สคร.ระดมแบงก์รัฐ ชงแพ็กอุ้มเอสเอ็มอี

17 พ.ย. 2560 | 06:21 น.
สคร.ระดมแบงก์รัฐ ออกแพ็กเกจช่วยเอสเอ็มอี ที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนเตรียมเสนอ “สมคิด” 24 พ.ย. นี้ในที่ประชุมผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ จังหวัดลำปาง

จากการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย เพื่อรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบแรก ปรากฏว่ามีผู้ได้รับบัตรไปทั้งสิ้น 11.43 ล้านราย จากจำนวนที่ลงทะเบียนทั้งสิ้น 14.17 ล้านราย ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังกำลังเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติม หรือเฟส 2 เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบภายในเดือนธันวาคมนี้

[caption id="attachment_143042" align="aligncenter" width="503"] เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ[/caption]

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เปิดเผยว่า สคร.ได้ประชุมร่วมกับธนาคารรัฐ เพื่อระดมความคิดเห็นในการเสนอแพ็กเกจ ช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)โดยหลักๆ ที่จะทำคือ Digital Transformation เพื่อมาสนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการหารูปแบบการทำธุรกิจ เพราะขณะนี้เทคโนโลยีก้าวไกลมาก จึงต้องเอา Big Data เข้ามาวิเคราะห์ว่าเอสเอ็มอีอยู่ตรงไหน ใครที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน

“สคร.ได้ให้โจทย์หลักไปกับธนาคารรัฐทั้งหมดแล้วว่าหากจะต้องใช้ Digital Transformation และ Big Data เข้ามาช่วยเหลือเอสเอ็มอีแล้วต้องทำอะไรบ้างและออกมาในรูปแบบไหนเพื่อสรุปและรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ในการประชุมผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ที่ลำปาง เพื่อสรุปร่วมกับมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยระยะที่ 2” นายเอกนิติ กล่าว

แหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.ยังรอข้อสรุปจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ก่อนว่า แพ็กเกจเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยระยะที่ 2 นั้นจะออกมารูปแบบใด แล้วธ.ก.ส.จะต้องทำส่วนไหน เพราะรอบนี้นายสมคิด ให้นโยบายไว้ว่าจะเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันของสถาบันการเงินรัฐ

[caption id="attachment_185582" align="aligncenter" width="503"] ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน[/caption]

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารกำลังศึกษามาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยเฟส 2 ธนาคารออมสินจะมุ่งเน้นการสร้างอาชีพ ด้วยการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาจัดอบรมโครงการต่างๆ เพื่อเสริมทักษะและความสามารถให้กับผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้มีทักษะในการประกอบอาชีพและข้ามพ้นจากการเป็นผู้มีรายได้น้อย

นอกจากนั้นยังได้เตรียมผลิตภัณฑ์ทางการเงินรองรับผู้มีรายได้น้อย ทั้งสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพอัตราดอกเบี้ยพิเศษและมีเงื่อนไขการพิจารณาสินเชื่อผ่อนปรนกว่าสินเชื่อทั่วไป โดยสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยมีอาชีพหรือร้านค้าเป็นของตนเอง เช่น แฟรนไชส์ สตรีตฟูด ฟูดทรัก เงินฝากดอกเบี้ยพิเศษ รวมถึงสินเชื่อเพื่อผู้สูงอายุ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท คาดจะช่วยเหลือประชาชนได้มากกว่า 20 ล้านราย โดยจะมีความชัดเจนเดือนธันวาคมนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,314 วันที่ 16 - 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว