้งเป้าหมายในการเตรียมกำลังแรงงานให้ได้ปีละไม่น้อยกว่า 287,000 คน สำหรับกลุ่มคนทำงานที่ต้องยกระดับทักษะฝีมือ เป้าหมายดำเนินการ 6,220 คน ในส่วนนี้ได้ร่วมกับศูนย์เทคนิคแห่งนวัตกรรมการผลิต(อมตะซิตี้) สำหรับให้บริการในเขตอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง รวมกับภาคีเครือข่าย 4 องค์กร จัดตั้ง “ศูนย์ความร่วมมือ ฝึกอบรมทักษะอุตสาหกรรมเหมราช” สำหรับฝึกอบรมในกลุ่มอุตสาหกรรมอิสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอว) และนิคมอุตสาหกรรมเหมราช(ระยอง)

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งหน่วยงานหน่วยงานต่างๆ เป็นหน่วยฝึกเฉพาะด้าน อาทิ ศูนย์ฝึกอบรมด้านโลจิสติกส์ ศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีเครื่องจักรอัตโนมัติ ศูนย์ฝึกอบรมงานเชื่อม และศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ โดยศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะด้านเหล่านี้อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเขตมาบตาพุต ในการเตรียมความพร้อมของทั้ง 3 จังหวัดนั้น ได้ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน จัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน รวมแล้ว 21 แห่ง เป็นภาครัฐ 4 แห่ง ภาคเอกชน 17 แห่ง อาทิ จังหวัดฉะเชิงเทรา มี บริษัท โตโยต้า (ประเทศไทย จำกัด) เป็นทั้งศูนย์ฝึกอบรมและศูนย์ทดสอบฯ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานยังมีแผนจะปัดฝุ่น MOU ที่มีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเน้นทำตามความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งหาตลาดแรงงานใหม่ ทั้งนี้มีเป้าหมายที่จะให้คนมีงานทำ โดยเฉพาะคนทำงานภาคทักษะ ที่ไม่สำเร็จการศึกษา ปวช. ปวส. ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนเป็นการรองรับ EEC อีกด้วย

e-book