มอเตอร์เวย์ท่าเรือแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี เส้นทางยุทธศาสตร์แนวศก.เหนือ-ใต้

23 พ.ย. 2560 | 04:51 น.
มอเตอร์เวย์ท่าเรือแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี เส้นทางนี้จัดเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายชลบุรี-หนองคาย ตามแผนกลยุทธ์การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ตามแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ที่มีความสำคัญสูงในการรองรับการเดินทางของประชาชนและภาคการขนส่งสินค้า เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และไปสิ้นสุดบริเวณทางหลวงหมายเลข 359 รวมระยะทางประมาณ 125 กม. ครอบคลุมพื้นที่ศึกษาจำนวน 3 จังหวัด 10 อำเภอ ประกอบด้วย จ.ชลบุรี ได้แก่ อ.บางละมุง อ.ศรีราชา อ.หนองใหญ่ อ.บ้านบึง อ.บ่อทอง และ อ.เกาะจันทร์ จ.ฉะเชิงเทรา ได้แก่ อ.แปลงยาว อ.สนามชัยเขต และ อ.พนมสารคาม และ จ. ปราจีนบุรี ได้แก่ อ.ศรีมหาโพธิ

ขณะนี้กรมทางหลวงอยู่ระหว่างการเร่งเปิดรับฟังความเห็นประชาชนต่อโครงการลงทุนก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) สายชลบุรี-หนองคาย ตอน ชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง)-ปราจีนบุรี (ทางหลวงหมายเลข 359) เพื่อนำเสนอผลสรุปการศึกษาความเหมาะสมทั้งเศรษฐกิจ วิศวกรรม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมาโดยได้เปิดรับฟังความเห็นทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ปราจีนบุรี

TP12-3315-AA โดยในแผนการก่อสร้างแบ่งเป็น 2 ตอน ดังนี้ ตอน 1 ชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง)- ทางหลวงหมายเลข 3340 ระยะทางประมาณ 63.4 กิโลเมตร ตอน 2 ทางหลวงหมายเลข 3340-ปราจีนบุรี (ทล.359) ระยะทางประมาณ 60.6 กิโลเมตร ในส่วนรูปแบบการก่อสร้างโครงการ ประกอบด้วย 1.รูปแบบทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร 2.รูปแบบทางหลวงขนาด 6 ช่องจราจร 3.รูปแบบทางหลวงขนาด 8 ช่องจราจร 4.รูปแบบทางหลวงยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ช่วง กม.17+900 ถึง กม.29+100) โดยมีด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง จำนวน 6 แห่ง อยู่บริเวณทางแยกต่างระดับ ประกอบด้วย ด่านศรีราชา ด่านบ่อวิน ด่านหนองใหญ่ ด่านบ่อทอง ด่านสนามชัยเขต และด่านศรีมหาโพธิ

เมกะโปรเจ็กต์โครงการนี้พบว่าการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจของโครงการมีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) เท่ากับ 13.4% มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 11,902 ล้านบาท และค่าอัตราส่วนระหว่างมูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์ต่อค่าใช้จ่าย (B/C Ratio) เท่ากับ 1.2 มีมูลค่าลงทุนโครงการประมาณ 70,854 ล้านบาท (ประมาณราคา ณ ปี 2560)

ทั้งนี้เมื่อการพัฒนาเส้นทางนี้แล้วเสร็จจะช่วยให้การเดินทางและขนส่งสินค้าตามแนวเส้นทางมีความสะดวก รวดเร็ว ลดอุบัติเหตุ และช่วยบรรเทาปัญหาจราจรคับคั่งบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ช่วงทางแยกต่างระดับหนองขาม -ท่าเรือแหลมฉบัง และในแนวทางหลวงหมายเลข 3 (ถ.สุขุมวิท) ช่วงทางแยกต่างระดับแหลมฉบัง-คลองบางละมุง ซึ่งจะมีปริมาณจราจรเพิ่มมากขึ้นตามการเจริญเติบโตของประเทศในอนาคต อีกทั้งยังเป็นเส้นทางที่รองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเชื่อมต่อการค้าการลงทุนและการเดินทางระหว่างประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตอีกด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,315 วันที่ 19 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว