ปรื๊ด! กู้เงิน 1 นาที รู้ผล ‘SCB-KBANK’ ชิงผู้นำนวัตกรรม ‘สินเชื่อผ่านมือถือ’

14 พ.ย. 2560 | 09:13 น.
1600

แบงก์เปิดศึก! ชิงผู้นำสินเชื่อส่วนบุคคลผ่านแอพมือถือ ... “กสิกรไทย” ชูจุดขาย “นาทีเดียวรู้ผล รับเงินทันที” ให้กู้สูงสุด 5 แสนบาท โฟกัสรายได้ 3 หมื่นบาทอัพ เปิดตัว พ.ย. นี้ ... “ไทยพาณิชย์” ลั่น! ลงสนามเดือนหน้า คุยทับวินาทีเดียวรู้เรื่อง พร้อมแคมเปญดอกเบี้ยต่ำ เปิดกว้างลูกค้าเก่า-ใหม่

ดิจิตอลไล่ล่า! ธนาคารพาณิชย์ไทยนั่งไม่ติด หลังใช้เงินนับหมื่นล้านบาทลงทุนและพัฒนาระบบดิจิตอลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ล่าสุด กดปุ่มปล่อยของชุดใหญ่ให้บริการ ‘สินเชื่อส่วนบุคคลออนไลน์’ ผ่านแอพพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ที่มียอดผู้ดาวน์โหลดหลายสิบล้านราย ดึง Big Data วิเคราะห์สินเชื่อรวดเร็วและแม่นยำ ชูกลยุทธ์รู้ผลการอนุมัติและรับเงินทันทีภายในเวลาไม่ถึงนาที

นายสมคิด จิรานันตรัตน์ รองประธาน บริษัท กสิกรไทย บิสซิเนสเทคโนโลยี กรุ๊ปฯ (KBTG) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากทิศทางธนาคารแห่งอนาคต ซึ่งเป็นรูปแบบดิจิตอลแบงกิ้ง KBTG ที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนธนาคารกสิกรไทยด้านเทคโนโลยี ภารกิจหลักจึงมุ่งที่จะสร้างความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ เพื่อสนับสนุนธนาคารกสิกรไทย นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และอนาคตเทคโนโลยีจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมความต้องการของลูกค้า หากธนาคารกสิกรไทยนำเทคโนโลยีไปใช้ แล้วลูกค้าเกิดการยอมรับ ก็จะเป็นโอกาสสร้างฐานลูกค้าด้วย


P1-3313-a

ดังนั้น KTBG ต้องพยายามพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ หรือ ต่อยอดจากที่มีอยู่แล้ว เช่น ‘เทคโนโลยีบล็อกเชน’ อนาคตจะต้องให้บริการได้มากขึ้น นอกเหนือจากการออกหนังสือค้ำประกัน (L/G) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) จะต้องพัฒนาให้เก่งมากขึ้น

ภายในเดือน พ.ย. นี้ ธนาคารกสิกรไทยจะเปิดให้บริการสินเชื่อบุคคลในกลุ่มลูกค้า KPlus ที่ปัจจุบันมีฐานลูกค้าประมาณ 6.5 ล้านราย โดยจะเน้นผู้มีรายได้ตั้งแต่ 3 หมื่นบาทต่อเดือนขึ้นไป สามารถใช้บริการสินเชื่อบุคคลผ่านแอพพลิเคชันธนาคารบนมือถือได้

นายสมคิด กล่าวว่า KPlus จะมีช่องคำขอสินเชื่อ เพียงลูกค้าคลิกตกลงยอมรับเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อแสดงความต้องการสินเชื่อ จากนั้น ธนาคารจะตั้งวงเงินและโอนเงินอัตโนมัติ ลูกค้าจะได้รับเงินเสร็จสิ้นภายในเวลา 1 นาทีเท่านั้น ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้กู้อย่างมาก โดยลูกค้าผู้กู้ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้และการอนุมัติ พร้อมโอนเงินให้ลูกค้าที่รวดเร็ว ทำให้ลูกค้านำเงินไปใช้กรณีฉุกเฉินหรือแก้ปัญหาส่วนตัวและธุรกิจในเวลาอันสั้นได้

“เราพยายามพัฒนาและต่อยอดบริการให้มีความครอบคลุมในทุกมิติ ซึ่งการทำเรื่อง Machine Learning โดยใช้เทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าที่มีรายได้แน่นอนต่อเดือน ซึ่งเป็นฐานลูกค้าที่ใช้บริการกลุ่ม KPlus อยู่แล้ว ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อได้ โดยอนุมัติวงเงินขั้นต่ำ 3 หมื่นบาทต่อราย หรือสูงสุด 5 แสนบาท”

 

[caption id="attachment_133397" align="aligncenter" width="503"] ธนาเธียร อัจฉริยะ ธนาเธียร อัจฉริยะ[/caption]

| SCB ลงสนาม ธ.ค. |
นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Offer ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ไทยพาณิชย์ Privilege ซึ่งธนาคารเพิ่มสิทธิพิเศษที่คุ้มค่าแก่ลูกค้าที่ใช้บริการแอพพลิเคชัน SCB Easy โดยมีช่องทางปล่อยกู้สินเชื่อบุคคลผ่านแอพดังกล่าวประมาณเดือน ธ.ค. หรือ เดือน ม.ค. 2561

ในเบื้องต้น ธนาคารจะเริ่มพิจารณาจากลูกค้าที่ใช้บริการ SCB Easy อยู่แล้ว โดยไทยพาณิชย์ตั้งเป้ายอดผู้ใช้ 8 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2561 ขณะที่ เงื่อนไขในการอนุมัติวงเงินขึ้นอยู่กับเครดิตของลูกค้าแต่ละราย เพราะธนาคารจะเห็นข้อมูลของลูกค้าที่ใช้บริการ SCB Easy ทั้งผู้ที่เดินบัญชีหรือมีบัญชีเงินฝากและกลุ่มลูกค้าที่เคยใช้วงเงินกู้อยู่แล้ว ในหลักการปล่อยกู้จะเน้นความรวดเร็ว อนุมัติวงเงินสูงและอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ

“สมมติเป็นลูกค้าที่เคยใช้วงเงินอยู่แล้ว หรือ มีบัญชีเงินฝากหลายสิบล้านบาท แน่นอนเราจะปล่อยวงเงินกู้ให้ค่อนข้างสูง ถ้าเป็นสินเชื่อที่อนุมัติล่วงหน้า ถ้ายอมรับเงื่อนไขก็จะได้รับเงินกู้เร็วเป็นวินาที ขณะเดียวกัน เราเปิดกว้างสำหรับลูกค้ารายใหม่ที่ไม่เคยมีการทำธุรกรรมใน SCB Easy สามารถยื่นคำขอผ่านแอพนี้ได้ทั้ง 24 ชั่วโมง เหมือนเซเว่นอีเลฟเว่นเลย ซึ่งเราจัดทีมเพื่อตอบกลับภายใน 1 ชั่วโมง”


บาร์ไลน์ฐาน



| SCB Easy การเงินเรื่องง่าย |
อย่างไรก็ตาม ธนาคารไทยพาณิชย์ต้องการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ กับลูกค้า SCB Easy ซึ่งนอกจากบริการเช็กยอด ชำระเงิน หรือ โอนเงิน แล้ว ที่ผ่านมาได้เสิร์ฟบริการให้กับลูกค้า อาทิ กดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มไทยพาณิชย์โดยใช้รหัส ไม่ต้องใช้บัตร หรือ สิทธิพิเศษและส่วนลด เมื่อลูกค้าทำรายการโดยไม่ต้องสะสมคะแนน และไทยพาณิชย์คุ้มครองความเสียหายจากการใช้แอพนี้ ด้วยวงเงิน 1 แสนบาท เหล่านี้สะท้อนความพยายามที่จะเพิ่มฟีเจอร์ต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการตามพฤติกรรมของลูกค้า

รวมทั้งการผลักดัน SCB Easy App เป็นเครื่องมือสร้างประสบการณ์ลูกค้าสำหรับการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ตามยุทธศาสตร์ National e-Payment ของรัฐบาล ที่มุ่งสนับสนุนประชาชนและผู้ประกอบการใช้บริการช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาประเทศไทยในยุคดิจิตอลด้วย

 

[caption id="attachment_148051" align="aligncenter" width="335"] ปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)[/caption]

| BBL นำร่องเพย์โรลล์ |
นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า ธนาคารยังไม่เปิดให้บริการสินเชื่อผ่านแอพพลิเคชัน Bualuang mBanking เพราะเพิ่งเปิดทดลองทำตลาดกับกลุ่มลูกค้าที่เดินบัญชีเงินเดือนกับธนาคาร (Payroll) ซึ่งธนาคารเห็นกระแสเงินสดของลูกค้าผ่านธนาคารอยู่เกือบ 50% ของระบบ หรือ ประมาณ 2 ล้านบัญชี โดยธนาคารจะคัดเลือกลูกค้าจากบางบริษัท และเน้นกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้ตั้งแต่ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือนขึ้นไป และเมื่อวิเคราะห์ศักยภาพของลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้แล้ว จึงเสนอบริการดังกล่าวผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่มีอยู่

“ปลายปีนี้ เราจะสรุปผลว่า ลูกค้าตอบรับดีผ่านช่องทางไหน โดยต้นปีหน้าจะนำผลตอบรับดังกล่าวขยายบริการไปยังกลุ่มลูกค้าอื่น ๆ และช่องทางที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า”


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,313 วันที่ 12-15 พ.ย. 2560 หน้า 01-02



ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-34