เรือนเพาะชำสีบานเย็น ช่วยประหยัดพลังงาน

20 พ.ย. 2560 | 12:27 น.
เรือนกระจก หรือ เรือนเพาะชำ สีชมพูบานเย็นหลังนี้เป็นโครงการสาธิตของบริษัท โซลิคัลเจอร์ (Soliculture) จากสหรัฐอเมริกา ที่แสดงให้เห็นว่า แผงโซลาร์เซลล์สีบานเย็นที่นำมาใช้เป็นวัสดุองค์ประกอบหลักของเรือนเพาะชำ ช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดีขึ้น ทั้งยังผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

mp27-3314-3a ที่เป็นเช่นนี้เพราะแผงโซลาร์เซลล์ดังกล่าวใช้เทคโนโลยีที่ชื่อว่า WSPVs (Wavelength-Selective Photovoltaic Systems) ฝังเม็ดสีสีชมพูบานเย็นเรืองแสงลงไปในผลึกแก้วที่ใช้ทำแผงโซลาร์เซลล์ สีเข้มดังกล่าวดูดซับความยาวคลื่นแสงสีนํ้าเงินและเขียวได้ดีกว่า และผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อใช้ป้อนอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าในโรงเรือนเพาะชำ อาทิ พัดลม เครื่องทำความร้อน และระบบฉีดนํ้ารดต้นไม้ เป็นต้น ทีมงานของโซลิคัลเจอร์เปิดเผยว่า กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้เองนั้นเพียงพอสำหรับตอบโจทย์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของโรงเพาะชำ ทำให้ไม่จำเป็นต้องต่อสายไฟเข้ากับส่วนกลาง

mp27-3314-1a mp27-3314-2a นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า โรงเพาะชำที่ใช้วัสดุโปร่งใสสีชมพูบานเย็นทำให้พืชบางชนิดเติบโตได้ดีขึ้น ทั้งนี้ พืชที่ทดลองปลูกมีจำนวน 20 ชนิด เช่น มะเขือเทศ แตงกวา มะนาว พริก กะเพรา สตรอว์เบอร์รี่ ฯลฯ 80% ไม่ได้รับผลกระทบชัดเจนจากการได้รับลำแสงสีบานเย็นที่ส่องผ่านเข้ามา แต่ 20% มีการเจริญเติบโตดีขึ้นภายใต้ลำแสงสีดังกล่าว นอกจากนี้ ยังพบว่า มะเขือเทศที่ปลูกในเรือนเพาะชำสีบานเย็นสามารถเติบโตโดยใช้นํ้าน้อยลง 5% เมื่อเทียบกับการปลูกในโรงเรือนแบบทั่วไป สันนิษฐานว่า ภายใต้ลำแสงสีบานเย็น ภายในโรงเรือนจะมีความสว่างน้อยกว่ากระจกใสธรรมดา ซึ่งพืชเองก็มีปฏิกิริยาต่อความเข้มข้น ของแสงรวมทั้งสีของลำแสงด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,314 วันที่ 16 - 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว