ทย.แจง 3 แนวทาง บริหารท่าอากาศยาน

22 พ.ย. 2560 | 14:37 น.
นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยานหรือ ทย.เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวทางบริหารและพัฒนาท่าอากาศยานในสังกัดของทย.ทั้ง 29 แห่งนับจากนี้จะแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 เรื่องหลัก ได้แก่ การเปิดพื้นที่ในบางสนามบินของทย.ให้เอกชนหรือหน่วยงานอื่นเข้ามาบริหารจัดการ เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม รวมไปถึงศึกษาการก่อสร้างสนามบินใหม่ และการดำเนินการตามแผนการพัฒนาและขยายศักยภาพของสนามบินเพื่อรองรับการเติบโตของผู้โดยสารในช่วง 10 ปีนี้ ภายใต้งบลงทุนราว 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเริ่มจากสนามบินกระบี่ ขอนแก่น ในช่วงปี 2561-2563 และเตรียมเสนองบขยายสนามบินนครศรีธรรมราช, ตรัง, สุราษฎร์ธานี เพื่อมาดำเนินการในช่วงปี 2562-2564 เป็นต้น

[caption id="attachment_144775" align="aligncenter" width="503"] 599246511 รุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยานหรือ ทย.[/caption]

แผนการเปิดพื้นที่บางสนามบินในการสร้างรายได้เพิ่มนั้นจะดำเนินการใน 3 ด้าน คือ 1.การเพิ่มการใช้ประโยชน์สำหรับสนามบินที่มีการใช้งานในเชิงพาณิชย์น้อย ซึ่งจะเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการสนามบินและพื้นที่ว่างเปล่า ตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ. PPP ) การจะพัฒนาอะไรในพื้นที่ว่างเปล่าในสนามบิน จะต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนและนักลงทุนในพื้นที่ อย่างที่สนามบินเพชรบูรณ์ ผลการศึกษาเสนอว่าน่าจะมีการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับด้านกีฬาและนันทนาการ เนื่องจากอยู่ใกล้เขาค้อ

2.การส่งมอบบางสนามบิน ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เข้ามารับบริหาร ตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้ทย. ทอท.และสถาบันการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) ไปหารือว่าสนามบินใดจะให้ทอท.บริหาร หรือส่วนไหนทย.จะดำเนินการเอง เพื่อเพิ่มศักยภาพเอวิเอชันฮับเชื่อมโยงการท่องเที่ยวซึ่งทย. จะเสนอบางสนามบินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก ส่งมอบให้ ทอท.มารับบริหาร

ทั้งนี้ ทย.ต้องรักษาสมดุลการหารายได้ของสนามบิน เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ใช้บริการ เนื่องจากค่าธรรมเนียมการใช้บริการสนามบิน (พีเอสซี) ค่าธรรมเนียมในการขึ้นลงอากาศยาน (แลนดิ้งฟี)ในสนามบินที่ทย.ดูแลจะเรียกเก็บในอัตราตํ่ากว่าสนามบินของทอท. และบางสนามบินที่แม้จะมีการให้บริการเชิงพาณิชย์น้อยแต่ก็มีการใช้งานด้านความมั่นคงทางทหาร ทางราชการ หรือแม้แต่การขึ้น-ลงในโครงการฝนหลวง หลายสนามบินก็มีการเปิดพื้นที่ให้วิสาหกิจชุมชนเข้ามาโปรโมตและขายสินค้าการจะส่งมอบบางสนามบินใน 2 ภาคนี้ให้ทอท.ดูแล น่าจะเป็นรูปแบบที่เหมาะสม

“ที่ผ่านมาทย.ก็มีนโยบายสนับสนุนนโยบายของรองนายกสมคิด ที่เน้นกระจายรายได้ไปสู่ฐานรากทั่วประเทศ ซึ่งได้ร่วมกับการท่องเที่ยวใน 3 พื้นที่ ทำโครงการทัวริสต์แอร์พอร์ต ที่เริ่มใน 3 สนามบิน คือ ระนอง, น่าน,บุรีรัมย์”

3.การเปิดให้เอกชนบริหารจัดการพื้นที่ ภายในอาคารผู้โดยสารของสนามบินอุดรธานี,อุบลราชธานี,ขอนแก่น,กระบี่โดยจะจัดกลุ่มแยกเป็นพื้นที่เพื่อเปิดให้เอกชนมาประมูล เพราะไม่อยากให้เกิดการผูกขาด เช่น พื้นที่สำหรับโอท็อป,พื้นที่สำหรับสนับสนุนการท่องเที่ยว,พื้นที่เชิงพาณิชย์

ส่วนแผนการก่อสร้างสนามบินใหม่ในไทย ผลการศึกษามองถึงความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง 2 สนามบินใหม่ คือ สนามบินพังงา เพื่อรองรับการท่องเที่ยว และสนามบินมุกดาหาร เพื่อรองรับความเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่ง ทย.จะเป็นหน่วยงานดำเนินการในเรื่องนี้ แต่รูปแบบการลงทุนจะเป็นแบบ PPP หรือรัฐบาลเป็นผู้ลงทุน เพราะเป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานและความมั่นคง คงต้องเป็นนโยบายจากรัฐบาล โดยคาดว่าปลายปี 2561 น่าจะมีความชัดเจน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,315 วันที่ 19 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว