รู้ทัน-ป้องกัน-เสริมสร้างความปลอดภัย ให้ภาคเอกชนไทยในจีน

20 พ.ย. 2560 | 23:15 น.
TP10-3315-2B การทำธุรกิจค้าขายและการลงทุนระหว่างประเทศ ถือเป็นอีกหนทางหนึ่งที่สามารถช่วยขยายตลาดให้แก่ผู้ประกอบการภาคเอกชนไทยได้ แต่การทำธุรกิจค้าขายและการลงทุนระหว่างประเทศนั้น อาจทำให้ผู้ประกอบการต้องพบเจอกับอุปสรรคระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อนมากกว่าสิ่งที่เจอจากตลาดภายในประเทศ เนื่องด้วยความไม่คุ้นเคยกับระบบกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ วิธีการดำเนินธุรกิจ ภาษา และวัฒนธรรมระหว่างประเทศ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวศึกษาข้อมูล เพื่อรับมือกับปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงเรียนรู้วิธีการป้องกันปัญหาเหล่านั้น เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยให้แก่ธุรกิจของตนเอง

ปัจจุบัน การเติบโตแบบก้าว กระโดดของเศรษฐกิจจีนดึงดูดให้นักธุรกิจไทยเข้าไปติดต่อธุรกิจกับภาคเอกชนจีนมากขึ้น แต่ในหลายครั้ง การทำธุรกิจส่งออก-นำเข้ากับจีนก็อาจมีอุปสรรคเกิดขึ้น ซึ่ง สถานกงสุลใหญ่ของไทยในจีน ได้รวบรวมข้อมูลและปัญหามาจากหลากหลายกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการไทย มาแจ้งเตือนผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าไปลงทุนในจีน โดยสรุป ดังนี้

1. ปัญหาโดนฉ้อโกงและโดนโจรกรรมทางธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจประสบปัญหาจากการถูกมิจฉาชีพสวมรอยเป็นคู่ค้าชาวจีน ใช้จดหมายอิเล็ก ทรอนิกส์ (E-mail) และสื่ออิเล็ก ทรอนิกส์ออนไลน์ ซึ่งใกล้เคียงกับ E-mail ของคู่ค้าชาวจีนมาติดต่อประหนึ่งกับเป็นคู่ค้าเอง และให้เลขบัญชีของมิจฉาชีพแทนเลขบัญชีของคู่ค้าชาวจีน โดยผู้ประ กอบการไทยส่วนใหญ่ไม่ได้สังเกตเห็นและไม่ได้ตรวจสอบตัวตนและเลขบัญชีของคู่ค้าอีกครั้งก่อน จนเมื่อไม่ได้รับสินค้าแล้วจึงตรวจสอบพบว่า ได้โอนเงินไปยังบัญชีธนาคารที่ไม่ใช่ของคู่ค้า

TP10-3315-1B 2. ปัญหาถูกคู่ค้าซึ่งเป็นพ่อค้าคนกลางในการจัดซื้อสินค้าจากจีนส่งไปให้ที่ไทย ไม่ชำระเงินค่าสินค้าแก่ผู้ผลิตชาวจีน ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยที่ใช้บริการพ่อค้าคนกลางชาวจีน ถูกติดตามทวงหนี้ในขณะเดินทางไปทำธุรกิจในจีน ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่ประสบปัญหานี้ ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ประกอบธุรกิจสั่งซื้อสินค้าจากจีนเข้ามาขายในไทย

3. ปัญหาถูกคู่ค้าธุรกิจหลอกลวงไม่ส่งสินค้าตามที่ได้ตกลงกัน หรือสินค้าไม่มีคุณภาพตามที่เจรจาไว้ ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องการส่งสินค้าคืน หรือเรียกร้องค่าเสียหายจากคู่ค้าธุรกิจชาวจีน

อย่างไรก็ดี เหตุของปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจในลักษณะนอกรูปแบบหรือไม่เป็นทางการ โดยในหลายกรณีเกิดจากคู่ค้าที่รู้จักกันมาก่อน จึงไม่มีการทำสัญญาซื้อขายที่ระบุขั้นตอนการทำงานอย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มจนสิ้นสุด เช่น ไม่ระบุมาตรฐานคุณภาพสินค้า ไม่ระบุระยะเวลาการทำงาน การส่งสินค้า และการ รับประกันสินค้า รวมทั้งไม่ระบุวิธีการชำระเงิน ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ก็ไม่สามารถแจ้งความดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้

ดังนั้น การป้องกันปัญหาที่ดีที่สุดคือการทำธุรกิจโดยมีเอกสารระบุขั้นตอนการทำงานอย่างชัดเจน รวมทั้งมีสัญญาซื้อขายเป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากนี้ การทำธุรกรรมทางการเงินแบบออนไลน์ ผู้ประกอบการไทยควรตรวจสอบตัวตนและหมายเลขบัญชีผู้รับอย่างรอบคอบ ใช้การชำระเงินผ่านสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือและสามารถตรวจสอบผู้รับเงินได้ โดยอาจแบ่งชำระเป็นงวดๆ เมื่อได้รับสินค้าและบริการแล้ว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากเกิดปัญหาในการทำธุรกิจกับคู่ค้าชาวจีนขึ้น ผู้ประกอบการไทยสามารถแจ้งความกับตำรวจไทยในทันทีเพื่อประสานขอความร่วมมือกับตำรวจจีน ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างตำรวจไทยและตำรวจจีนต่อไป

บาร์ไลน์ฐาน ทั้งนี้ ข้อมูลสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย ช่วงเดือนมกราคม - กันยายน 2560 ระบุว่า จีนเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 15.9% ของการค้าระหว่างประเทศของไทยทั้งหมด และมีมูลค่าการส่งออกนำเข้าสินค้าระหว่างไทยกับจีน คิดเป็นมูลค่ารวม 1,853,074 ล้านบาท สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปจีน ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ส่วนสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากจีน ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ พลาสติก ยานยนต์และอุปกรณ์ประกอบ เป็นต้น

พบกับอัพเดตความเคลื่อน ไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,315 วันที่ 19 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว