ประมูลปิโตรฯรอกม.พีเอสซี 8 รายโดดร่วมชิงขุมทรัพย์-รอบใหม่จ่อคิว 29 แปลง

20 พ.ย. 2560 | 12:43 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

จ่อคลอดทีโออาร์ประมูลแหล่งปิโตรเลียมหมดอายุกลางธ.ค.นี้ รอแค่ครม.ไฟเขียว คาดได้ผู้ชนะการประมูลภายในก.ค.ปีหน้า เบื้องต้น 7-8 ราย แสดงความสนใจเข้าร่วมประมูลแล้ว พร้อมเตรียมเปิดประมูลรอบใหม่จำนวน 29 แปลงต่อไปในปีหน้า

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าในการเปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกช ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2565-2566 ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณากฎหมายลูกที่เกี่ยวกับระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต(พีเอสซี) ของกฤษฎีกา เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี เห็นชอบในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อนำมาใช้ในการเปิดประมูล และหลังจากนั้น จะนำร่างทีโออาร์เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการปิโตรเลียม เพื่ออนุมัติร่างทีโออาร์ เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำเสนอครม. เห็นชอบต่อไป โดยมองว่าน่าจะดำเนินการประกาศทีโออาร์ได้ประมาณกลางเดือนธันวาคมปีนี้

[caption id="attachment_227600" align="aligncenter" width="503"] พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์[/caption]

ทั้งนี้ เมื่อประกาศทีโออาร์แล้วในช่วง 1 เดือนแรก จะเปิดให้เอกชนที่สนใจยื่นคุณสมบัติเข้าร่วมประมูล หลังจากผ่านคุณสมบัติขั้นต้นแล้ว ถึงจะมีสิทธิ์ยื่นซองประมูล และจะเปิดให้ผู้มีสิทธิ์เข้ามาดูข้อมูลในเดือนที่ 2 มีระยะเวลา 4 เดือน จากนั้นเข้าสู่เดือนที่ 6 ทางผู้ประมูลจะต้องเตรียมข้อเสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐ และในเดือนที่ 7 ส่งข้อเสนอดังกล่าวให้กับกระทรวงพลังงานพิจารณาและตัดสินใจว่ารายใดจะเป็นผู้ชนะการประมูล ดังนั้นคาดว่าขั้นตอนการหาผู้ชนะน่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนกรกฎาคม 2561 ซึ่งยังถือว่าอยู่ในเป้าหมายที่วางไว้

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้กฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับระบบแบ่งปันผลผลิต(พีเอสซี) อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา หากเสร็จสิ้นคาดว่าจะสามารถเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ จากนั้นเตรียมออกประกาศเชิญชวนประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชในรูปแบบพีเอสซีได้ภายในปลายปีนี้ หลังจากนั้นคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาอีก 7 เดือน ก็จะสามารถคัดเลือกผู้ที่ชนะการประมูลครั้งนี้ได้

TP09-3314-1A ขณะที่ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชในครั้งนี้มีหลายราย ซึ่งเชื่อว่าเมื่อทีโออาร์ออกมาแล้ว จะทำให้มีความชัดเจนมากขึ้นว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลมากน้อยแค่ไหน เบื้องต้นที่ยืนยัน ได้แก่ เชฟรอน และ ปตท.สผ., กลุ่มอาบูดาบี ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บริษัท Mitsui Oil Exploration จำกัด จากญี่ปุ่น บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด กลุ่มนักลงทุนจากซาอุดีอาระเบีย ส่วนบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แม้มีความสนใจ แต่ทุนค่อนข้างน้อย ดังนั้นการเข้าร่วมประมูลก็อาจจำเป็นต้องหาพันธมิตรเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งกรมจะเชิญชวนนักลงทุนจีนและนักลงทุนไทย อย่างบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ให้เข้ามาแข่งขันด้วย

สำหรับความคืบหน้าการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่จำนวน 29 แปลง จะดำเนินการหลังจากประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชเสร็จสิ้นไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับระบบสัญญาจ้างผลิต(เอสซี) เตรียมเข้า ครม.ภายหลังจาก ครม.พิจารณาทีโออาร์แล้วเสร็จ คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลรอบใหม่ได้ภายในปี 2561

“การเปิดประมูลสัมปทานรอบใหม่ จะใช้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียม ที่เพิ่งประกาศออกมา โดยพื้นที่ปิโตรเลียมในอ่าวไทย เป็นการประมูลในรูปแบบของพีเอสซี ส่วนพื้นที่บนบก เป็นการประมูลในรูปแบบสัมปทาน ส่วนระบบเอสซีอาจจะเป็นการประมูลในแหล่งขนาดเล็ก” นายวีระศักดิ์ กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,314 วันที่ 16 - 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว