ทริส' จัดเครดิตองค์กร ECL ที่ “BBB-” แนวโน้ม “Stable”

21 พ.ย. 2560 | 07:11 น.
"ทริส" จัดอันดับเครดิต ECL ระดับ BBB- สะท้อนประวัติการดำเนินธุรกิจของผู้บริหารในการให้บริการสินเชื่อรถยนต์เป็นที่ยอมรับ กำไรโตต่อเนื่อง ทุนแข็งแกร่ง

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ ECL ที่ระดับ “BBB-” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงประวัติการดำเนินธุรกิจของผู้บริหารของบริษัทในการให้บริการสินเชื่อรถยนต์ที่เป็นที่ยอมรับ ตลอดจนผลกำไรที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และฐานทุนที่แข็งแรง

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงจากการกระจุกตัวของเครือข่ายสาขาและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจให้บริการสินเชื่อรถยนต์ ในขณะเดียวกันส่วนแบ่งทางการตลาดในส่วนของสินเชื่อคงค้างของบริษัทก็อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายใหญ่ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทซึ่งต้องอาศัยเวลาในการพิสูจน์ความสำเร็จโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสินเชื่อของบริษัทอีกด้วย กล่าวคือ บริษัทยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความมีเสถียรภาพในการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องพร้อมทั้งรักษาผลประกอบการทางการเงินให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ

บริษัทตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่งก่อตั้งในปี 2527 โดยกลุ่มตระกูลวีระพงษ์และตระกูลตันตราภรณ์และได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2547 บริษัทมีประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใช้แล้วและสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการเต็นท์รถยนต์มือสอง (หรือสินเชื่อ Floor Plan) มาตั้งแต่ปีก่อตั้ง ณ เดือนกันยายน 2560 ตระกูลวีระพงษ์และตระกูลตันตราภรณ์ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ในสัดส่วน 32.3% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ตามด้วย Premium Financial Services Co., Ltd. (PFS) ซึ่งถือหุ้น 25.5%

วิทยุพลังงาน ทั้งนี้ PFS เป็นผู้ให้บริการด้านสินเชื่อรถยนต์และรับประกันชิ้นส่วนรถยนต์มือสองในประเทศญี่ปุ่น ความรู้ความชำนาญและการสนับสนุนจาก PFS จะช่วยปรับปรุงระบบการทำงานของบริษัทให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและมีแหล่งรายได้ค่าธรรมเนียมจากบริการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงยานยนต์มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของธุรกิจใหม่ดังกล่าวยังเป็นสิ่งที่ต้องรอการพิสูจน์ความสำเร็จต่อไป

ยอดสินเชื่อรถคงค้างของบริษัทเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 837 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2552 เป็น 1,883 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2558 คิดเป็นอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 14% สินเชื่อใหม่ประเภทหนึ่งของบริษัทคือสินเชื่อรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ (บิ๊กไบค์) นั้นเติบโตอย่างรวดเร็วซึ่งส่งผลให้ยอดสินเชื่อรถคงค้างของบริษัทเติบโต 30% หรือคิดเป็น 2,457 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 ทั้งนี้ ณ เดือนกันยายน 2560 บริษัทมียอดสินเชื่อรถคงค้างเติบโต 50% จากสิ้นปีก่อนหน้า หรือเท่ากับ 3,653 ล้านบาท

อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระเกิน 90 วัน) ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทอยู่ที่ 2.40% ณ เดือนกันยายน 2560 จากระดับ 3.42% ณ สิ้นปี 2559 คุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นมีผลบางส่วนมาจากการเติบโตอย่างมากของสินเชื่อรวมของบริษัท อีกทั้งบริษัทตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยสัดส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อค้างชำระ (เกิน 90 วัน) อยู่ที่ประมาณ 31% ณ เดือนกันยายน 2560 เทียบกับอัตราส่วนโดยเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 50% ทริสมองว่าเป็นอัตราที่ไม่มากพอที่จะทำให้บริษัทสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนในทางลบจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม ฐานทุนที่แข็งแรงของบริษัทถือว่ามีเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงดังกล่าวได้ในระดับหนึ่ง

ผลประกอบการทางการเงินของบริษัทค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น โดยบริษัทมีกำไรสุทธิปีละประมาณ 50 ล้านบาทในระหว่างปี 2556-2558 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 68 ล้านบาทในปี 2559 (ไม่รวมผลขาดทุนจากการจำหน่ายหุ้นในราคาต่ำกว่าตลาดให้แก่ PFS จำนวน 42.75 ล้านบาท) และ 103 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 หรือเพิ่มขึ้น 106% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าและมีส่วนของผู้ถือหุ้น 1,104 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ระดับ 1.81 เท่า ณ เดือนกันยายน 2560 ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าข้อกำหนดสิทธิที่ต้องไม่เกิน 3 เท่า ปัจจุบันบริษัทมีฐานทุนที่ค่อนข้างแข็งแกร่งเพียงพอต่อการขยายสินเชื่อในระยะกลาง ในขณะที่ฐานทุนที่แข็งแกร่งจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทที่เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการชำระหนี้ที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีความอ่อนไหวเป็นอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบของภาวะเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน e-book