MOU บ้านลูกกตัญญู ประเดิม 1,000 ไร่ที่ลำลูกกา-ม.ย.61 เห็นภาพชัด

19 พ.ย. 2560 | 10:39 น.
สมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์และพันธมิตรผนึกกคช.-ธอส.สนับสนุนโครงการ “บ้านลูกกตัญญู” ล่าสุดได้ที่ดินราว 1,000 ไร่ที่ลำลูกกาประเดิมโครงการ เร่งเสนอโครงการบรรจุไว้ในแผนกคช.จ่อเอ็มโอยูต้นปีหน้า คาดเม.ย.61 เห็นภาพชัด ด้านเอสซีจีปิ๊งไอเดียแล้ว

นายอภิชาติ ประสิทธิ์นฤทธิ์ นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์และพันธมิตร เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าตามที่ได้เร่งผลักดันโครงการ “บ้านลูกกตัญญู” นั้นล่าสุดได้รับการตอบรับจากการเคหะแห่งชาติ(กคช.) และธนาคารอาคาร สงเคราะห์โดยหลังจากนี้จะเร่งลงนามบันทึกความร่วมมือ 3 หน่วยดังกล่าวนี้เพื่อผลักดันโครงการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป

[caption id="attachment_231261" align="aligncenter" width="409"] อภิชาติ ประสิทธิ์นฤทธิ์ นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์และพันธมิตร อภิชาติ ประสิทธิ์นฤทธิ์ นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์และพันธมิตร[/caption]

ทั้งนี้ในเบื้องต้นนั้นกคช.ได้มอบข้อมูลพื้นที่บริเวณคลอง 2 ลำลูกกาให้สมาคมนำไปพิจารณาว่าจะสามารถเริ่มต้นโครงการในพื้นที่ดังกล่าวนี้ได้หรือไม่ จะต้องใช้พื้นที่ทั้งหมดที่มีอยู่ราว 800-1,000 ไร่หรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นนั้นพื้นที่โซนด้านหน้าโครงการราว 100-200 ไร่กคช.ยังมีแผนพัฒนาโครงการในรูปแบบอื่นควบคู่กันไปด้วย

สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการบ้านลูกกตัญญูนั้นจะมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยเพื่อให้ครอบครัวได้เกิดความอบอุ่น ให้ครอบครัวทั้งพ่อแม่ปู่ย่าตายายลูกหลานเหลนสามารถอยู่อาศัยร่วมกันได้ภายใต้ราคาและศักยภาพการผ่อนชำระได้ เบื้องต้นอยากทำโมเดลขึ้นมาก่อนเพื่อดึงภาคส่วนอื่นเข้ามาร่วมผลักดันให้แพร่ขยายในวงกว้างยิ่งขึ้นท้ายที่สุดแล้วสังคมไทยจะได้ครอบครัวที่เข้มแข็งกลับคืนมา

แนวทางหนึ่งนั้นต้องการดึงงบประมาณจากภาคเอกชนที่ใช้งบในการดำเนินโครงการเพื่อสังคมซึ่งทีดีอาร์ไอสำรวจพบว่ามีการใช้วงเงินดำเนินโครงการซีเอสอาร์ปีละกว่า 6 หมื่นล้านบาท และผู้มีจิตศรัทธาสนับสนุนที่ดินและวัสดุเพื่อให้โครงการนี้เป็นโครงการที่เกิดความยั่งยืนและให้หลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมโดยกรมธนารักษ์เผยข้อมูลว่ามีผู้บริจาคที่ดินให้วัด โรงพยาบาล โรงเรียนฯลฯ ปีละประมาณ 6,000-7,000 ไร่ อีกทั้งยังมีที่ดินว่างเปล่าที่ไม่ได้นำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์อีกหลายแปลง ซึ่งรัฐบาลอยู่ระหว่างกระตุ้นด้วยการใช้มาตรการภาษีที่ดินเบื้องต้นนั้นค่ายปูนเอสซีจีได้รับโครงการไปพิจารณาแล้ว

“อยากให้คิดว่าการอยู่อย่างสังคมไทยสมัยเก่านั้นมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ปัจจุบันสังคมไทยก้าวสู่ระดับผู้สูงวัยมากขึ้น แต่มีกำลังทรัพย์ที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เพียง 15% เท่านั้น ยังมีอีกมากมายที่กำลังรอความช่วยเหลือดังนั้นบ้านลูกกตัญญูจึงสามารถอยู่กัน 3 วัย สำหรับผู้สูงวัยนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ วัยเกษียณที่ยังช่วยตัวเองได้ในระยะแรก วัยเกษียณระยะกลางที่ยังพอช่วยตัวเองได้บ้าง และวัยเกษียณที่ช่วยตัวเองไม่ได้แล้ว”

ดังนั้นที่อยู่อาศัยโครงการขนาดใหญ่จึงจัดพื้นที่ส่วนกลางรูปแบบโคเวิร์กกิ้งสเปซไว้รองรับสำหรับการทำกิจกรรมร่วมกัน ผู้สูงวัยยังสามารถสร้างอาชีพหารายได้ให้ตนเองได้อีกทางหนึ่งด้วย นอกเหนือจากจะแก้ไขปัญหาเด็กเกเรช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ แนวทางหนึ่งคือพัฒนาให้เป็นแหล่งติวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ตระดับชุมชนก็ได้ซึ่งภาครัฐและอีกหลายหน่วยงานน่าจะพร้อมเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้

บาร์ไลน์ฐาน “มีแนวคิดดึงบริษัทพัฒนาเมืองแต่ละจังหวัดเข้ามาร่วมจึงอยากเห็นเศรษฐีใจบุญเข้ามาสนับสนุนโครงการนี้ในแต่ละพื้นที่โดยสมาคมพร้อมที่จะเข้าไปผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เบื้องต้นนั้นมีผู้ใหญ่ใจดีท่านหนึ่งในจังหวัดภูเก็ตพร้อมสนับสนุนที่ดินนำไปพัฒนาโครงการซึ่งอยู่ระหว่างเจรจาว่าจะยกให้เลย ให้เช่า หรือรูปแบบใดบ้าง พื้นที่โซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็แสดงความสนใจเข้ามาบ้างแล้วดังนั้นหากโครงการชัดเจนคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในระดับโครงการขนาดย่อมไปก่อนแล้วค่อยขยายไปสู่โครงการขนาดใหญ่ต่อไป”

ทั้งนี้อาจจัดให้มีพื้นที่จอดรถส่วนกลางรูปแบบเมแคนิกคาร์พาร์กให้เกิดขึ้นในโครงการจะเกิดความปลอดภัยและยังเกิดรายได้ต่อชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย สำหรับวัยที่จะเข้าไปอยู่อาศัยในบ้านลูกกตัญญูจะเป็นผู้มีรายได้น้อย หรือมีเด็กแรกเกิดไม่เกิน 5 ขวบ หากอายุเกินจากนั้นสมควรจะมีห้องเด็ก 1 ห้อง พ่อแม่ 1 ห้อง ปู่ย่าตายายอีก 1 ห้อง ขนาดพื้นที่ราว 16 ตารางวา มีห้องด้านล่างให้ปู่ย่าตายาย ส่วนพ่อแม่และลูกไปอยู่ข้างบน ล่าสุดโครงการนี้ได้นำเสนอหลักการให้ผู้บริหารเอสซีจีรับทราบเบื้องต้นแล้วซึ่งอาจสนับสนุนวัสดุไปดำเนินการได้อีกรูปแบบหนึ่งนอกเหนือจากงบประมาณจึงต้องเร่งกำหนดแผนปฏิบัติการให้ชัดเจนโดยเร็วต่อไป

“หากได้งบประมาณไปดำเนินการ 500 ล้านบาทสามารถดำเนินโครงการได้ราว 1,000 ยูนิตอีกทั้งยังสามารถลดต้นทุนได้อีกราว 30-50% หากได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายขณะนี้สมาคมอยู่ระหว่างการเร่งสรุปรายละเอียดให้แล้วเสร็จใน 2เดือนนี้เพื่อนำเสนอโครงการคาดว่าเดือนมกราคม 2561 จะมีการลงนามเอ็มโอยู 3 ฝ่าย เดือนเมษายน 2561 จะเห็นภาพความชัดเจนต่อการนำเสนอ กคช. พิจารณาเร่งผลักดันต่อไป”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,314 วันที่ 16 - 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว