จี้SMEsปิดเสี่ยงค่าเงิน ฟันธง‘บาท’ผันผวนแรง กรุงศรีฯตีกรอบ32.50/ดอลล์

21 พ.ย. 2560 | 11:47 น.
นักเศรษฐศาสตร์เตือน “เอสเอ็มอี” รีบปิดความเสี่ยงค่าเงิน ประเมินแนวโน้มปีหน้าอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนหนัก จับตาแผน “ปฏิรูปภาษีสหรัฐฯ-หลายประเทศพาเหรดขึ้นดอกเบี้ย” ป่วนตลาดขณะที่เงินบาทแข็งค่าสุด 34 เดือน แตะ 32.90 บาทต่อดอลลาร์

ค่าเงินบาทวันศุกร์ที่ 17พฤศจิกายน 2560 เคลื่อนไหวในกรอบ 32.90-32.91 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าที่สุดในรอบ 34 เดือน จากปัจจัยเงินทุนไหลเข้าและความไม่ชัดเจนเรื่องแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ค่าเงินบาทเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปี 2560 เทียบประเทศคู่แข่ง ปรากฏว่าเงินบาทแข็งค่า 7.27% แข็งค่าสุดในภูมิภาค เงินวอน เกาหลีใต้อันดับ 2 แข็งค่า 7.14% เงินริงกิต มาเลเซีย แข็งค่า 5.53% ส่วนเปโซ ฟิลิปปินส์ อ่อนค่า 2.32% เงินด่อง เวียดนาม อ่อนค่า 1.5% และ เงินเยนญี่ปุ่น อ่อนค่า 1.48%

[caption id="attachment_118065" align="aligncenter" width="416"] จิติพล พฤกษาเมธานันท์ จิติพล พฤกษาเมธานันท์[/caption]

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปัจจัยวุฒิสภา สหรัฐฯจะผ่านแผนปฏิรูปภาษีตามข้อเสนอของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯหรือไม่ ยังคงกดดันเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และมีผลกระทบต่อมาถึงค่าเงินบาท

“ถ้าแผนปฏิรูปภาษีผ่าน จะทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนดีขึ้น ทำให้เงินดอลลาร์กลับไปแข็งค่า และจะเห็นเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทย แต่หากไม่ผ่านดอลลาร์จะอ่อนต่อเงินทุนจะไหลเข้าตลาดพันธบัตรมากกว่าปีนี้ และตลาดหุ้นจะคึกคัก”

24-3315-1A นอกจากนี้การดำเนินนโยบายการเงินในหลายประเทศจะปรับเพิ่มดอกเบี้ย เช่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน ซึ่งนโยบายการเงินจะเข้มงวดขึ้น ทั้งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้ทันธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) และการทยอยออกกฎหมายเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงินระยะยาวในหลายประเทศ จะเป็นปัจจัยที่สร้างความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนปีหน้า

“ทิศทางเงินบาทยังแข็งค่ายากที่จะอ่อนค่า การประกันความ เสี่ยงจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งผู้ส่งออกและนำเข้า”

นายอมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัยเศรษฐกิจและการเงินสายบริหารความเสี่ยง สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ซีไอเอ็มบีไทยยังคงประมาณการค่าเงินบาทสิ้นปีนี้ไว้ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯโดยเชื่อมั่นว่าเดือนธันวาคมตลาดจะสวิงแรงมากซึ่งจากเงินบาทที่เคลื่อนไหวล่าสุด 32.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯอาจจะแข็งค่าได้อีกเล็กน้อย โดยให้นํ้าหนักนโยบายภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ไม่เกิด

[caption id="attachment_232731" align="aligncenter" width="503"] อมรเทพ จาวะลา อมรเทพ จาวะลา[/caption]

“ไม่ว่าเงินบาทจะแข็งหรืออ่อนค่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องปิดความเสี่ยง เพราะปีหน้าเงินบาทจะผันผวนแรงกว่าปีนี้ ขณะที่ผ่านมาหลายประเทศทำคิวอีอัดฉีดเงินเริ่มเห็นความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนผ่านเงินทุนไหลเข้าออก ซึ่งดุลบัญชีเดินสะพัดมีผลต่อค่าเงินน้อยลงปีหน้าคงไม่ถึง 10%”

ส่วนปัจจัยพื้นฐานที่ต้องจับตาในเดือนธันวาคมนี้หลังจากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ถ้อยแถลงที่เฟดส่งสัญญาณยังคงยืนยันจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า 3 ครั้งจะเรียกความเชื่อมั่นกับนักลงทุนกลับมาถือดอลลาร์มากขึ้น ซึ่งอาจจะเห็นเงินทุนไหลออกบ้าง

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบัลมาร์เก็ต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงปัจจัยชี้ทิศค่าเงินบาทว่า ปีหน้าภาวะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ซึ่งมีโอกาสเห็นการนำเข้าเพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง

“เทรนด์ปีหน้าเงินบาทยังแข็งค่า แต่อาจไม่แข็งค่าเท่าปีนี้ เพราะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะลดลง โดยการนำเข้าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเห็นเศรษฐกิจไทยฟื้นและการเคลื่อนไหวของเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลล์”

ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบัลมาร์เก็ตธนาคารกรุงศรีอยุธยา แนะนำ ไม่ว่าธุรกิจนำเข้าหรือส่งออก หรือผู้ประกอบการขนาดกลาง/เอสเอ็มอีควรประกันความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เหตุเพราะความเสี่ยงในตลาดโลกมีหลายมิติ ดังนั้นผู้ประกอบการควรทำ Hedging สมํ่าเสมอ เพราะต้องตระหนักในแนวทางทำธุรกิจเป็นหลักไม่ใช่ค้าเงิน

อย่างไรก็ตามช่วงที่เหลือของปีนี้ในอีก 6 สัปดาห์ข้างหน้า เนื่องจากเข้าใกล้เทศกาลวันหยุดและเดือนธันวาคมปริมาณการทำธุรกรรมจะเบาบางเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.80-33.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,315 วันที่ 19 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว