อาลีบาบาเปิดตัว‘เหอหม่า’ ผงาดสมาร์ทสโตร์

18 พ.ย. 2560 | 09:24 น.
หลังจาก “แจ็ก หม่า” ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ในประเทศจีนภายใต้ชื่อ “Alibaba” (อาลีบาบา) ขยายอาณาจักรไปลงทุนในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย และ ไทย

ไม่เพียงเท่านี้ อาลีบาบายังเข้าไปซื้อกิจการใน ลาซาด้า จากบริษัท Rocket Internet ซึ่งลงทุนอี-คอมเมิร์ซ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงนำหุ้นไประดม ทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯด้วยมูลค่าสูงสุดในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ด้วยมูลค่า มากกว่า 25,000ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ800,000 ล้านบาท

MP20-3314-1A อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 9-12พฤศจิกายนที่ผ่านมา อาลีบาบา กรุ๊ปได้เชิญสื่อมวลชนจำนวน 7 ฉบับและหนึ่งในนั้นมี “ฐานเศรษฐกิจ”รวมอยู่ด้วย เพื่อไปเป็นเกียรติร่วมงาน “Global Shopping Festival2017” ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน

MP20-3314-2A ++เปิดตัว “เหอหม่า”
ทั้งนี้ อาลีบาบ่า ได้เปิดตัว “ Hema” (เหอหม่า) ร้านค้าตัวอย่างภายใต้กลยุทธ์ NewRetail ของอาลีบาบา ด้วยแนวคิดที่ต้องการเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้เลือกซื้อสินค้าในร้านค้าแบบออฟไลน์ และสามารถชำระเงินซื้อผ่านช่องทางออนไลน์โดยไม่ต้องใช้เงินสด ร้านเหอหม่าจึงเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตแนวใหม่ที่ช่วยตอบสนองความต้องการของลูกค้าปัจจุบันเหอหม่าเปิดให้บริการแล้ว 20 สาขา โดยตั้งอยู่ที่เซี่ยงไฮ้13 สาขา ปักกิ่ง 3 สาขา และหนิงโป หังโจว กุ้ยหยาง และเสินเจิ้นอีกที่ละ 1 สาขา สำหรับร้านเหอหม่านั้นมุ่งเน้นไปที่การเป็นศูนย์รวมของจุดกระจายสินค้าสต๊อกสินค้า นอกจากนี้ยังมีบริการจัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อของลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ในรัศมี 3 กิโลเมตรรอบสาขา ซึ่งลูกค้าสามารถรอรับสินค้าที่บ้านได้ในเวลาไม่เกิน 30 นาที หรือสั่งอาหารเพื่อทานในร้านได้อีกด้วย

MP20-3314-4A นอกจากนี้สินค้าทุกชิ้นที่จำหน่ายผ่านเหอหม่านั้นมีรหัสบาร์โค้ด ที่สามารถตรวจสอบข้อมูลของสินค้าหรือชำระเงินค่าสินค้าผ่านอาลีเพย์ได้ทันที รวมถึงสามารถชำระค่าสินค้าด้วยตนเอง ที่ตู้รับชำระอัตโนมัติภายในร้านเหอหม่าได้อีกด้วย โดยอาลีบาบา จะนำประวัติการเลือกซื้อสินค้าของลูกค้ามาวิเคราะห์เพื่อดูความสนใจของลูกค้าแต่ละรายในการเลือกซื้อสินค้า ซึ่งยอดการสั่งซื้อของลูกค้าที่ใช้บริการสั่งซื้อสินค้าเฉลี่ยอยู่ ที่ 4.5 ครั้งต่อเดือน ทั้งนี้ร้านเหอหม่าสาขา Jinqiao ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นเหอหม่าสาขาแรก มีอัตราส่วนการสั่งซื้อสินค้าแบบออนไลน์ เทียบกับออฟไลน์คิดเป็น 7 : 3

++ป๊อปอัพสโตร์อัจฉริยะ
ทั้งนี้นอกจากร้านค้าปลีกอัจฉริยะที่ทางอาลีบาบาเปิดตัวไปนั้น อาลีบาบายังได้จับมือกับแบรนด์ต่างๆ เพื่อให้บริการป๊อปอัพ สโตร์อัจฉริยะอย่าง ชิเซโด้ ป๊อปอัพ สโตร์(SHISEIDO POP-UP STORE) ป๊อปอัพ สโตร์ที่มาพร้อม Magic Mirror นวัตกรรมกระจกสุดลํ้าในการเลือกเครื่องสำอางที่เหมาะกับตนเองด้วยการถ่ายภาพแล้วทดลองเฉดสีหรือเมกอัพที่ต้องการได้บนภาพถ่าย และหากต้องการซื้อสินค้า ก็สามารถสั่งซื้อจากหน้าร้านของแบรนด์บนทีมอลล์ได้เพียงแค่สแกนคิวอาร์โค้ดบน Magic Mirror

MP20-3314-3A คลาริโซนิค ป๊อบอัพ สโตร์(CLARISONIC POP-UP STORE)คลาริโซนิค แบรนด์สินค้าทำความสะอาดผิวหน้าในเครือลอรีอัล มาพร้อมกับเทคโนโลยี AR (AugmentedReality) และตู้กดสินค้าอัตโนมัติ ซึ่งลูกค้าสามารถเข้าสู่ร้านคลาริโซนิคได้โดยการสแกนรหัสที่ทางเข้าผ่านแอพเถาเป่า อีกทั้งยังสามารถสั่งซื้อสินค้าได้โดยชำระเงินผ่านช่องทางอาลีเพย์ และรับสินค้าจากตู้กดได้ทันที โดยระบบสมาชิกของคลาริโซนิคและทีมอลล์นั้นรวมกันเป็นบัญชีเดียวทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์

Aline de Rose แบรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าจากหังโจว ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์อัจฉริยะภายในร้าน และหน้าจอ RFID (Radiofrequency identification) Smart Interactive Guide โดยลูกค้าสามารถนำสินค้ามาจ่อที่หน้าจอจากนั้นจะมีการแสดงผลข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่หน้าจอ รวมถึงปริมาณสินค้าในสต๊อก สินค้าที่เกี่ยวข้อง การแนะนำสินค้าเพื่อมิกซ์แอนด์แมตช์ หรือการรีวิวสินค้าจากหน้าร้านบนทีมอลล์อีกทั้งยังสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ทันทีด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด

++ชูความเป็นสมาร์ทสโตร์
ไม่เพียงแค่ร้านค้าปลีกต่างๆ แต่อาลีบาบายังได้ชูจุดเด่นของความเป็นสมาร์ทสโตร์ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ภายในร้าน ทั้งระบบตรวจสอบจำนวนลูกค้าที่เข้ามาในร้าน ระบบการจดจำใบหน้า การตรวจสอบพฤติกรรมความสนใจของลูกค้าด้วยอุปกรณ์เก็บข้อมูลบนชั้นวางสินค้าที่สามารถบันทึกความสนใจด้วยจำนวนการหยิบสินค้าของลูกค้าเพื่อเก็บข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้า อีกทั้งยังสามารถแจ้งเตือนพนักงานเมื่อมีสมาชิกของแบรนด์เข้ามาที่ร้าน หรือแจ้งจำนวนของลูกค้าที่อยู่ภายในร้านทำให้ร้านสามารถบริหารจัดการสต๊อกสินค้าให้เหมาะสมกับปริมาณและลักษณะเฉพาะของกลุ่มลูกค้าได้ นอกจากนี้ยังมีระบบแคชเชียร์แบบบริการตนเองด้วยเทคโนโลยี RFID ทำให้สามารถบริหารร้านค้าได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากช่วยลดจำนวนพนักงานในการบริการที่จุดชำระเงินหรือเก็บข้อมูลการขายเพื่อบริหารจัดการสต๊อกสินค้า

MP20-3314-5A ++ถือฤกษ์ 11.11 ทุบยอดขาย
อาลีบาบา เปิดตัวเทศกาล 11.11 โกลบัล ช็อปปิ้ง เฟสติวัล 2017 โดยจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางอาลีเพย์ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2560เวลา 00.00 น. ในประเทศจีน สามารถทำยอดขายไปได้กว่า 6.6 พันล้านหยวน (1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในเวลาเพียง 2.01 นาที และยอดทะลุเป้า 1 หมื่นล้านหยวน (1.5พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในเวลา 3.01 นาที ซึ่งเร็วกว่าปีที่แล้วที่ทำเวลาไป 6.58 นาทีสำหรับมูลค่ายอดขายรวม ในปีนี้ทะลุยอดปีที่ผ่านมาในเวลา13:09:49 น. ที่ 1.207 แสนล้านหยวน โดยครบ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเวลาเพียง 2.01 นาที ซึ่งเร็วกว่าปีที่แล้วที่ทำเวลาไปได้ 4.54 นาทีสำหรับรายการสั่งซื้อแรกสุดหลังเปิดงานได้แก่ กาแฟและขนม ซึ่งจัดส่งถึงมือลูกค้าในเซี่ยงไฮ้เวลา 00:12:58 น.

ยิ่งไปกว่านั้นภายในเวลา 1 ชั่วโมง แบรนด์ต่างๆเช่น แอปเปิล เอสเต้ ลอเดอร์แก๊ป ลอรีอัล ไนกี้ ซัมซุงยูนิโคล่ ซาร่า ยังสามารถทำยอดขายได้สูงกว่า 100 ล้านหยวน (15.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จากนั้นภายในเวลา2 ชั่วโมง ยอดขายได้พุ่งสูงถึง 7.88 หมื่นล้านหยวน (1.19หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)และพบว่าส่วนใหญ่ลูกค้ามีการสั่งซื้อและชำระเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ถึง 90% ทั้งนี้ยอดการสั่งซื้อของงาน โกลบัล ช็อปปิ้ง เฟสติวัล 2017 นั้นอาลี เพย์ประมวลผลคำสั่งชำระเงิน รวมกว่า 1.48 ล้านคำสั่งมีอัตราการสั่งซื้อและชำระเงินซึ่งประมวลผลโดยอาลีบาบาคลาวด์ ที่ทำลายสถิติโลกคือ3.25 แสนครั้งต่อวินาที (คำสั่งชำระเงิน 2.56 แสนครั้งต่อวินาที) ในช่วง 39 นาทีแรกหลังเที่ยงคืน ทั้งนี้หลังจากเปิดการขายตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 11 พฤศจิกายนถึงเที่ยงคืนของวันที่ 12 พฤศจิกายน รวมระยะเวลา 24 ชั่วโมง ยอดสรุปรายได้จากงานโกลบัล ช็อปปิ้งเฟสติวัล 2017 นั้นอยู่ที่ 1.68แสนล้านหยวน (2.53 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 8.4 แสนล้านบาทไม่เพียงแค่ร้านค้าปลีก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,314 วันที่ 16 - 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว