บ่วงกรรมจำนำข้าว | คำพิพากษา ‘คดีจำนำข้าว’ (ตอนจบ) ... เสียหายซ้ำรอย ‘รัฐบาลทักษิณ’

22 พ.ย. 2560 | 09:22 น.
1614

‘บ่วงกรรมจำนำข้าว’ โดย ฐานการเมือง |
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยการกระทำความผิดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ แยกย่อยไว้หลายประเด็น สรุปได้ความว่า ‘รับจำนำข้าวเปลือก’ เป็นนโยบายหนึ่งของพรรคเพื่อไทย ที่ใช้หาเสียงเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 และได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ก่อนเข้าบริหารประเทศ มีนโยบายเร่งด่วน คือ การป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ และนโยบายเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว โดยจะนำระบบจำนำสินค้าเกษตรมาใช้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้เกษตรกร ซึ่งการดำเนินนโยบายตามโครงการนี้ได้ออกคำสั่งนายกฯ ที่ 153/2554 ลงวันที่ 8 ก.ย. 2554 ตั้งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) โดยนั่งเป็นประธาน กขช. และได้มีคำสั่งปรับปรุงและแต่งตั้งกรรมการใน กขช. (เพิ่มเติม)

ในการประชุม กขช. ได้มีมติอนุมัติกรอบ ชนิด ราคา ปริมาณ ระยะเวลา วิธีการ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และงบประมาณดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 และที่ประชุม ครม. ได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2554 ให้ดำเนินโครงการดังกล่าวในกรอบวงเงิน 4.1 แสนล้านบาท เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2554 มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติตามนโยบายนี้ อาทิ กระทรวงพาณิชย์-เกษตรฯ-คลัง-มหาดไทย-ธ.ก.ส.-อคส.-อ.ต.ก.

| ป.ป.ช. เตือน! ส่อผิดฐานละเว้นฯ |
ก่อนเริ่มดำเนินโครงการ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือเตือนถึงนายกฯ และ ครม. เสนอให้ยกเลิกโครงการ เพราะจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ ทั้งยังเตือนว่า การมีข้าวค้างสต๊อกเป็นจำนวนมาก จะก่อให้เกิดความเสียหาย อาจมีความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ได้ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้างว่า ข้อมูลของทั้ง 2 หน่วยงานนั้น มิใช่การดำเนินโครงการในสมัยรัฐบาลของตน


วิทยุพลังงาน

ที่ต้องวินิจฉัยต่อ คือ เมื่อดำเนินนโยบายโครงการนี้ ก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่ รับฟังได้ว่า การดำเนิน ‘โครงการรับจำนำข้าวเปลือก’ ตามนโยบายจำเลย ใน 3 ขั้นตอน คือ 1.การตรวจสอบคุณสมบัติและรับรองเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ, 2.การนำข้าวไปจำนำและเก็บรักษาข้าวเปลือก และ 3.การสีแปรสภาพข้าวเปลือกและเก็บรักษาข้าวสารนั้น แม้ ครม. และ กขช. พร้อมทั้งคณะอนุ ก.ก. ชุดต่าง ๆ จะออกมาตรการเพื่อป้องกันการทุจริตและความเสียหายต่าง ๆ ก็ตาม แต่การดำเนินโครงการในแต่ละขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ก็ยังเกิดปัญหาการทุจริตในขั้นตอนต่าง ๆ ดังเช่น โครงการรับจำนำข้าวในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งเกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และกระทบต่องบประมาณของแผ่นดินเป็นจำนวนมาก ดังที่ปรากฎในรายงานคณะอนุ ก.ก. ปิดบัญชีโครงการ ที่สรุปภาระหนี้สิน 3 รอบบัญชี ซึ่งเกินกรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท จากที่รัฐบาลกำหนดไว้ เมื่อรวม 5 ฤดูกาลผลิต ตามรายงานคณะอนุ ก.ก. ปิดบัญชีของ นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดคลัง ประธานอนุกรรมการ ณ วันที่ 30 ก.ย. 2557 มียอดเงินที่ใช้ในการรับจำนำข้าวสูงถึง 8.78 แสนล้านบาท


TP14-3314-1C

นอกจากนี้ ตามรายงานการประชุม กขช. พบว่า กระทรวงพาณิชย์ซึ่งดำเนินการสุ่มตรวจโรงสีตลาดกลาง โกดังกลาง และจากเกษตรกร พบว่า มีการทุจริตและกระทำความผิดตามบันทึกที่ นายวราเทพ รัตนากร รายงานต่อจำเลย 3 ครั้ง มีจำนวนผู้กระทำผิดรวม 7,742 ราย ทั้งยังปรากฎข้อเท็จจริงตามบันทึกรายงานการประชุมคณะอนุ ก.ก. กำกับดูแลการรับจำนำ ที่ตรวจพบการทุจริตที่ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รายงานผลการดำเนินคดีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ประจำปี 2554/2555 ในความรับผิดชอบของตำรวจภูธรภาค 1-9 รวม 105 คดี เกิดปัญหาการทุจริตสอดคล้องกับผลงานวิจัยของ TDRI ที่ชี้ให้เห็นถึงความเสียหายด้านเศรษฐกิจและความเสียหายอื่น ๆ ที่เกิดจากการดำเนินโครงการ

สำหรับการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบ ‘รัฐต่อรัฐ’ นั้น ปรากฎพฤติการณ์ให้เห็นว่า มีการแอบอ้างทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ สำนักงาน ป.ป.ช. จึงได้มีหนังสือถึงจำเลยโดยตรง เสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต ทั้งยังปรากฏคำให้สัมภาษณ์ของจำเลย ที่ยืนยันว่า รับรู้การระบายข้าวที่แอบอ้างว่า เป็นการขายแบบรัฐต่อรัฐ และยังยืนยันด้วยว่า ข้าวที่มีการซื้อขายนั้น ประมาณ 8 ล้านตัน และมีการส่งข้าวตามสัญญาออกไปจริง บ่งชี้ให้เห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกฯ และประธาน กขช. ได้ทราบข้อเท็จจริงมาโดยตลอด ซึ่งความจริงแล้ว เป็นเพียงการสมอ้างการขายแบบรัฐต่อรัฐ เพื่อให้ผู้ซื้อได้สิทธิเข้าทำสัญญาซื้อข้าวจากกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ในราคามิตรภาพ ทั้งยังปรากฏหลักฐานว่า ไม่มีการส่งข้าวตามสัญญาไปยังประเทศผู้ซื้อ แต่ได้นำข้าวตามสัญญามาเวียนขายให้ผู้ค้าข้าวภายในประเทศ ทั้งยังมีรายละเอียดการชำระเงินค่าข้าวด้วยแคชเชียร์เช็คของธนาคารพาณิชย์ในประเทศ แม้จำเลยจะอ้างว่า นายกฯ มีหน้าที่กำกับงานด้านนโยบายก็ตาม แต่การดำเนินการปฏิบัติตามนโยบายนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ ที่จำเลยอ้างว่า เป็นนโยบายเร่งด่วนและแถลงต่อรัฐสภาไว้เช่นกัน

เมื่อ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ถูกกล่าวหา จำเลยจะรอให้ “คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาล” ที่มี นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ ซึ่งสังกัดอยู่ในกระทรวงพาณิชย์ รายงานเพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอแก่การทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ การที่จำเลยเพียงแต่ได้รับรายงานผลการตรวจสอบว่า ไม่พบการทุจริต แล้วไม่ดำเนินการอย่างใดต่อไป ทั้ง ๆ ที่จำเลยมีทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐกิจ หากให้ความสำคัญ ไม่ปล่อยปละละเลยต่ออำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยดำเนินการให้มีการตรวจสอบอย่างรอบด้าน ความเสียหายจากการทุจริตอันสืบเนื่องจากการดำเนินโครงการในขั้นตอนการระบายข้าวคงไม่กระทบต่องบประมาณแผ่นดินมากถึงเพียงนี้


บาร์ไลน์ฐาน



| มีเวลาเพียงพอระงับยับยั้ง |
หากจำเลยสั่งการให้หน่วยงานอื่น ที่ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์ที่มี นายบุญทรง ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการทำสัญญาขายข้าวทั้ง 4 ฉบับ เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ครบทุกประเด็นตามที่ นายวรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอพยานหลักฐานประกอบการอภิปราย จำเลยก็จะทราบมูลเหตุและที่มาของการทุจริตโครงการในขั้นตอน การระบายข้าวที่มีการอ้างว่า เป็นการขายแบบรัฐต่อรัฐ ในฐานะนายกฯ และประธาน กขช. ทราบถึงการท้วงติงและความเสียหายจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว แต่กลับละเลยไม่ระงับยับยั้ง อันอาจเป็นมูลความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น

ความเสียหายอันเกิดขึ้นจากการทุจริตในขั้นตอนระบายข้าว โดยการแอบอ้างทำสัญญาขายแบบรัฐต่อรัฐ รับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า จำเลยรับรู้การแจ้งเตือนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง การตั้งกระทู้ถามสด กระทู้ทั่วไป การอภิปรายไม่ไว้วางใจของข้าราชการการเมือง และข่าวสารจากสื่อมวลชน

จำเลยมีเวลาเพียงพอที่จะระงับยับยั้งการส่งมอบข้าวตามสัญญา ที่ยังไม่ได้ส่งมอบไว้ก่อน ก็ย่อมกระทำได้ตามอำนาจหน้าที่ แต่จำเลยในฐานะนายกฯ หัวหน้ารัฐบาล และประธาน กขช. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการควบคุมตรวจสอบกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย วางมาตรการโครงการที่อนุมัติไปแล้ว ทั้งมีอำนาจสั่งการข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม การระงับยับยั้งหรือแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าว กลับมีพฤติการณ์ละเว้นหน้าที่ตามกฎหมาย ส่อแสดงเจตนาออกโดยแจ้งชัด อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่นายบุญทรงกับพวก แสวงหาประโยชน์จากโครงการ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ และเกิดผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินโดยตรง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กระทรวงการคลัง ประเทศชาติ หรือผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,314 วันที่ 16-18 พ.ย. 2560 หน้า 14

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว