นวัตกรรมความคิด

14 พ.ย. 2560 | 23:55 น.
TP07-3314-1A ภาคการศึกษานี้ผู้เขียนได้เปิดวิชาใหม่ที่คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาฯ ชื่อวิชา Digital and Innovative Economy (ขอขอบคุณผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องที่ให้โอกาสได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ด้วยค่ะ) ผู้เขียนเลือกเนื้อหาโดยเริ่มจากความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ ลองมองดูว่ามีอะไรที่เด็กนิสิต(รวมถึงตัวผู้เขียนเอง) ควรจะรู้ ดูว่าตัวเองสามารถสอนอะไรได้บ้าง และดูจาก Network ของเพื่อนหรือคนรู้จักที่มีว่าจะสามารถเชิญใครมาสอนได้บ้าง(ขอขอบคุณอาจารย์และเพื่อนๆ ทั้งจากจุฬาฯเอง คือ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จากภาคเอกชน เช่น Garena, Builk, SmartContract Thailand, Platform (Digital Marketing Agency) และจากภาครัฐเช่น DEPA, NECTEC ที่ช่วยสละเวลามาให้ความรู้เด็กๆ ด้วยค่ะ)

ช่วงก่อน Midterm เราเรียนกันในเรื่องของ Artificial Intelligence (AI), Big Data, New Frontier of Economic Research และ Startupโดยศัพท์คำหนึ่งที่ได้เรียนกันจากเรื่องStartup คือคำว่า “Pain Point” คือจุดปัญหาหรือความยุ่งยากที่คนทั่วไปต้องเผชิญอยู่ โดย Startup ที่ประสบความสำเร็จมักจะเป็น Startup ที่หาSolution ดีๆ มาแก้ Pain Pointต่างๆ ได้ ทำให้ชีวิตลูกค้าหรือผู้บริโภคนั้นดีขึ้น

ในข้อสอบ Midterm ผู้เขียนเลยถามเด็กๆ ว่า “อะไรคือ Pain Point ที่ทำให้คุณ (หรือเพื่อนคุณ) ไม่มาเข้าเรียนในวิชาต่างๆ ทั้งๆ ที่ลงทะเบียนไว้แล้ว จงเสนอความคิดสร้างนวัตกรรมที่จะช่วยแก้ Pain Point เหล่านั้น” ผู้เขียนได้รับคำตอบที่น่าสนใจมากมายเลยจะขอมาเล่าให้ฟังดังนี้

ส่วนใหญ่แล้วเด็กจะตอบว่า Pain Point ที่ทำให้ไม่มาเข้าเรียนคือรถติดหนักเสียเวลาเดินทางมาก, เรียนไม่เข้าใจไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร, วิชาที่เรียนไม่ตรงกับที่สนใจ, etc.

แน่นอนว่าหนึ่งในนวัตกรรมที่เด็กหลายคนเสนอมา คือ ระบบการเรียนการสอน Online เช่น ในรูปแบบของ Massive Open Online Course หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า MOOC (ซึ่งจริงๆ แล้วสำหรับจุฬาฯ ได้มีผู้ริเริ่มไว้แล้วที่ https://mooc.chula.ac.th ผู้เขียนขอชื่นชมและขอเป็นกำลังใจให้ผู้เกี่ยวข้องทำโครงการนี้ให้สำเร็จลุล่วงด้วยค่ะ)

นอกจาก MOOC ในรูปแบบธรรมดาแล้ว ยังมีเด็กเสนอว่าควรทำระบบนี้ให้เป็น 3D คือสามารถต่อ 3D Projector ให้เสมือนมีอาจารย์ไปโผล่สอนอยู่ที่บ้านได้ จะได้ทำให้รู้สึกตั้งใจเรียนมากขึ้น ส่วนเด็กที่บอกว่าไม่รู้ว่าสิ่งที่เรียนเกี่ยวข้องชีวิตประจำวันได้อย่างไร เสนอว่าในอนาคตน่าจะมีการสร้าง AI ที่สามารถประมวลผลเนื้อหาที่กำลังเรียนอยู่แล้วชี้ให้เห็นภาพตัวอย่างในชีวิตประจำวัน แบบ Real-time คือนั่งเรียนไป AI ก็ฉายภาพว่าเนื้อหานี้เกี่ยวกับชีวิตประจำวันอย่างไร

TP07-3314-2A นอกจากนี้ยังมีเด็กเสนอว่าควรจะมีระบบ Course Recommendationคล้ายๆ กับระบบ Book Recommendationของ Amazon กล่าวคือ มีการเก็บข้อมูล Big Data ของเด็กว่าชอบทำกิจกรรมประเภทไหน สนใจอะไรบ้าง เคยเรียนวิชาอะไรมาแล้วบ้างวิชาไหนทำได้ดี วิชาไหนทำได้ไม่ดี แล้วใช้ Machine Learning ประมวลผลเพื่อนำเสนอวิชาต่างๆ ที่เด็กคนนั้นๆน่าจะสนใจมาให้เด็กเลือกลงทะเบียน

ผู้เขียนนั่งตรวจข้อสอบไปก็นึกในใจว่าเด็กคิดได้ไง บางอย่างนั้นตัวอาจารย์เองก็ยังไม่เคยนึกถึงมาก่อนด้วยซํ้า การที่เด็กคิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้ หรือการที่บางครั้งเด็กถามในสิ่งที่เรายังไม่เคยนึกถึง ผู้เขียนถือว่าเราประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่ด้านหนึ่ง คือการหัดให้เด็กรู้จักคิดได้เกินจากสิ่งที่เราสอน เพราะทักษะที่สำคัญในการใช้ชีวิตในโลกปัจจุบันที่มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นแทบทุกวันและในยุคที่ข้อมูลทั่วไปสามารถถูกค้นหาได้ผ่านGoogle น่าจะไม่ใช่ทักษะในการจำได้ว่าเคยเรียนหรือเคยรู้อะไรมาบ้าง แต่คือ “ทักษะการคิดให้เป็น”

ทำอย่างไรจึงจะคิดเป็น? สิ่งแรกคืออย่าปิดความคิดให้อยู่แค่ในกรอบ เปิดใจให้กว้าง รับรู้ความรู้ใหม่ๆ จากสิ่งรอบตัวจากคนที่หลากหลายถ่อมตัวว่าโลกนี้กว้างใหญ่ มีอะไรที่เรายังไม่รู้อีกมากมาย ผลักตัวเองออกไปเจอกับ Challenge ใหม่ๆ โดยไม่กลัวที่จะล้มเหลว พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา หมั่นพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ และพร้อมที่จะรับมือกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง นอกจากจะคิดเป็นแล้ว ผู้เขียนอยากขอฝากให้คิดดีด้วย การคิดดีคือการเชื่อในเรื่องของการทำความดี เชื่อว่าทำดีจะได้ดีทำชั่วจะได้ชั่ว เชื่อว่าควรหลีกเลี่ยงการเบียด เบียนผู้อื่น มีความละอายและเกรงกลัวต่อการทำชั่ว

ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าวันหนึ่งการเรียนการสอน Lecture ในห้องเรียนก็อาจจะถูก Disrupt ไป เช่นเดียวกับอาชีพหลายๆ อาชีพที่ก็อาจ จะหายไป หรือยังคงมีอยู่แต่แปลงร่างเปลี่ยนหน้าที่ไป หน้าที่ของอาจารย์อาจเน้นไปที่การทำวิจัยสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ พัฒนาความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมา การเรียนการสอนอาจเป็นการ Coach ให้เด็กสามารถคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้เอง ให้แก้โจทย์ปัญหาต่างๆ ในสังคมหรือในชีวิตประจำวัน หลายๆ ครั้งอาจเป็นการลองทำสิ่งใหม่ๆ ไปด้วยกัน(เพราะมีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา)

อย่างไรก็ดีผู้เขียนเชื่อว่าวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญของการเรียนการสอน น่าจะยังคงเป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ ที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่คิดเป็นและคิดดี ที่นอกจากจะสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้แล้ว ยังมีจิตสำนึกที่ดีที่คิดจะทำประโยชน์ให้สังคมและประเทศชาติต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,314 วันที่ 16 - 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว