กรมศุลกากรเร่งคลี่ปมสินค้าไทย-กัมพูชา

13 พ.ย. 2560 | 13:22 น.
กรมศุลฯชงครม.สัปดาห์นี้ขออนุมัติลงนามข้อตกลงสินค้าผ่านแดน“ไทย-กัมพูชา”ลั่นพร้อม 100% รับกฎหมายใหม่มีผลบังคับจันทร์นี้ มั่นใจไม่โกลาหล เหตุเปลี่ยนวิธีปฏิบัติงานเท่านั้น ขอ 3 เดือนรีเช็กผู้ประกอบการ

พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ศุลกากร พ.ศ.2560 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและสนับสนุนการลงทุน ด้วยการลดกระบวนการและพิธีการทางศุลกากรให้ความคล่องตัว และยังต้องการสร้างความโปร่งใสลดการทุจริตในการทำงานของเจ้าหน้าที่ศุลกากรด้วย

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ศุลกากรและสรรพสามิต ประเทศกัมพูชาได้มีหนังสือแจ้งผู้ประกอบการให้ทราบว่า ภายใต้กฎหมายกรมศุลกากรใหม่ จะไม่อนุญาตขนส่งสินค้าจากประเทศที่ 3 ข้ามผ่านไทยเข้าสู่กัมพูชา เนื่องจากทั้งไทยและกัมพูชายังไม่ได้ลงนามในเรื่องสินค้าผ่านแดนของทั้ง 2 ประเทศ จึงได้ออกหนังสือเตือนให้ผู้ประกอบการทราบเรื่องที่อาจจะไม่คาดคิดและเตรียมการรับมือกับเรื่องที่จะเกิดขึ้นได้

[caption id="attachment_230193" align="aligncenter" width="335"] กุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร[/caption]

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรมศุลกากรเตรียมลงนามร่วมกับกรมศุลกากรกัมพูชาเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม หลังจากได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม แต่กรมสนธิสัญญาได้ท้วงติงว่า การลงนามดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบแกตต์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจรวมหรือไม่ ซึ่งกรมศุลกากรต้องยืนยันกลับไปที่ครม.ใหม่ว่าเป็นวิธีปฏิบัติระหว่างกรมศุลกากรไทยกับกัมพูชาไม่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ

“ผมได้ยืนยันกลับไปที่เลขาฯคณะรัฐมนตรีไปแล้ว และคาดว่าน่าจะเข้าครม.อีกครั้งอังคารที่จะถึงนี้ (14 พ.ย.)และหากครม.อนุมัติก็จะบินไปลงนามกับกัมพูชาทันทีเลย แต่ในระหว่างที่ยังไม่ได้ลงนามผมได้แจ้งไปทางกัมพูชาแล้วว่า สามารถใช้กรอบใหญ่ตามข้อตกลงของแกตต์ ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศไปก่อนได้เพื่อไม่ให้การขนส่งสินค้าผ่านแดนสะดุด ซึ่งรวมถึงสินค้าผ่านแดนที่จะไปกัมพูชาและมาเลเซียด้วย”

นายกุลิศ กล่าวว่า ขณะนี้กรมศุลกากรมีความพร้อม 100% รับกับกฎหมายใหม่ที่จะเริ่มใช้ในวันจันทร์นี้ กฎหมายลูกทุกฉบับได้ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)ไปแล้ว ในส่วนที่เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการกำหนดพื้นที่เป็นเขตปลอดภาษี ส่วนที่เป็นอำนาจของกรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างการตรวจร่าง ซึ่งน่าจะเสร็จทุกอย่าง

นายกุลิศ กล่าวต่อว่า ระบบใหม่ๆที่จะเริ่มใช้ภายใต้กฎหมายใหม่นั้น จะมีเรื่องระบบการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐกับภาคธุรกิจ โดยจะมีการเชื่อมระบบใบกำกับรายการสินค้ากับการท่าเรือแห่งประเทศไทยในการใช้ระบบออนไลน์ ที่เรียกว่า e-matching เพื่ออำนวยความสะดวก ลดระยะเวลาในการส่งออก

นอกจากนั้นจะมีระบบที่เรียกว่า Pre arrival กรณีที่ของมากับเรือหรือเครื่องบิน กรมศุลกากรจะสามารถเช็กได้ทั้งหมดเลยว่า บริษัทนั้นหรือของนั้นเสี่ยงหรือไม่ ถ้าเสี่ยงสูงก็ต้องขอตรวจสอบ แต่ถ้าไม่จะสามารถเอาของออกไปได้เลย ซึ่งระบบนี้จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2561

บาร์ไลน์ฐาน “ขณะนี้พูดได้เลยว่า เราพร้อม 100% และไม่ต้องจัดเตรียม วอร์รูมจึงเชื่อว่าจะไม่เกิดการโกลาหลอย่างแน่นอน และหลังจากนั้น 3 เดือนเราจะส่งแบบ สอบถามผู้ประกอบการว่าอะไรที่ยังเป็นอุปสรรคอะไรที่ต้องปรับปรุงแก้ไข” นายกุลิศ กล่าว

นายกุลิศ กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ต้องการให้นำระบบ National single window มาใช้กับการนำเข้าสินค้าที่เป็นวัตถุอันตรายด้วย เพื่อลดระยะเวลาการนำของออก

“อย่างเมื่อของมาถึงท่าเรือ ก็ต้องขนของลงจากเรือ ในระหว่างรอใบอนุญาตก็ต้องมีค่าฝากของ ซึ่งคิดเป็นรายวัน ยิ่งนานก็ยิ่งจ่ายมาก แต่หากทำเป็นแบบฟอร์มเดียวและผ่านระบบออนไลน์ ก็ไม่ต้องไปวิ่งขอถึง 8 หน่วยงานใช้ฟอร์มเดียวส่งออนไลน์มาได้เลย เมื่อเราได้เลขที่ใบอนุญาตของแต่ละหน่วยงานก็สามารถปล่อยของ อาจจะภายใน 3-5 วัน ระบบนี้คาดว่าจะดำเนินการเสร็จภายใน 3 เดือน”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,313 วันที่ 12 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-34