จี้ปิดช่องภัยโซเชียล จีดีพี-ดิจิตอลโตเร็วเข้าตาโจรไซเบอร์

14 พ.ย. 2560 | 03:57 น.
เอ็กซพีเรียน เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นระบบดิจิตอลในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เจาะ 3 ภาคธุรกิจสำคัญ ระบุญี่ปุ่น-นิวซีแลนด์นำโด่งคะแนนสูงสุด อินโดนีเซีย รั้งท้าย ด้านไทยติดอันดับ 8 ภาคการเงินเชื่อมั่นสูงสุด แนะเร่งป้องกันโจรกรรม หลังเศรษฐกิจโต-ดิจิตอลพัฒนาเร็ว

บริษัท เอ็กซพีเรียนเอเชียแปซิฟิกฯ เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นระบบดิจิตอล ที่รายงานข้อมูลเชิงลึกด้านการบริหารจัดการ การทุจริตประจำปี 2560 พบว่าอัตราการทุจริตในเอเชีย-แปซิฟิกกำลังอยู่ในขั้นรุนแรง และพบว่าการทุจริตในระดับรุนแรงจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเมื่อมีการใช้บริการระบบดิจิตอลมากขึ้น ส่งผลกระทบเชิงลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างมาก ทั้งนี้พบว่ามีผู้บริโภค 1 ใน 5 มีประสบการณ์ทุจริตโดยตรง และ 1 ใน 3 มีบุคคลใกล้ชิดได้รับผลกระทบ

นายนิค ไวลด์ หัวหน้าฝ่ายการป้องกันการทุจริตและอัตลักษณ์ บริษัท เอ็กซพีเรียน เอเชีย แปซิฟิกฯ กล่าวว่า ดัชนีชี้วัดสำคัญต่อแนวโน้มการทุจริตที่จะมีมากขึ้นหรือไม่นั้น สะท้อนมาจากความเชื่อมั่นของระบบดิจิตอล ซึ่งจากรายงานการสำรวจผู้บริโภค 3,200 คน องค์กรมากกว่า 80 แห่ง ที่มีรายได้แต่ละแห่งไม่น้อยกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในภาคการเงินโทรคมนาคม และค้าปลีก ครอบคลุม 10 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ภายใต้ตัวแปร 4 รูปแบบ ได้แก่ การใช้งานระบบดิจิตอล แนวโน้มการใช้งานในอุตสาหกรรม อัตราการทุจริต และประสิทธิภาพของบริษัทในด้านการบริหารการทุจริต

MP23-3313-A จากการศึกษาพบว่าความเชื่อมั่นต่อระบบดิจิตอลอยู่ในระดับตํ่าค่าเฉลี่ยภูมิภาคอยู่ที่ 3.2 จากคะแนนเต็ม 10 โดยธุรกิจโทรคมนาคมมีคะแนนตํ่าสุดที่ 2.14 และธุรกิจบริการทางการเงินมีคะแนนสูงสุดที่ 4.95 ธุรกิจค้าปลีกอยู่ที่ 2.40
ความเชื่อมั่นภาคการเงินประเทศที่มีคะแนนสูงสุด ได้แก่ นิวซีแลนด์ 8.02 ประเทศอินโดนีเซียตํ่าสุด 2.90 ธุรกิจโทรคมนาคม คะแนนสูงสุด ออสเตรเลีย 3.17 และอินโดนีเซียตํ่าสุด 0.53 และธุรกิจค้าปลีก คะแนนสูงสุดจะเป็นประเทศจีน 2.82 เวียดนามตํ่าสุด 1.81

ขณะเดียวกันพบว่าอินโดนีเซียและเวียดนาม มีรายงานผลการทุจริตสูงสุด 55% ส่วนนิวซีแลนด์และญี่ปุ่นคะแนนรวมดีที่สุดใน 3 ธุรกิจ และอันดับ 3 จะเป็นออสเตรเลีย

บาร์ไลน์ฐาน สำหรับประเทศไทยจากผลการศึกษาพบว่ามีระดับคะแนนใกล้เคียงกับภูมิภาค โดยมีคะแนนความเชื่อมั่นระบบดิจิตอลอยู่ที่ 2.3 ติดอันดับ 8 จาก 10 ประเทศ เทียบเท่าสิงคโปร์ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการเงินอยู่ที่ 3.8 ธุรกิจค้าปลีก 2.36 และธุรกิจโทรคมนาคม 0.81

ทั้งนี้บริษัทไม่พบการทุจริตในไทยที่ผิดปกติหรือแตกต่างจากประเทศอื่นมากนัก โดยรูปแบบการทุจริตยังคงเป็นการขโมยข้อมูลส่วนตัว หรือ Account Takeover เพื่อให้ได้ประโยชน์ทางการเงิน ผ่านการดูข้อมูลส่วนตัว เช่น เฟซบุ๊ก ไอจี หรือข้อมูลส่วนตัวร้านกาแฟ ซึ่งเป็นช่องโหว่ในการทุจริต เนื่องจากส่วนใหญ่จะใช้พาสเวิร์ดเดียวกัน

แม้ไทยยังไม่ใช่ประเทศเป้าหมายหลักของการโจรกรรมหรือทุจริต แต่จากแนวโน้มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่มีมากขึ้น และนโยบายที่ไทยพยายามผลักดันการใช้บริการผ่านช่องทางดิจิตอลนั้น จึงทำให้ไทยเป็นเป้าหมายของการก่อทุจริตเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นผ่านรูปแบบใหม่ๆได้ โดยที่ผ่านมาจากการสำรวจอัตราการทุจริตในไทยพบว่าคนไทยประมาณ 22% เคยได้รับผลกระทบจากการทุจริตโดยตรง และมากกว่า 1 ใน 3 หรือราว 35% ของกลุ่มตัวอย่างชาวไทยหรือบุคคลใกล้ชิด

อย่างไรก็ตามภายหลังจากบริษัทได้พบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเห็นว่าธปท.มีความตื่นตัวในเรื่องของการป้องกันการทุจริตควบคู่กับการพัฒนาดิจิตอล และพยายามผลักดันให้เกิดความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เช่นการจัดตั้งสนามทดสอบนวัตกรรม (SandBox) เพื่อให้สถาบันการเงินได้ทดลองก่อนจะนำมาใช้จริงในระบบ ถือเป็นเรื่องที่ดี หรือการใช้ระบบไบโอเมตริกลงทะเบียนซิมการ์ดโทรศัพท์ ถือเป็นเรื่องที่ดีต่อการรองรับการทุจริต แต่การป้องกันทุจริตจะใช้ดิจิตอลอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องใช้เครื่องมืออื่นผสมด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,313 วันที่ 12 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-34