เรื่องเล่าจากยอดดอย ... สู่ ‘อาหารจากแผ่นดิน’ ตอน 2

26 พ.ย. 2560 | 03:10 น.
1007

ฐานทรรศนาจร |
เสียงนกตัวเล็ก ๆ ร้อง จิ๊บ จิ๊บ บริเวณต้นไม้ริมระเบียง ที่เรียงไปตามแนวเขาอย่างเป็นระเบียบของบ้านพัก สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ พร้อม ๆ กับสีเหลืองอ่อน ที่เริ่มจับขอบฟ้าทางทิศตะวันออก อุณหภูมิสิบกว่าองศา หากอยู่ในกรุงเทพฯ คงรู้สึกอยากซุกตัวในผ้าห่มให้ตัวอุ่นอีกสักหน่อย แต่สำหรับที่นี่ ‘สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์’ ความสวยงามของธรรมชาติกำลังเรียกร้องเรา ด้วยบทเพลงแห่งสายลม กระตุ้นต่อมความสนใจด้วยพรรณไม้ดอกหลากสีสัน ไม่รวมข้าวต้มร้อน ๆ และอะโวคาโดลูกโต เพียงมองออกไปนอกกระจก หัวสมองและร่างกายก็พร้อมกระโจนลุกจากเตียงอาบน้ำแต่งตัว เพื่อไปสูดอากาศหอม ๆ ให้เต็มปอด แทบรอไม่ไหว ที่เขาบอกกันว่า อยู่อินทนนท์ 1 วัน อายุยืนขึ้น 1 ปี เห็นจะจริงเสียแล้ว


MP28-3315-9A

สายฝนอ่อน ๆ ที่โปรยลงมาแต่รุ่งสาง ทำให้ดินสีน้ำตาลเกือบดำเนียนละเอียดชุ่มฉ่ำ และพร้อมกันเกาะตามจุดต่าง ๆ ของรองเท้า ลามมาจนถึงกางเกงตัวเก่ง แต่ฉากของเนินเขาที่เต็มไปด้วยไร่ชาเรียงรายเป็นแนวยาวเบื้องหน้า ทำให้ขาทั้งสองข้างมุ่งไต่ระดับขึ้นไปให้สูง พอจะโอบกอดทุกภาพได้จากสายตา แต่เรื่องราวเล่าขานก่อนจะเป็นแปลงชาที่มีชาวเขาแบกกระบุงเก็บยอดชาแต่ละยอด ตามที่ปรากฎให้เห็นในภาพถ่ายนั้น ผ่านเรื่องราวการต่อสู้และไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด และเริ่มต้นมาแล้วเมื่อ 30 ปีก่อน

 

[caption id="attachment_232142" align="aligncenter" width="255"] ลุงตื่อ แซ่ลี ลุงตื่อ แซ่ลี[/caption]

ลุงตื่อ แซ่ลี ชาวเขาซึ่งเคยปลูกฝิ่นเพื่อเลี้ยงชีพบนดอยสูงเมื่อหลายสิบปีก่อน เล่าว่า แต่ก่อนนั้น เขาปลูกฝิ่นบนพื้นที่ 20-30 ไร่ ขายฝิ่นได้กิโลกรัมละพันกว่าบาท ตอนนั้นไม่มีความรู้การปลูกฝิ่น จึงเป็นวิธีการเดียวที่มีรายได้เลี้ยงชีพ แต่การได้มีโอกาสเฝ้าฯ รับเสด็จ ‘ในหลวง รัชกาลที่ 9’ เมื่อ 20 ปีก่อน ทำให้ลุงตื่อได้รู้จักและเรียนรู้วิธีการปลูกพืืชที่ถูกต้องตามกฎหมาย พืชที่ปลูกแล้วสบายใจ ไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ และผลผลิตบนดอยสูง อย่าง กะหล่ำปลีและไร่ชา ก็สร้างรายได้และเปลี่ยนชีวิตชาวเขาจน ๆ คนหนึ่งให้ยืนได้ด้วยขาของตัวเอง


MP28-3315-2A MP28-3315-5A

เมื่อย้อนกลับไป อ่านเรื่องราวการดำเนินการเริ่มแรกของโครงการหลวง พบว่า โครงการหลวงมีนโยบายเสนอพืชหลาย ๆ ชนิด ให้ชาวเขาได้เลือกปลูก โดยทุกคนจะมีผลไม้ยืนต้นและเลือกปลูกพืชล้มลุกอีก 2 อย่าง ซึ่งเป็นการดำเนินการแบบ ‘Diversication’ หากพืชอย่างใด มีโรคพืช, โรคแมลงระบาด หรือราคาตก ก็จะมีพืชผลอีก 2 อย่างช่วยพยุงไว้ ทำให้ชาวเขายังสามารถสร้างรายได้จากการเกษตรได้ตลอดทั้งปี นอกจากการเปิดโอกาสให้ชาวเขาได้เลือกพืชพันธุ์ตามที่ชอบแล้ว ยังมีการจับคู่ ‘คนกับพืช’ ให้เหมาะสมตามพื้นที่อาศัย ซึ่งเกี่ยวพันกับสภาพอากาศและระดับความสูงที่พอเหมาะกับพืชแต่ละชนิด ชาวเขาผู้ปลูกเองก็ไม่ต้องใช้เวลาในการเดินทางไปดูแปลงปลูกมาก มีความสุขสมบูรณ์กันทั้งพืชและคน


MP28-3315-8A MP28-3315-4A MP28-3315-6A

คุณนราธิป จันทร์ไตร นักวิชาการส่งเสริมชาจีน ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง จ.เชียงใหม่ เล่าให้เราฟังว่า ต้นชาต้นเล็ก ๆ ใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี ก็สามารถเก็บยอดชาได้ไปอีก 40-50 ปี จากระยะเวลาการเก็บรอบแรก พักไปอีกราว 55-60 วัน ชาวเขาก็จะเริ่มเก็บใบชารอบถัดไป กระบุงเล็ก ๆ บนหลังนั้น บรรจุใบชาสดได้ถึง 5 กิโลกรัม แต่ก็ไม่ใช่น้ำหนักที่มากนัก เราจึงพบเห็นชาวเขาผูกลูกน้อยไว้แนบอกเก็บใบชาบนยอดดอยจนชินตา ก่อนลำเลียงใบชาสดไปยังโรงงานแปรรูป ผ่านกระบวนการหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การผึ่งชากลางแจ้ง การผึ่งชาในห้องควบคุมอุณหภูมิ การกลับชา การหมักชา การคั่วชา และการนวดชา ซึ่งใช้เวลารวม 2 วัน จากยอดชาสายพันธุ์ดี รังสรรค์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์โครงการหลวงถึง 4 รูปแบบ คือ ชาไฮท์แลนด์แบล็กที (Highland Black Tea), ชาอู่หลวง เบอร์ 12 (Oolong Tea No.12), ชาเขียว (Green Tea) และชาขาว (White Tea) ด้วยกลิ่นและรสสัมผัสที่หอมละมุน สามารถเลือกรับประทานได้ตามรสนิยมของผู้ชื่นชอบในการจิบชา พร้อมกับคุณค่าทางอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้ชาจากโครงการหลวงได้รับการกล่าวถึงคุณภาพที่คุ้มเกินราคา จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน


MP28-3315-1A MP28-3315-3A

พบกับชาทั้ง 4 ชนิด และชิมใบชาสด ๆ ได้ที่งาน ‘รอยัล โปรเจ็กต์ แอท สยามพารากอน’ ระหว่างวันที่ 23-29 พ.ย. นี้


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,315 วันที่ 19-22 พ.ย. 2560 หน้า 28

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว