TTCL หุ้นเติบโตมั่นคง รายได้ธุรกิจโรงไฟฟ้า 25% หนุนงานก่อสร้างใน-นอกประเทศ

19 พ.ย. 2560 | 13:37 น.
“ทีทีซีแอล” คว้าชิ้นปลามัน ขยับปากกาเซ็น MOA ต้นปีหน้ากับรัฐบาลเมียนมา เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,280 เมกะวัตต์ รัฐคะฉิ่น เริ่มก่อสร้างเฟสแรก 640 เมกะวัตต์ กลางปี 2561 เพิ่มความยั่งยืนธุรกิจ ผลตอบแทนลงทุน 25% มาร์จินสูงกว่างานก่อสร้างอีพีซี

นายกอบชัย ธนสุกาญจน์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายการเงินและบัญชี บริษัท ทีทีซีแอลฯ (TTCL) เปิดเผยภายหลังบริษัทลงนามกับรัฐบาลแห่งรัฐคะฉิ่น เมียนมา ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,280 เมกะวัตต์ คาดมูลค่าเงินลงทุน 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9.9 หมื่นล้านบาท ว่า เป็นการตอกยํ้าบริษัทเป็นผู้ให้บริการก่อสร้างงานวิศวกรรม (อีพีซี) ในระดับสากล และมีรายได้ที่มั่นคงจากการลงทุนโรงไฟฟ้าในภูมิภาคที่แนวโน้มเศรษฐกิจจะเติบโตมาก รวมทั้ง TTCL จะ เป็นหุ้นที่เติบโตในระยะยาว

คาดว่าจะลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOA) กับรัฐบาลกลางเมียนมา อย่างช้าต้นปีหน้า และใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี แบ่งเป็น 2 เฟส เฟสละ 640 เมกะวัตต์ คาดรายได้ขายไฟฟ้า ปีละ 2 หมื่นล้านบาท/ปี โดยใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด Ultra Supercritical Coal-fired Thermal Power Plant จากประเทศญี่ปุ่น ระดับอุณหภูมิเผาไหม้สูง ที่ไม่เคยใช้ในประเทศไทย แม้จะมีต้นทุนที่สูงกว่าด้วยก็ตาม

MP17-3315-A “เราจะมีความมั่นคงยิ่งขึ้น เพราะธุรกิจรับเหมาจะผันผวนล้อไปตามวงจรเศรษฐกิจ และธุรกิจการก่อสร้างโรงไฟฟ้ายังมีกำไรขั้นต้นหรือมาร์จินตํ่าเพียง 5% ขณะที่การลงทุนในโรงไฟฟ้าให้ผลตอบแทนจากการลงทุนไม่ควรตํ่ากว่า 15% บริษัทจะได้รับเงินปันผลกลับคืนมา” นายกอบชัยกล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายการเงินและบัญชี กล่าวว่า คณะกรรมการบริษัท ได้ให้นโยบาย 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2010 ว่า บริษัทจะมีรายได้จากงานก่อสร้างอีพีซีในต่างประเทศ 50% ในประเทศ 25% และรายได้จากเงินลงทุน 25% จากปัจจุบันน้อยกว่า 5% และงานก่อสร้างอยู่ที่ 95% ณ สิ้นไตรมาส 3/2560 บริษัทมีงานในมือมูลค่า 13,940 ล้านบาท เช่น งานที่กาตาร์โรงแปลงนํ้าทะเลเป็นนํ้าจืด และมาเลเซียสร้างปิโตรคอมเพล็กซ์ คาดในแต่ละปีจะรับรู้รายได้จากงานใหม่เข้ามามูลค่า 700-800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าเห็นเป็นรูปธรรมแล้ว 150 เมกะวัตต์ มีรายได้จากการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 120 เมกะวัตต์ เช่น ที่เกาะจิวชู ญี่ปุ่น 25 เมกะวัตต์ สร้างรายได้ 400-500 ล้านบาท/ปี นาน 25 ปี ยังไม่รวมโครงการที่ญี่ปุ่นที่อยู่ระหว่างการดำเนินการและเจรจาอยู่

บาร์ไลน์ฐาน “เราลงทุนในเมืองไทยแล้วก็ออกไปเวียดนามถึงตอนนี้ 18 ปีแล้ว และดูว่าต่อไปจะเป็นประเทศไหน ก็มองไปที่เมียนมาตั้งแต่ปี 2012 และมีการนำวิศวกรของเมียนมา มาฝึกที่เมืองไทย เตรียมความพร้อมลงทุน โดย TTCL เป็นบริษัทไทยแห่งแรกที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างและขายไฟฟ้าในเมียนมา” นายกอบชัยกล่าว

สำหรับการได้มาของโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,280 เมกะวัตต์ นายกอบชัยเล่าให้ฟังว่า เป็นการทำงานอย่างตรงไปตรงมา คงเห็นผลงานของบริษัทที่สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซที่ย่างกุ้ง โรงแรก 120 เมกะวัตต์ ได้เร็วมาก สามารถผลิตไฟฟ้าได้ภายใน 6 เดือนหลังเซ็นสัญญา แบ่งเป็น 40 เมกะวัตต์ 3 เฟส ส่วนโรงที่ 2 เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยไม่มีเงื่อนไขอะไรพิเศษ มีเพียงสัญญาการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เมียนมา

ในส่วนของแหล่งเงินทุน 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะมาจากการกู้ 75% และทุน 25% ขณะนี้ บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาเครื่องมือทางการเงินทั้งหมด เพื่อให้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งมีความจำเป็นต้องระดมเงินประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอาจจะนำบริษัท TTPHD บริษัทย่อยที่สิงคโปร์ เข้าตลาดหุ้น จัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เปิดทางพันธมิตรญี่ปุ่นถือหุ้น 40% ในโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขณะนี้บริษัทต้องการถือหุ้น 55-60% และแนวทางสุดท้ายคือ TTCL เพิ่มทุน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,315 วันที่ 19 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว