ทย.เผยแนวทางการบริหารและพัฒนาท่าอากาศยานในสังกัด

20 พ.ย. 2560 | 15:07 น.
-20 พ.ย.60-นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน(ทย.) ได้เปิดการประชุมเพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ “แนวทางการบริหารและพัฒนาท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน” มีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปสาระสำคัญที่เป็นผลการศึกษาที่กรมท่าอากาศยาน ได้ว่าจ้างศูนย์วิจัยและบริการวิชาการด้านการขนส่งทางอากาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาดำเนินโครงการเพื่อจัดทำแนวทางการบริหารกลุ่มท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน และเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานท่าอากาศยาน และผู้ที่มีความสนใจในการร่วมพัฒนาท่าอากาศยานพาณิชย์ในสังกัดกรมท่าอากาศยาน โดยภายในงาน ยังได้จัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ “การบริหารและพัฒนาท่าอากาศยาน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ” ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย คุณชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร คุณอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และคุณหลุยส์ จูเนีย มอเซอร์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบิน ร่วมเสวนา  โดยมีผู้ที่สนใจจากหน่วยงานต่างๆเข้าร่วม เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560  ณ ห้องเซี่ยงไฮ้  โรงแรม สวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด

021474100215 S__15007885 จากผลการศึกษาศูนย์วิจัยและบริการวิชาการด้านการขนส่งทางอากาศ พบว่าการพัฒนาและการบริหารท่าอากาศยานทั่วโลกรูปแบบของหน่วยงานที่ดูแลให้การดำเนินงานท่าอากาศยาน  ทั้งที่เป็นหน่วยงานของรัฐหน่วยงานภาคเอกชนและหน่วยงาน ที่ร่วมกันดำเนินงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งมีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ รวมถึงช่วงระยะของวิวัฒนาการในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศนั้นๆ แต่ที่สำคัญไม่ว่ารูปแบบการบริหารเป็นแบบใด ท่าอากาศยานต้องให้ความสำคัญในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับท้องถิ่นเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนา  สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบัน มีหน่วยงานที่เป็นผู้ดำเนินงานท่าอากาศยานพาณิชย์ทั้งสิ้น 4 ราย ได้แก่ 1.กรมท่าอากาศยานซึ่งมีท่าอากาศยานในสังกัดทั้งสิ้น 28 แห่ง และกำลังก่อสร้างท่าฯ แห่งใหม่อีกหนึ่งแห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานเบตง 2.บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มีท่าอากาศยานฯในสังกัด 6 แห่ง 3.บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีท่าอากาศยานในสังกัด 3 แห่ง และ 4.กองทัพเรือ มีท่าอากาศยานในสังกัด 1 แห่ง โดยแต่ละหน่วยงานจะมีลักษณะเฉพาะของท่าอากาศยาน  ที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบที่แตกต่างกัน  ทั้งในเชิงของขนาดท่าอากาศยาน ปริมาณการขนส่งทางอากาศ ตำแหน่งที่ตั้งและการกระจายตัวของท่าอากาศยานในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงขีดความสามารถในการให้บริการและขีดความสามารถทางการเงิน

สำหรับท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยานทั้ง 28 แห่ง เป็นท่าอากาศยานที่มีภารกิจหลักไม่เฉพาะเพียงการให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์เท่านั้น แต่ยังเป็นระบบท่าอากาศยานให้บริการกับภารกิจของหน่วยงานราชการที่สำคัญต่อการพัฒนาท้องถิ่น เช่น ภารกิจด้านการทำฝนหลวง ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร การให้บริการกับเที่ยวบินฝึกบินซึ่งกว่า 97 เปอร์เซ็นต์ของเที่ยวบินฝึกบินทั้งประเทศนั้นทำการฝึกที่ท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน  รวมถึงการให้บริการกับเที่ยวบินทางทหารซึ่งมีความสำคัญกับความมั่นคงของประเทศ และเที่ยวบินอื่นๆที่มีความสำคัญในเชิงสังคม เช่น การขนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศเป็นต้น

จากผลการศึกษาขีดความสามารถด้านการขนส่งทางอากาศและขีดความสามารถด้านการเงิน พบว่า ท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยานมีปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสูงถึงกว่า 25% (ปี2552- 2559)  และมีท่าอากาศยานจำนวน 17 แห่งที่มีผลกำไรจากการดำเนินงาน และจากการพยากรณ์การเติบโตของปริมาณการขนส่งทางอากาศที่ใช้บริการท่าอากาศยาน ในสังกัดกรมท่าอากาศยานในระยะ 20 ปี เฉพาะท่าอากาศยานในปัจจุบันจำนวน 28 แห่ง พบว่า จะมีท่าอากาศยานที่มีความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้นจาก 11 แห่งในปัจจุบัน เป็น 25 แห่ง และยังคงมีท่าอากาศยานที่ประสบภาวะการขาดทุนเพียง 3 แห่งเท่านั้น

ถึงแม้ว่าท่าอากาศยานพาณิชย์ในสังกัดกรมท่าอากาศยานซึ่งมีฐานะเป็นท่าอากาศยานของรัฐ ไม่มีเป้าหมายในการแสวงหากำไรจากการดำเนินงาน แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่การบริหารงานจะต้องมีประสิทธิภาพ และสามารถสร้างผลกำไรในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถพึ่งพางบประมาณของหน่วยงานซึ่งเกิดจากการให้บริการผู้ใช้บริการโดยตรง (User Pay) และลดการสร้างภาระงบประมาณจากการใช้งบประมานของรัฐที่มาจากภาษีของประชาชนทุกคน (Tax Payer Pay) นอกจากนั้นจากการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ในการลดภาระต้นทุนการดำเนินงานให้กับผู้ประกอบการภายในท่าอากาศยานและผู้โดยสาร ทำให้อัตราค่าธรรมเนียมการใช้บริการท่าอากาศยานในทุกด้านมีระดับต่ำกว่าผู้ดำเนินงานท่าอากาศยานหลักอีก 2 ราย  โดยในช่วงระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมาได้สนับสนุนการขนส่งทางอากาศผ่านการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมต่างๆที่ต่ำกว่ารายอื่นตามที่อ้างถึงนั้น     คิดเป็นมูลค่ารวมถึงกว่า 7,000 ล้านบาท

และจากผลการวิเคราะห์สภาพการณ์ที่สำคัญทั้งในส่วนของปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกของกรมท่าอากาศยาน รวมถึงเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม จึงได้นำสู่การกำหนดตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ใหม่ให้กับท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน เป็น "ท่าอากาศยานแห่งการสร้างคุณค่าและโอกาส"  โดยได้กำหนดแนวทางในการบริหารท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยานออกเป็น 2 แนวทางหลักได้แก่ 1) โครงการนำร่องเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนในการบริหารและพัฒนาท่าอากาศยาน และ 2) โครงการยกระดับการบริหารท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน

สำหรับโครงการนำร่องเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนในการบริหารและพัฒนาท่าอากาศยาน  ได้จัดทำรูปแบบการบริหารออกเป็น 2 รูปแบบ จะได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือกท่าอากาศยานที่มีความเหมาะสมกับแต่ละรูปแบบ ด้วยผลการพัฒนารูปแบบที่ 1  การให้สิทธิ์การบริหารท่าอากาศยานแก่ ทอท. ซึ่งถือเป็นหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบการดำเนินงานท่าอากาศยานหลักของประเทศ 6 แห่งในภูมิภาคหลักของประเทศ แต่ยังขาดท่าอากาศยานในพื้นที่ฝั่งตะวันตกและพื้นที่ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ จึงได้กำหนดให้ท่าอากาศยานอุดรธานีและท่าอากาศยานตากเป็นท่าอากาศยานเป้าหมายที่จะให้สิทธิ์การบริหารท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่งนี้ แก่ ทอท. เพื่อให้ ทอท. มีโครงข่ายในการพัฒนาเส้นทางการบินที่ครบทุกภูมิภาคหลักของประเทศ  และรูปแบบที่ 2 การให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนาท่าอากาศยาน โดยได้กำหนดท่าอากาศยานจำนวน 4 แห่งเป็น  ท่าอากาศยานเป้าหมายสำหรับการดำเนินงานตามรูปแบบนี้ได้แก่ท่าอากาศยานลำปาง,ท่าอากาศยานเพชรบูรณ์,ท่าอากาศยานนครราชสีมา และท่าอากาศยานชุมพร  โดยรายละเอียดของรูปแบบของการให้เอกชนร่วมลงทุนนั้นขึ้นอยู่กับผลการศึกษาที่ต้องดำเนินงานตามมาตรา 25 ของการจัดทำ PPP ต่อไป

และสำหรับโครงการยกระดับการบริหารท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน   ภายใต้ตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ใหม่ "ท่าอากาศยานแห่งการสร้างคุณค่าและโอกาส" โดยการมุ่งสร้างคุณค่าทั้งในส่วนของความคุ้มค่าด้านต้นทุน การเพิ่มคุณค่าในด้านต่างๆให้กับผู้ใช้บริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญผ่านการยกระดับคุณภาพการดำเนินงาน  และมุ่งสร้างโอกาสให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นทั้งในส่วนของเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงนักสร้างนวัตกรรมและผู้ประกอบการรายใหม่ในพื้นที่ (Local Start-UP) โดยปรับเปลี่ยนฐานแนวคิดใหม่ในการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ของท่าอากาศยาน ให้เป็นพื้นที่ที่ไม่เป็นเพียงกิจกรรมการซื้อขายสินค้าที่มีคุณภาพของท้องถิ่นเท่านั้น (Market Place) แต่ยังเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ใช้เป็นช่องทาง (Chanel) ในการเพิ่มโอกาสให้เกิดคู่ความร่วมมือในการพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจอีกด้วย (Business Matching)

โดยกรมท่าอากาศยานจะทำการปฏิรูปใน 4 กระบวนการหลักของการบริหารท่าอากาศยานในสังกัดได้แก่ 1) การวางแผน ซึ่งต้องดำเนินงานกำหนดให้มีระดับของแผนงานทั้งในระยะยาวและระยะสั้นที่มีทิศทางเดียวกันและสอดคล้องกัน โดยเฉพาะท่าอากาศยาน  ทุกแห่งต้องมีแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาและการบริหารงานเป็นของตัวเองที่สะท้อนความต้องการและทิศทางการพัฒนาของพื้นที่ และสามารถสนับสนุนนโยบายที่สำคัญของกระทรวงคมนาคมและรัฐบาล 2) การจัดระบบองค์กร โดยการปฏิรูปการออกแบบโครงสร้างการบริหารท่าอากาศยานในสังกัด ให้มีความเป็นเอกภาพพร้อมกับสามารถบูรณาการการใช้ทรัพยากรและขีดความสามารถได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งการออกแบบระบบงานที่สามารถสร้างคุณค่าที่แท้จริงให้กับการดำเนินงานท่าอากาศยาน โดยการใช้ทั้งทรัพยากรของกรมท่าอากาศยาน และการบริหารเครือข่ายของกิจกรรมที่กำหนดให้หน่วยงานภายนอกเป็นผู้ร่วมดำเนินงาน (Networking & Outsourcing) ซึ่งเป้าหมายหลักของกิจกรรมการสร้างคุณค่าต้องดำเนินงานเป็นอันดับแรก ได้แก่ การพัฒนาระบบการจัดการความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย และการพัฒนาระบบการบริหารการตลาดเชิงรุกของท่าอากาศยาน 3) การขับเคลื่อนการดำเนินงาน ผ่านการบริหารงานโดยใช้แผนงานอย่างเป็นระบบ และพัฒนาและสนับสนุนทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กร ได้แก่ ทรัพยากรบุคคล ให้มีความรู้ทักษะและทัศนคติที่สอดคล้องกับภารกิจในการดำเนินงานตามหน้าที่ได้ตามเป้าหมาย และ 4) การติดตามและประเมินผล   โดยการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหาร ตามแนวคิด SMART Airport และการพัฒนาระบบการติดตามประเมินสมรรถนะการดำเนินงานท่าอากาศยาน (Airport Performance Monitoring & Benchmarking)  ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว