ถกรับมือรีดภาษีกองทุน AIMC ตั้งคณะทำงานเคลียร์ประเด็นตราสารหนี้

17 พ.ย. 2560 | 04:52 น.
บลจ.ถกด่วนหลังสรรพากรขึ้นเว็บ “เฮียริ่ง” กฎหมายเก็บภาษีเงินได้ผู้ลงทุนตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมถึง 23 พฤศจิกายนนี้ ลุยตั้งคณะทำงานศึกษาร่างประกาศ ประสานงานรัฐ วางแนวทางปฏิบัติไม่สะดุด

ผู้บริหารจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เปิดเผยว่า สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ได้เรียกประชุมสมาชิกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากกรมสรรพากรได้ขึ้นเว็บไซต์เปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม โดยเตรียมแก้ไขกฎหมายให้เก็บภาษีรายได้จากดอกเบี้ย 15% เหมือนการลงทุนในตลาดเงินและตราสารหนี้โดยตรง เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ที่ประชุมจึงมีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด

“คณะทำงานจะทำความเข้าใจกับประกาศที่ออกมาว่าในทางปฏิบัติสามารถทำได้หรือไม่และรวบรวมประเด็นจากบลจ.เพื่อลงในแนวทางปฏิบัติ เนื่องจากขณะนี้หลายประเด็นยังไม่ชัดเจน คณะทำงานจะได้ทำงานและประสานงานในทางปฏิบัติกับกรมสรรพากรต่อไป”ผู้บริหาร บลจ.กล่าว

MP19-3314-1A อย่างไรก็ตามในหลักการทาง บลจ.เตรียมพร้อมที่จะดำเนินการหักภาษีของกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ แต่คาดว่าไม่น่าจะทันหากทางการจะเริ่มให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1มกราคม 2561 เป็นต้นไป เนื่องจากขณะนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 2-23 พฤศจิกายน 2560 และบลจ.ก็ต้องรอร่างประกาศแก้ไขที่จะออกมาให้ชัดเจน หลังจากนั้นจึงจะเริ่มวางระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อรองรับการหักภาษีของกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ คาดว่าจะใช้เวลาพอสมควร

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับกองทุนตราสารหนี้ที่มีการลงทุนแบบกำหนดอายุชัดเจนหรือเทอมฟันด์ น่าจะดำเนินการจัดเก็บภาษีได้ง่ายที่สุด เพราะมีการลงทุนในตราสารหนี้ทั้งหมด เมื่อครบอายุการลงทุนบลจ.สามารถหักกำไรจากดอกเบี้ยตราสารหนี้ที่ได้รับและนำส่งให้กรมสรรพากรต่อ แต่กรณีกองทุนเปิด ซึ่งมีผู้ลงทุนเข้าซื้อหรือขายหน่วยลงทุนออกตลอดเวลา การเก็บภาษีจะเก็บช่วงไหน หากกำหนดเก็บปลายปีอาจไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ที่ถือลงทุนระยะยาว ในขณะที่ผู้ลงทุนระยะสั้นที่เข้ามาลงทุนและขายออกไปยังไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีแนวทางออกมา

นอกจากนี้ในส่วนของกองทุนรวมที่ไปลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศก็เช่นกันจะเป็นการเก็บภาษีซํ้าซ้อนหรือไม่ หรือกองทุนรวมแบบผสมที่มีการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ จะมีวิธีหักภาษีอย่างไร รวมถึงกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่ลงทุนในตราสารหนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน

บาร์ไลน์ฐาน อย่างไรก็ตามแม้โอกาสที่กฎหมายในการเก็บภาษีของกองทุนรวมตราสารหนี้ของนักลงทุนอาจไม่ทันในปีนี้ แต่คงเริ่มในปี 2561 จึงแนะนำนักลงทุนโดยเฉพาะกลุ่มที่ชอบลงทุนในเทอมฟันด์ พยายามศึกษาข้อมูลและเรียนรู้การลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนและผลตอบแทนของตัวเอง เพราะการลงทุนในตราสารหนี้ปัจจุบันผลตอบแทนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการลงทุนในกองทุนรวมประเภทอื่นๆ และหากผู้ลงทุนต้องมาเสียภาษี 15% ก็อาจไม่จูงใจในการลงทุนเมื่อเทียบดอกเบี้ยเงินฝาก

“นักลงทุนต้องมองหาการลงทุน อื่นๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีกองทุนหลากหลาย หากรับความเสี่ยงได้ไม่มากอาจมองหากองทุนที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลอย่างกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรืออาจมองกองทุนรวมแบบผสม มีการลงทุนทั้งในหุ้นและตราสารหนี้ ซึ่งผู้จัดการกองทุนจะดูแลและบริหารพอร์ตให้เหมาะสมกับสภาวะตลาด หากนักลงทุนยังรับความเสี่ยงจากการลงทุนในกองทุนหุ้นได้ไม่มาก” แหล่งข่าวกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,314 วันที่ 16 - 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว