MilkPlus รุกสู่แฟรนไชส์ครั้งแรกเป้า3ปี100แห่ง

24 พ.ย. 2560 | 01:55 น.
กฤตย์ เธียรนุกุล ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท เพรสทิจ กิฟท์ แอนด์ พรีเมียม จำกัด ผู้บริหารร้านนมและขนมปัง “Milk Plus” ถือเป็นเจเนอเรชัน 2 เข้ามาสืบสานตามรอยพ่อ (เกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย) โดยกฤตย์ มีพื้นฐานการศึกษาจาก อัสสัมชัญก่อนย้ายไปเรียนที่เตรียมอุดมศึกษา จากนั้นไปต่อที่คณะนิเทศศาสตร์หลักสูตรอินเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลือกเรียนนิเทศศาสตร์ สาขาอินเตอร์สายภาพยนตร์ ด้วยใจตอนนั้นอยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์

[caption id="attachment_232468" align="aligncenter" width="335"] กฤตย์ เธียรนุกุล ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท เพรสทิจ กิฟท์ แอนด์ พรีเมียม จำกัด กฤตย์ เธียรนุกุล ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท เพรสทิจ กิฟท์ แอนด์ พรีเมียม จำกัด[/caption]

เมื่อจบปริญญาตรีก็เกิดแรงบันดาลใจใหม่อีกครั้ง หลังจากที่ย้อนกลับไปมองว่า ร้าน “Milk Plus” เกิดขึ้นมาในปี 2539 มีสาขาแรกที่สีลม เกิดขึ้นในยุคไอเอ็มเอฟ โดยมีพ่อจุดประกาย ที่เห็นว่ายุคนั้นมีแต่อาหารแนวฟาสต์ฟูด เกิดขึ้นมากมาย ไม่มีแบรนด์ไทย อีกทั้งอยากส่งเสริมให้เด็กไทยดื่มนม พอดีกับที่ได้เห็นรูปภาพเก่าๆที่พ่อนั่งให้สื่อสัมภาษณ์ธุรกิจนมในร้าน ยิ่งตอกยํ้าให้เห็นถึงความตั้งใจที่พ่อในฐานะผู้ก่อตั้งมีความมุ่งมั่นต่อธุรกิจนี้ อีกทั้งเมื่อครั้งเป็นเด็กก็ติดสอย ห้อยตามไปเปิดสาขา “Milk Plus” แห่งใหม่ ทำให้ทุกอย่างได้ซึมซับมาตั้งแต่เด็ก จนเป็นสาเหตุให้อยากหันมาสานต่อตามรอยพ่อ

“กฤตย์” เข้ามามีบทบาทด้วยการเริ่มต้นเป็นลูกจ้างก่อน เพื่อเรียนรู้งานหน้าร้าน แสดงบทบาทให้พนักงานเห็นว่า เป็นผู้นำได้ แก้ปัญหาได้ จนถึงขณะนี้เข้ามาบริหารได้ 3 ปีเต็มแล้ว โดยมีพ่อเป็นแบบอย่างเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ความคิด การมองไปข้างหน้า รวมถึงการยึดหลักบริหารธุรกิจ ที่นึกถึงประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นสำคัญ เพราะนมเป็นเรื่องของสุขภาพ คัดสรรวัตถุดิบ “นม” จากฟาร์มจิตรลดามาอย่างต่อเนื่อง และส่วนหนึ่ง “Milk Plus” ก็อยากสืบทอดเจตนารมณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ก่อตั้งฟาร์มจิตรลดาขึ้นมาก็เพื่อให้คนไทยได้ดื่มนม

TP13-3316-4A ++ความต่างจากยุคพ่อสู่ลูก
“กฤตย์” เล่าว่าถ้าย้อนกลับไปที่ร้าน “Milk Plus” ในยุคแรกจะเน้นที่เครื่องดื่ม “นม” เป็นหลัก ก็เข้ามาเพิ่มประเภทเครื่องดื่มให้มีความหลากหลายมากขึ้น แต่ยังคงภาพลักษณ์ของความคลาสสิกอยู่ โดยเพิ่มหมวดกาแฟ นมกล้วย ขนมปังไส้ต่างๆเข้ามา โดยเฉพาะเมื่อต้นปีนี้เพิ่งเปิดตัวขนมปังกรอบนอกนุ่มใน BUN BUN ออกมาสู่ตลาด จนขณะนี้มีขนมปังแบบแผ่น 12 ไส้และขนมปัง BUN BUN 15 ไส้ รวมทั้งสิ้น 27 ไส้ ให้ลูกค้าเลือกสรรได้ตามใจชอบ โดยกลุ่มเป้าหมายมีตั้งแต่อายุ 14 ปีขึ้นไปจนถึง 50 ปี มีทั้งผู้สูงอายุที่ต้องการดูแลสุขภาพตัวเองและพาลูกหลานเดินเข้ามาในร้าน โดยราคาขายกลุ่มเครื่องดื่มมีตั้งแต่ 45-110 บาทต่อแก้ว และกลุ่มขนมปังราคาตั้งแต่ 30-60 บาทต่อชิ้น

นอกจากนี้เพิ่งเริ่มรีแบรนด์ร้านและโลโก “Milk Plus” ใหม่ รวมถึงการสร้าง theme เพื่อให้แบรนด์กลับมาดูทันสมัยมากขึ้น โดยยังยึดคอนเซ็ปต์ว่าต้องขายนมและขนมปัง ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ที่สาขาสีลม มีการรีแบรนด์ไปแล้ว

TP13-3315-A ++แข่งยากขึ้นเลียนแบบเยอะ
ด้านการแข่งขัน “กฤตย์” มองว่านับวันมีความยากมากขึ้น เพราะแข่งขันกันสูง เนื่องจากมีการลอกเลียนแบบเกิดขึ้นมาก จึงต้องสู้กันด้วยแบรนด์ และคุณภาพสินค้าที่สมํ่าเสมอ รวมถึงการให้บริการ ซึ่งในเจเนอเรชันแรกก็เกิดกระแส คนนิยมดื่มนม ทำให้เกิดนมชนิดต่างๆผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ในครั้งนั้น “Milk Plus” ก็ยังยืนอยู่ได้ ด้วยคุณภาพสินค้าที่ไม่ได้ลดลงทำให้ครองใจผู้บริโภคต่อเนื่องมา โดยมีช่องทางจำหน่าย ตั้งแต่ขายที่หน้าร้านมี 3 สาขา ที่สยามสแควร์ ปากซอยสีลม 19 ห้างมาบุญครอง และภายในปีนี้จะเปิดเพิ่มที่จามจุรีสแควร์ รวม 4 สาขา และขายผ่านเฟซบุ๊ก milkplusthailand และช่องทางไลน์:@ milkplusthailand รวมถึงการไปออกบูธขายตามที่ต่างๆ ที่น่าสนใจในช่วงระยะสั้น ๆ

TP13-3316-6A ++เปิดแฟรนไชส์ ครั้งแรก
ส่วนเป้าหมายในอนาคต “กฤตย์” บอกว่า มีแผนขยายธุรกิจที่ออกมาในรูปแฟรนไชส์ จะเริ่มในปี 2561 เป็นต้นไป (ดูตาราง) ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องราคา จะชัดเจนภายในเดือนธันวาคมปีนี้ โดยคุณสมบัติเบื้องต้น จะต้องมีสถานที่ที่ตรงกับเป้าหมาย เช่น อยู่ใกล้โรงเรียน ใกล้ที่สอนพิเศษ หรือโซนที่มีมหา วิทยาลัย เป็นศูนย์รวมของเหล่าวัยรุ่น รวมถึงคู่ค้า จะต้องมีอุดมการณ์เดียวกัน เมื่อคู่ค้าพร้อมก็จะส่งคนไปสำรวจตลาดด้วยอีกทาง ทั้งนี้การรุกไปสู่แฟรนไชส์นั้น ต้องการสานต่อแนวคิดของพ่อให้สำเร็จด้วย

TP13-3315-1A เมื่อถามว่ามีกุญแจดอกสำคัญอะไรที่เดินไปสู่ความสำเร็จในการทำธุรกิจ “กฤตย์” บอกด้วยแววตามุ่งมั่นว่า ประการแรก สิ่งที่ทำต้องมีความแตกต่างก่อน ประการที่ 2 จะต้องมีความรวดเร็วในการพัฒนาสินค้า เนื่องจากในยุคสมัยนี้ไม่ ใช่ว่า “ปลาใหญ่...กินปลาเล็ก” แต่เป็น “ปลาเร็ว...กินปลาช้า” มากกว่า ดังนั้นเมื่อคิดแล้วต้องรีบตัดสินใจทำให้เร็วและให้แตกต่างไปจากคนอื่น เพราะจากประสบการณ์ถ้าไปทำอะไรตามหลังคนอื่นก็ต้องเผชิญกับความพ่ายแพ้ในที่สุด

TP13-3316-5A สุดท้ายสิ่งที่ “กฤตย์” อยากฝากกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรุ่นน้องคือ จะต้องกล้าทำให้สินค้าเกิดความแตกต่าง เมื่อคิดแล้วต้องทำทันที กล้าลองผิดลองถูกอย่าไปกลัวล้ม เพราะการล้ม มันคือประสบการณ์ แต่ถ้าล้มไปแล้วให้รีบลุกขึ้นมา เหมือนที่ได้ลองผิด ลองถูกจากการทำขนมปังไส้ต่างๆ ออกมา มีทั้งคนชอบและไม่ชอบบางไส้ แต่เราก็จะเรียนรู้จากตรงนี้แล้วนำไปปรับใช้ ไปพัฒนาให้ดีขึ้น!

[caption id="attachment_234789" align="aligncenter" width="335"] กฤตย์ เธียรนุกุล กฤตย์ เธียรนุกุล[/caption]

สัมภาษณ์โดย : งามตา สืบเชื้อวงค์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ วงศ์ปรากฏ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,315 วันที่ 19 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว