กรมสุขภาพจิตแนะ“เอิ๊กอ๊าก”บ่อย คลายเครียดในโลกยุคดิจิตอล

17 พ.ย. 2560 | 08:23 น.
กรมสุขภาพจิตแนะประชาชนทุกวัยให้หัวเราะทุกวัน สร้างสุขภาพจิตดีให้ตัวเองและสร้างบรรยากาศรอบข้างมีชีวิตชีวา วงการแพทย์ค้นพบว่าการหัวเราะมีคุณค่า ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย คลายเครียด คลายกังวลโดยเฉพาะจากปัญหาโฟโมในโลกดิจิตอล   แถมยังเพิ่มเสน่ห์ให้ตัวเอง มีเพื่อนมาก

-17 พ.ย.60-นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์  อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า ที่มาของการเกิดปัญหาสุขภาพจิตหรือการเจ็บป่วยทางจิตใจ  ล้วนมีพื้นฐานต้นตอมาจากการสะสมความเครียด  ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มมากขึ้น ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจและสังคม  โดยเฉพาะจากกระแสของโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้เกิดความกลัวว่าจะตกยุค หรือที่รู้จักกันว่า โฟโม (Fear of Missing Out : FOMO ) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดกับผู้ใช้โชเชียลมีเดีย ที่กลัวว่าจะพลาดจากข้อมูลข่าวสาร  กดดันตัวเองให้ต้องติดตามคนอื่นหรือเวปไซต์ต่างๆ และแชร์ทุกๆ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตโดยทันที เกิดความเครียดตามมาโดยไม่รู้ตัว ทั้งจากการที่ต้องติดตามข่าวสารตลอดเวลา หรือต้องทำกิจกรรมสองอย่างในเวลาเดียวกัน เช่น ขณะเรียนหรือทำงานก็ต้องดูหน้าจอมือถือไปด้วย เป็นต้น

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วิธีการคลายเครียด และสร้างสุขภาพจิตที่ดีมีหลายวิธี  วิธีที่ใกล้ตัวที่สุดและได้รับการพิสูจน์ทางการแพทย์มาแล้วว่าได้ผลดีคือการยิ้มหรือหัวเราะ ซึ่งเป็นสิ่งติดตัวมาตามธรรมชาติไม่ต้องลงทุนซื้อหา  จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ ช่วยลดความเจ็บปวดทางร่างกาย ลดอาการปวดศีรษะ เนื่องจากภายหลังจากการหัวเราะจะทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว สมองหลั่งสารแห่งความสุขหรือเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ร่างกายจะรู้สึกสบายขึ้น

“ประชาชนทุกวัย ควรหัวเราะทุกวันและหัวเราะให้มากขึ้น จะเป็นการส่งเสริมให้มีสุขภาพจิตดีขึ้นและมีสุขภาพกายที่ดีตามมาด้วย โดยเฉพาะการป้องกันโรคที่เกิดจากวิถีชีวิตหรือที่เรียกว่าโรคเอ็นซีดี (Non Communicable Diseases : NCDs )  เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น รวมทั้งยังป้องกันการมีพฤติกรรมคลายเครียดที่ไม่ถูกวิธีโดยเฉพาะการพึ่งพาสารเสพติดต่างๆ คนที่มีอารมณ์ดีหัวเราะง่ายจะเป็นคนที่มีเสน่ห์ ใครๆก็อยากคบหาและอยู่ใกล้ จึงมีเพื่อนมาก” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

วิทยุพลังงาน-9 ทางด้านนายแพทย์ธิติพันธ์ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า เทคนิคที่จะทำให้เราเป็นคนหัวเราะง่ายขึ้น มีคำแนะนำ 5 ประการ ดังนี้ 1. ต้องรู้จักคบเพื่อนหรืออยู่ใกล้ชิดกับคนที่มีอารมณ์ขัน หรือคนที่ชอบหัวเราะบ่อยๆ เนื่องจากคนเหล่านี้จะมีอารมณ์แจ่มใส มองโลกในแง่ดี  มักจะมีเรื่องขำขันหรือมุมมองดีๆ มาเล่าให้ฟัง ทำให้เราพลอยได้หัวเราะครื้นเครงตามไปด้วย เมื่อคบกันไปนานๆ เราก็จะซึมซับความมีอารมณ์ขันไว้ในตัว ทำให้กลายเป็นคนอารมณ์ดี หัวเราะง่ายขึ้น   2. เมื่อหัวเราะ ควรหัวเราะให้เต็มเสียงและเต็มที่ อย่าฝืนเอาไว้ แต่ต้องถูกกาละเทศะด้วย จะทำให้เกิดความรู้สึกเบาสบายตัว และสบายใจเป็นอย่างมาก แต่หากหัวเราะแบบฝืน แบบกลั้นไว้ จะเป็นการเกร็งกล้ามเนื้อกระบังลม จะทำให้รู้สึกเจ็บและไม่สุขสบายแทน

3.ควรสะสมเรื่องขำขัน การ์ตูน หรือจดบันทึกเรื่องที่ทำให้ขบขันหัวเราะไว้ เมื่อมีโอกาสย้อนมาอ่านอีก ก็จะช่วยให้เราะหัวเราะได้ง่ายขึ้น หรืออาจสะสมสติ๊กเกอร์ที่มีข้อความหรือคำโดนๆ ที่ตลกขบขัน ติดไว้ตามที่ต่างๆ เช่น  ที่ประตูห้อง ฝาห้อง เพดานบ้าน ฝาตู้เสื้อผ้า เป็นต้น  เมื่อเห็นจะได้เกิดความรู้สึกขบขันและผ่อนคลาย  4. ควรรู้จักใช้เสียงหัวเราะให้เป็นประโยชน์ เช่น ในครอบครัว พ่อแม่ควรสอนลูกให้มีกิจกรรมที่สร้างเสียงหัวเราะกันเป็นประจำ โดยการหยอกล้อกัน จะเพิ่มความสนิทสนมใกล้ชิดกันมากขึ้น หรือผู้ที่มีอาชีพพนักงานขาย ถ้าสามารถทำให้ผู้ซื้อยิ้มหรือหัวเราะได้ จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า เป็นหนทางนำไปสู่การสร้างความไว้วางใจ และความรู้สึกอยากซื้อสินค้ามากขึ้น

ประการสุดท้าย ควรรู้จักการยิ้มให้กับตนเองหรือหัวเราะในสถานการณ์ที่คับขันให้ได้อย่างเหมาะสม โดยอารมณ์ขันจะเป็นส่วนช่วยให้เราผ่อนคลายและคลี่คลายสถานการณ์ที่ตึงเตรียดช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา ใช้ได้ทั้งในการประชุมที่เคร่งเครียด หรือก่อนการแข่งขันกีฬานัดสำคัญ  ทำให้ทุกคนรู้สึกสบาย เกิดความพร้อมที่จะแก้ไขหรือต่อสู้ปัญหาด้วยจิตใจที่สงบและเยือกเย็นมากขึ้น e-book