ญี่ปุ่นยึด EEC ฐานผลิตรถอีวี จ่อเอ็มโอยูต้นปีหน้าร่วมพัฒนาเทคโนโลยี ขยายสิทธิประโยชน์

18 พ.ย. 2560 | 11:43 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สศอ.เผยเมติของญี่ปุ่นส่ง“เด็นโซ่” หารือร่วมพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตหวังใช้ไทยเป็นฐานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้ารองรับการเติบโตในภูมิภาคคาดทำเอ็มโอยูกันได้ต้นปีหน้ายันยื่นขอส่งเสริมลงทุนไม่ทันภายในปี2561ต้องขอขยายเวลาส่งเสริมเพิ่มขึ้น

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่รัฐบาลได้มีนโยบายพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี โดยมุ่งเน้นการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และ หนึ่งในนั้น เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะผลักดันให้เอกชนเข้ามาลงทุน

โดยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาทาง บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ด้านเทคโนโลยี ระบบชิ้นส่วนยานยนต์สำหรับผู้ผลิตรถยนต์ ได้รับมอบหมายจากกระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (เมติ) เข้ามาหารือกับสศอ.ถึงความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือให้เกิดการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน และถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงของอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต

ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนที่จะมุ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์จากเครื่องยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าหรือที่ใช้ฟูเอลมากขึ้น ดังนั้น เมื่อไทยมีแผนที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตในพื้นที่อีอีซี ซึ่งเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของโลกอยู่แล้ว ทั้ง 2 ประเทศควรจะร่วมมือกันพัฒนาให้อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตเกิดขึ้นได้ โดยใช้ไทยเป็นฐานผลิตชิ้นส่วนต่างๆป้อนให้ทั้งภูมิภาค

สำหรับการหารือครั้งนี้ มองว่าเมื่อทั้ง 2 ประเทศมีเป้าหมายที่ตรงกัน ซึ่งหลังจากนี้ไปจะมีการหารือกับทางญี่ปุ่นเป็นระยะๆ เพื่อที่จะจัดทำรายละเอียดของเอ็มโอยูขึ้นมา คาดจะให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นปีนี้ และน่าจะนำไปสู่การลงนามบันทึกความร่วมมือ(เอ็มโอยู) กันได้ในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งเท่ากับว่าจะเป็นเวทีให้เกิดการหารือนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันได้

tp12-3267-a “การทำเอ็มโอยูครั้งนี้ คล้ายๆกับให้มีเวทีการเจรจาเกิดขึ้น ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี พร้อมกับการสนับสนุนและข้อเสนอจากทางฝ่ายญี่ปุ่นว่าต้องการอะไรบ้าง รวมถึงการฝึกอบรมด้านบุคลากรขึ้นมารองรับ ซึ่งจะมีค่ายรถยนต์ต่างๆ เข้ามาร่วมด้วย”

นายศิริรุจ กล่าวอีกว่า ส่วนญี่ปุ่นจะมาลงทุนในไทย เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีนั้น จากความร่วมมือครั้งนี้ น่าจะเป็นคำตอบของรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะผลักดันให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ เข้ามาลงทุนได้ เพราะเป็นทิศทางของรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะให้ค่ายรถยนต์เดินไปตามนี้ ถึงได้เข้ามาสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือ โดยมองว่าข้อเสนอหนึ่งที่ทางญี่ปุ่นต้องการเสนอผ่านเอ็มโอยูครั้งนี้ น่าจะเป็นการขอให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ขยายระยะเวลาการยื่นขอสิทธิประโยชน์การลงทุนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าออกไปจากที่จะสิ้นสุดภายในปี 2561 เพราะเห็นว่าค่ายรถยนต์ต่างๆ ยังไม่มีความพร้อมในการพัฒนาแบตเตอรี่อีวีขึ้นมารองรับ

ขณะที่การเตรียมการเบื้องต้นในการร่วมมือดังกล่าว ก็ได้ให้นโยบายกับสถาบันยานยนต์ ไปพิจารณาศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ บนพื้นที่ 200 ไร่ ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ว่าจะขยายปรับปรุงแผนรองรับยานยนต์แห่งอนาคตได้อย่างไรบ้าง จากที่ออกแบบไว้เฉพาะทดสอบล้อและเครื่องยนต์สันดาปภายในเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือครั้งนี้ จะทำให้เห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นต้องการให้ไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แห่งอนาคต เพราะจากนี้ไปไทยเองอาจจะไม่โดดเด่นด้านการผลิตรถยนต์ เท่ากับอินโดนีเซียที่มีตลาดขยายตัวค่อนข้างมาก แต่จากอีอีซีหรือการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต จะช่วยให้ไทยโดดเด่นด้านการวิจัยและพัฒนา สร้างนวัตกรรม ออกแบบผลิตภัณฑ์ ชิ้นส่วนหลักๆ ที่ไม่มีประเทศไหนในภูมิภาคนี้แข่งขันได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,314 วันที่ 16 - 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว