เอชอาร์ 4.0 | วิชชาลัยศาสตร์พระราชา ... ‘พัฒนามนุษย์’

16 พ.ย. 2560 | 05:34 น.
MP27-3314-AA

เอชอาร์ 4.0 | ‘ศาสตร์พระราชา’ กำลังถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างจริงจัง ในรูปแบบต่าง ๆ และเมื่อ 26 พ.ค. 2549 ‘โคฟี อันนัน’ เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ทูลเกล้าถวายรางวัล ‘ความสำเร็จสูงสุด ด้านการพัฒนามนุษย์’ The Human Development Lifetime Achievement Award แด่ ‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในพระปรีชาสามารถ และพระราชกรณียกิจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพสกนิกรไทยตลอดรัชสมัย เมื่อ 26 พ.ค. 2549

แสดงให้เห็นว่า ศาสตร์ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย คือ ศาสตร์ที่สามารถสร้างบุคลากรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งการประกอบสัมมาชีพและการดำรงชีวิต ‘ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล’ เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา จึงได้พูดคุยกับ ‘อาจารย์ยักษ์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร’ ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และ ‘อาจารย์โก้ ผส.พิเชฐ โสวิทยสกุล’ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ต้องการผลักดันให้เกิดสถาบันอุดมศึกษา ที่นำศาสตร์พระราชาไปพัฒนาเป็นงานวิชาการ ซึ่งวันนี้ ... แนวคิดดังกล่าวกำลังคืบหน้า มีการพูดคุยอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดย ‘ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ อธิการบดี สจล. และมอบหมายให้ ‘อาจารย์โก้’ ให้เป็นผู้ดำเนินการ


MP27-3314-A

อาจารย์โก้ เล่าว่า ประมาณวันที่ 14-15 พ.ย. นี้ มีการนัดคุยเพื่อจะแยกย่อยวิชาจากศาสตร์พระราชา จะมีการถอดศาสตร์พระราชาออกมาให้ชัดเจน แล้วดูว่า จะแยกออกมาเป็นวิชาอะไรได้บ้าง จะต้องเข้ามาเรียนอย่างไร ลงทะเบียนอย่างไร

“คนนอกก็มาเรียนได้ เราจะทำเป็นหลักสูตรอินเตอร์เลยด้วยซ้ำ เรียนในคลาสก็ได้ เรียนอยู่บ้านก็ได้ เป็น Massive Open Online Courseware หรือ MOOC หลักสูตรที่เรียนออนไลน์จากระบบที่เปิดให้ใช้งานฟรี และสามารถเรียนที่มหาวิทยาลัยไหนก็ได้ นี่คือ ที่เราตั้งเป้าไว้” อาจารย์ยักษ์ กล่าว

อาจารย์โก้ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้รับมอบจากอธิการ สจล. เมื่อหมดวาระการเป็นคณบดีที่คณะสถาปัตย์ ก็จะให้ตั้งวิทยาลัยศาสตร์พระราชา โดยมีเป้าที่จะให้เปิดสอนได้ในเดือน ส.ค. 2561 ที่ สจล. หลักสูตร 4 ปี ซึ่งจะมีทั้งการเปิดแบบทั่วไปให้ประชาชนที่สนใจมาเรียนได้ ทั้งแบบได้รับวุฒิ และไม่รับวุฒิการศึกษา

“แต่ผมอยากขอให้เป็น ‘วิชชาลัย’ เพราะวิทยาลัยจะติดอะไรหลายอย่าง ผมอยากสร้างปัญญาให้คนมากกว่า ถ้าจะเอาปริญญา ผู้เรียนก็ต้องมีวุฒิพื้นฐาน ถ้าเอาความรู้ ก็อะไรก็ได้หมด ไม่เสียเงินเรียน แต่ถ้าอยากได้ปริญญาอาจเสียเงินนิดหน่อย ... เราให้ปัญญาบัตร พร้อมสิทธิทำกิน เราตั้งเป้าชาวบ้าน 60% คนรุ่นใหม่ 30% และคนเบื่องาน 10% ทำให้เขามีองค์ความรู้ที่หลากหลาย ให้เขาร่วมกันทำ เราไม่จำกัดอายุ ขอให้ตรงเกณฑ์ เราอาจจะเปิดกว้างที่สุด”


บาร์ไลน์ฐาน

อาจารย์ยักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ ศาสตร์พระราชากำลังทำให้เป็นมาตรฐานอุตสาหกรรม ISO 90001, 90002 โดยจะทำออกมา 7-8 อาชีพ เพราะศาสตร์พระราชาไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องของเกษตรกรรม ท่องเที่ยว วิทยาศาสตร์ และอื่น ๆ ก็มีในศาสตร์ เราจะทำให้เป็นมาตรฐาน ‘รัชกาลที่ 9’ มาตรฐานแบบพอเพียง

โครงการ ‘วิชชาลัยศาสตร์พระราชา’ กำลังเดินหน้า หากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงไม่สามารถผลักดันให้วิชชาลัยแห่งนี้เกิดได้ อาจารย์ทั้ง 2 ก็จะพยายามผลักดันให้ศาสตร์พระราชาออกมาในรูปแบบอื่น เพื่อเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นและศาสตร์พระราชา ออกมาเป็นหลักสูตร เพื่อสร้างคนไทยและประชากรโลกให้มีความรู้ ความเข้าใจ และนำมาปรับใช้กับการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,314 วันที่ 16-18 พ.ย. 2560 หน้า 26

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว