ธปท.จ่อเปิด QRPayment บริการจ่ายบิล 5 บาท

21 พ.ย. 2560 | 11:46 น.
ธปท.จ่อเปิดคิวอาร์โค้ดเฟส 2 “บัตรเครดิต-ระบบเรียกชำระเงิน” พร้อมต่อยอดจ่ายบิลผ่านพร้อมเพย์ ค่าธรรมเนียมสุดถูกแค่ 5 บาท ผ่าน 10 ธนาคาร ระบุยอดธุรกรรมผ่านพร้อมเพย์ทะลุ 2 แสนล้านบาท ลงทะเบียน 36 ล้านเลขหมาย ยันคนยังนิยมโอน ORFT ขอรอดูก่อนประเมิน

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.อยู่ระหว่างการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) สามารถทดสอบการชำระเงินผ่าน QR Code Payment บนบัตรเครดิตได้ในเฟสถัดไป รวมถึงบริการระบบเรียกชำระเงิน (Request to pay) ซึ่งน่าจะได้เห็นความชัดเจนภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2561
ทั้งนี้การทดสอบดังกล่าว ธนาคารไม่จำเป็นต้องเข้าศูนย์ทดสอบนวัตกรรมทางการเงิน (Regulatory Sandbox) อีก จะให้สมาคมธนาคารไทย (TBA) เป็นตัวกลางทดสอบระบบระหว่างกัน แต่ธนาคารจะต้องรายงานผลทดสอบให้ธปท.รับทราบ

[caption id="attachment_232730" align="aligncenter" width="503"] สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา[/caption]

ส่วนสถาบันการเงินอีก 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย ธนชาต และนอนแบงก์ 1 แห่ง ได้แก่ บริษัท บัตรกรุงไทยฯ หรือ เคทีซี ที่ยังไม่ได้รับการอนุมัตินั้น คาดว่าภายในเร็วๆ นี้จะสามารถออกจาก Sandbox ได้เช่นกัน

ขณะเดียวกันปัจจุบันธปท.ได้ต่อยอดบนแพลตฟอร์มพร้อมเพย์ โดยให้บริการชำระบิลข้ามธนาคาร (Cross-Bank Bill Payment) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ออกบิล (Biller) มีช่องทางในการรับชำระบิลแบบข้ามธนาคารได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชีกับทุกธนาคาร และลูกค้าสามารถมีช่องทางชำระบิลได้มากขึ้น และค่าธรรมเนียมถูกลง เช่น ชำระบิลผ่านอิเล็กทรอนิกส์ค่าธรรมเนียมไม่เกิน 5 บาท และหากชำระผ่านสาขาค่าธรรมเนียมไม่เกิน 20 บาท โดยมีธนาคารร่วมโครงการ 10 แห่ง

สำหรับข้อมูลการใช้บริการรับโอนเงินรูปแบบใหม่ (พร้อมเพย์) ล่าสุดมีผู้ลงทะเบียนแล้วจำนวน 36 ล้านเลขหมาย ประมาณ 70% ลงทะเบียนผ่านบัตรเลขประจำตัวประชาชน และ 30% ลงทะเบียนผ่านหมายเลขโทรศัพท์ โดยเป็นนิติบุคคลจำนวน 5 หมื่นราย ทั้งนี้ จำนวนปริมาณธุรกรรมสะสมมูลค่า 2 แสนล้านบาท โดยยอดเฉลี่ยการรับโอนเงินอยู่ตํ่ากว่า 5,000 บาทต่อรายการ

อย่างไรก็ตามแนวโน้มการโอนเงินรายย่อยระหว่างธนาคาร (On-line Retail Funds Transfer:ORFT) จะเห็นว่าอยู่ในปริมาณทรงตัวไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าการรับโอนเงินผ่านพร้อมเพย์จะมีอัตราเร่งของการเติบโตค่อนข้างสูง เนื่องจากพร้อมเพย์เพิ่งเริ่มต้นได้ประมาณ 1ปีประกอบกับลูกค้าธุรกิจ-นิติบุคคลบางรายยังคงนิยมการโอนเงินผ่านระบบ ORFT อยู่ จึงทำให้ปริมาณการเติบโตไม่ได้ลดลง

ทั้งนี้ ธปท.ยังคงต้องติดตามการเติบโตของการใช้พร้อมเพย์อย่างใกล้ชิด หากขยายตัวมากขึ้นมีโอกาสที่การโอนเงินผ่าน ORFT จะลดลงได้ ส่วนการโอนผ่านบาทเน็ต จะเป็นการโอนของคนละกลุ่มเป้าหมาย เนื่อง จากการโอนผ่านบาทเน็ตจะเป็นมูลค่าค่อนข้างสูง และเป็นธุรกรรมสำหรับลูกค้ารายใหญ่จึงไม่มีผลกระทบจากบริการพร้อมเพย์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,315 วันที่ 19 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว