ผู้ใช้รถรอเฮ!เบี้ยประกันลด แข่งเดือดเปิดศึกราคา LossRatio จ่อแตะ 62%

12 พ.ย. 2560 | 23:18 น.
ผู้ใช้รถรอเฮ เบี้ยประกันปีหน้ามีสิทธิ์ลดต่อเนื่อง เหตุแข่งขันรุนแรง ขณะสมาคมประกันวินาศภัยไทย ประเมิน อัตราค่าความเสียหาย หรือ Loss Ratio เพิ่มไม่หยุดคาดสิ้นปีแตะ 62% เผยปีหน้าประกันภัยรถยนต์ยังเป็นพระเอกตามยอดขายขยายตัว คาดโต 3.5-4%

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า สมาคมคาดการณ์การเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2561 ขยายตัวได้ดีขึ้นสอดคล้องกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินการเติบโตอยู่ที่ 3.8% คาดว่าเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงน่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 3.5-4% คิดเป็นมูลค่าเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงอยู่ที่ 2.26-2.28 แสนล้านบาท จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีเบี้ยอยู่ที่ 2.18-2.19 แสนล้านบาท โดยในช่วง 8 เดือนแรกเติบโตแล้ว 3.79% มีเบี้ยรับโดยตรงอยู่ที่ 1.43 แสนล้านบาท

[caption id="attachment_188797" align="aligncenter" width="333"] จีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย จีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย[/caption]

ทั้งนี้ปัจจัยการสนับสนุนการเติบโตจะมาจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น และการใช้จ่ายภาครัฐที่จะเริ่มเห็นการทยอยการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆได้ภายในไตรมาสที่ 1 ของปีหน้า จะเห็นการลงทุนของภาคเอกชนในการสร้างโรงงาน หรือบริโภคมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจประกันภัย เนื่องจากโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นย่อมมีความเสี่ยง ทำให้ภาครัฐและภาคธุรกิจต้องเข้ามาทำประกันภัยมากขึ้น ซึ่งเป็นอานิสงส์ต่อธุรกิจประกันโดยตรง

อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงต่อธุรกิจประกันภัยที่ต้องจับตามอง จะเป็นเรื่องของการส่งออก หากเศรษฐกิจโลกไม่ได้เป็นไปตามคาดการณ์ โดยเฉพาะสหรัฐฯและจีน หากการบริโภคลดลง อาจจะมีผลต่อภาคการส่งออกของไทยที่เป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เนื่องจากการส่งออกจะมีผลต่อการบริโภคของไทย ซึ่งจะผ่านการบริโภคในส่วนของรถยนต์และการบริโภคสินค้าทั่วไป ที่จะมีผลต่อภาคการผลิตและโรงงานหากได้รับผลกระทบจะมีผลต่อธุรกิจประกันภัยทางอ้อมเช่นกัน

MP24-3313-A “ปีหน้าถือเป็นปีทองอีกปีหนึ่งของธุรกิจประกันภัย หากมีปัจจัยมาสนับสนุนอาจเห็นการเติบโตได้ถึง 5% ส่วนการแข่งขันย่อมมีทุกธุรกิจ ส่วนจะรุนแรงมากหรือน้อยก็จะมีดัชนีชี้วัด ซึ่งบริษัทต่างๆ ต้องทำงานหนักเพื่อให้ต้นทุนมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะต้องยอมรับว่าราคาก็เป็นส่วนสำคัญให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจย้ายค่ายได้หากได้ราคาที่คุ้มกับความเสี่ยงมากกว่า ดังนั้นการแข่งขันด้านราคาคงเลี่ยงไม่ได้ แต่เชื่อว่าผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์มากที่สุดซึ่งจะสะท้อนผ่านอัตราค่าเฉลี่ยเบี้ยต่อกรมธรรม์ที่ถูกลง”

นางสาวจุฑาทอง จารุมิลินท เลขาธิการสำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มอัตราความเสียหาย (Loss Ratio) ธุรกิจประกันภัยยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มการประกันรถยนต์ทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ตัวเลขในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2556 อัตราความเสียหายอยู่ที่ 59.71% ปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 60.36% ปี 2558 เป็น 61.53% และปี 2559 อยู่ที่ 61.71% คาดว่าในปี 2560 อัตราความเสียหายจะแตะอยู่ที่ระดับ 62% แม้ว่าจะค่อนข้างปริ่มมาก แต่อัตราความเสียหายที่สามารถรับได้จะอยู่ที่ประมาณ 65%

บาร์ไลน์ฐาน อย่างไรก็ดีอัตราความเสียหายที่บริษัทประกันสามารถทนรับได้จะแตกต่างกัน แต่โดยภาพรวมไม่ควรเกิน 65% เนื่องจากเป็นอัตราที่ยังสามารถบริหารจัดการได้ให้อยู่ในกรอบที่พอจะมีรายได้ เนื่องจากอัตราค่าความเสียหาย 65% ที่เหลืออีก 35% จะเป็นค่าบริหารจัดการโดยจะแบ่งเป็นค่าคอมมิสชันประมาณ 18% ค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการ (Operating) อีกประมาณ 17% ทั้งนี้หากบริษัทสามารถบริหารให้อัตราความเสียหายไม่เกินกรอบที่ระดับ 62-65% จะเป็นผลดีต่อธุรกิจ ขณะที่อัตราความเสียหายการประกันภัยประเภทอื่นๆมีทิศทางคงที่

สำหรับภาพรวมการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2561 ประกันภัยรถยนต์ที่มีส่วนแบ่ง 58% ยังคงเป็นตัวดาวรุ่งและมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องตามยอดขายรถยนต์ที่เติบโตขึ้น โดยยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ 5.43 แสนคันโต 10.19% จากคาดการณ์ทั้งปี 8.3 แสนคัน หรือเติบโต 8% การเติบโตดังกล่าวสอดคล้องกับเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง รถยนต์ 8 เดือนแรกขยายตัว 3.75% มูลค่า 8.37 หมื่นล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,313 วันที่ 12 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-34