โละเขียวลาย เด้งรับรถไฟฟ้า บูมเชิงพาณิชย์

20 พ.ย. 2560 | 06:29 น.
โละเขียวลายเปิดทางเอกชนพลิกโฉมพัฒนาเชิงพาณิชย์ ที่อยู่อาศัยแนวรถไฟฟ้า ตลิ่งชันยกเขต 30 ตร.กม.เหตุค่ายใหญ่อสังหาฯกว้านซื้อที่ดินรอพัฒนา ประเคนพื้นที่พาณิชยกรรมสีแดงรอบ 3 สถานีรถไฟฟ้า ฉิมพลี ตลิ่งชัน บางพรม ผุดตึกสูง-ใหญ่ ยันราคาพุ่งพรวด ส่วนโซนตะวันออก ใช้ถนนนิมิตใหม่เป็นคันกั้นนํ้า

สืบเนื่องจากสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร เปิดผลการศึกษา และรับฟังความคิดเห็นโครงการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร(ปรับปรุงครั้งที่ 4) กรณีจ้างที่ปรึกษา กำหนดมาตรการทางผัง เมืองที่เหมาะสมในพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (เขียวลาย) ทั้งโซนตะวันตกและตะวันออกเมื่อวันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมานั้น

นายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการสำนักผังเมืองกรุงเทพ มหานคร เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทที่ปรึกษาได้เสนอผลการศึกษาและเปิดรับฟังความคิดเห็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม หรือพื้นที่เขียวลายโซนตะวันออก ที่ประกอบด้วยเขตมีนบุรี หนองจอกและลาดกระบัง สรุปเบื้องต้นว่าจะใช้ถนนนิมิตใหม่เป็นคันกั้นนํ้าแห่งใหม่ และปรับพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณแนวถนนเป็นพื้นที่สีเหลือง พัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีความถี่มากขึ้น จากเดิมเป็นพื้นที่เขียวลาย และใช้คลองลำงูเห่า เป็นคลองสายหลักเพื่อระบายนํ้า และบีบพื้นที่เขียวลายให้อยู่บริเวณรอบคลอง ส่วนพื้นที่ที่เหลือให้ยกเลิกพื้นที่เขียวลายหรือฟลัดเวย์

ส่วนพื้นที่เขียวลายฝั่งตะวันตก จะปรับลดเขตตลิ่งชัน กำหนดเป็นพื้นที่สีเหลือง หรือที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยยาวไปถึงถนนกาญจนาภิเษก 500 เมตร เนื่องจากมีรถไฟฟ้าเข้าพื้นที่ 3 สาย อาทิ รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีนํ้าเงิน ที่ต่อมาจากบางหว้า มาถึงถนนกาญจนาภิเษกระยะแรก และระยะ 2 จะต่อไปถึงพุทธมณฑลสาย 4 รถไฟฟ้าสายสีส้ม และสายสีแดง ที่มาถึงตลิ่งชันซึ่งมองว่าเป็นทำเลที่มีศักยภาพ สำหรับขั้นตอนต่อไปบริษัทที่ปรึกษาจะสรุปและเสนอกทม.ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561

ด้านนายพิชิต ประเสริฐเจริญสุข หัวหน้าฝ่ายโยธา สำนักงานเขตตลิ่งชัน กทม.เปิดเผยว่าบริษัทที่ปรึกษาเสนอให้ยกเลิกพื้นที่เขียวลายโซนตะวันตกเขตตลิ่งชันทั้งเขต หรือประมาณ เกือบ 30 ตารางกิโลเมตร โดยปรับเป็นพื้นที่สีเหลืองหรือที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย สามารถพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยจัดสรรประเภทบ้านเดี่ยวขนาดตั้งแต่ 50 ตารางวาขึ้นไป และสร้างตึกแถวได้ จากเดิมสร้างได้เฉพาะบ้านเดี่ยว 100 ตารางวา และต้องเว้นที่ว่างรอบอาคาร 2 เมตร สร้างสูงได้ไม่เกิน 12 เมตร

เนื่องจากตลิ่งชันมีผู้ประกอบการหลายค่ายกว้านซื้อที่ดินจำนวนมาก พัฒนาสร้างบ้านจัดสรรขายราคา 30-40 ล้านบาท อาทิ บริษัท เอสซี แอสเสท จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันไม่มีสภาพเป็นพื้นที่เกษตร ตรงกันข้ามยังเป็นพื้นที่ใกล้เมืองที่มีศักยภาพส่งผลให้ราคาที่ดินขยับสูง ตัวอย่างราคาที่ดินติดถนนราชพฤกษ์ราคากว่า 1 แสนบาทต่อตารางวา

บาร์ไลน์ฐาน ที่สำคัญโครงการรถไฟฟ้าผ่านพื้นที่ตลิ่งชันถึง 2-3 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ สายสีส้มช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี และส่วนต่อขยายสายสีนํ้าเงินต่อมาจากบางหว้า และไปถึงพรานนก พุทธมณฑลสาย 4 ทำให้ตลิ่งชันเป็นฮับใหญ่โซนตะวันตก ดังนั้นจึงปรับพื้นที่สีเขียวลาย เป็นพื้นที่สีแดงหรือที่ดินประเภทพาณิชยกรรมรอบสถานีรถไฟฟ้า ประกอบด้วย สถานีตลิ่งชัน สถานีฉิมพลี และสถานีบางพรมที่สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์และคอนโดมิเนียมในรัศมี 500 เมตร

อย่างไรก็ดี เมื่อยกเลิกพื้นที่เขียวลายหรือพื้นที่รับนํ้าทางออกต้องปรับปรุงระบบคลองสายหลักเช่น คลองบางพรม บางละมาด ชักพระ เป็นต้น ขณะที่ เขตบางแคและภาษีเจริญมียกเลิกพื้นที่เขียวลายบางบริเวณ แต่เขตทวีวัฒนา โดยกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียวลายเฉพาะ 500 เมตรวัดจากถนนกาญจนาภิเษก ถัดจากนั้น กำหนดให้เป็นพื้นที่สีเหลือง ส่วนเขตบางขุนเทียนยังคงพื้นที่เขียวลายเพื่อใช้เป็นที่รับนํ้าหรือฟลัดเวย์ เนื่องจากชาวบ้านต้องการให้คงไว้เพราะเกรงว่าจะกระทบพื้นที่เกษตรกรรม และปศุสัตว์

ขณะที่การโอนสิทธิ์ขายพื้นที่บนอากาศเหนือหลังคา นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า การซื้อสิทธิ์บนอากาศเหนือหลังคาจากค่าเอฟเออาร์ กลุ่มที่ได้สิทธิ์จะเป็นพื้นที่สีแดง คือ พ.3 พ.4 และพ.5 ที่สามารถเป็นฝ่ายรับซื้อ สิทธิ์บนอากาศในพื้นที่อนุรักษ์ หรือ พื้นที่สีนํ้าตาลอ่อน ที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน พื้นที่เขียวลายที่กำหนดเป็นโซนรับนํ้า แต่มีเงื่อนไขเพิ่มได้ไม่เกิน20% ของเอฟเออาร์เดิมจาก เอฟ เป็นต้น ส่วนการกำหนดราคาคงจะมีการกำหนดราคากลางขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,314 วันที่ 16 - 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว