ทำไม? 'คนไทย' ไม่นิยมลงทุนใน 'RMF'

12 พ.ย. 2560 | 10:32 น.
MP23-3313-1B ภาพรวมอุตสาหกรรมการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ในปี 2560 นี้ แปลกกว่าปีก่อนๆ ตรงที่ยอดรวมทั้งอุตสาหกรรมจนนับถึงเดือนกันยายน ยอด LTF ยังเป็นเงินไหลออกหรือยอดขายสุทธิอยู่ ผู้ที่ถือครองจนครบกำหนดเงื่อนไขหลายท่านมักจะขายทำกำไรออกมาในช่วงต้นปี ซึ่งปกติยอดรวมถึงเดือนกันยายนนี้น่าจะกลับเป็นซื้อสุทธิได้แล้ว

หลายคนก็วิเคราะห์กันไปว่าเพราะกฎหมายใหม่ที่บังคับระยะเวลาถือครองยาวขึ้นจาก 5 ปี เป็น 7 ปี อีกส่วนหนึ่งก็คงเป็นผลมาจากมาตรการของกรมสรรพากรที่ให้ส่วนลดหย่อนค่าใช้จ่ายต่างๆ มากขึ้นเพื่อนำไปหักภาษี บ้างก็ว่าดัชนีตลาดหลัก ทรัพย์ไทยขึ้นมาแรงมากคนเลยกลัวแพงไม่กล้าซื้อ แต่เนื่องจาก LTF มีกูรูทางการเงินการลงทุนหลายท่านเขียนวิเคราะห์แนะนำไว้มากแล้ว วันนี้ผมจึงอยากจะขอเขียนเรื่องพฤติกรรมการ(ไม่)นิยมลงทุนใน RMF ของคนไทยแทนแล้วกัน

กองทุน RMF ที่มาจากคำว่า Retirement Mutual Fund มีเงื่อนไขการถือครองที่ยาวนานกว่า LTF คือ ต้องถือจนครบอายุ 55 ปี ถึงสามารถไถ่ถอนได้โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ เด็กๆ อายุ 20-30 ปีกว่าๆ ที่เพิ่งเริ่มทำงานส่วนใหญ่ก็มักไม่ใช้สิทธิลงทุนใน RMF เพื่อนำไปหักภาษี เพราะคิดว่าต้องรอนานกว่า 30ปีถึงจะไถ่ถอนได้ พอมาวิเคราะห์ดูกลุ่มลูกค้าที่ลงทุนใน RMF ก็พบว่าส่วนใหญ่จะมีอายุกว่า 40 ปีขึ้นไป ส่วนกลุ่มลูกค้าหนุ่มสาวที่มีอายุ 20-40 ปีมักไม่นิยมลงทุนใน RMF โดยถ้ามองในมุมเม็ดเงินที่ลงทุนก็จะพบว่ายอดรวมของ LTF นั้นสูงกว่า RMF ถึงเกือบ 2 เท่าทั้งๆ ที่ LTF มีลูกค้าหลายท่านทยอยขายทำกำไรตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ RMFนั้นแทบไม่มีการขายเลยก็ยังมียอดรวมน้อยกว่ามาก

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1 จึงเกิดคำถามว่าทำไมคนไทยไม่นิยมลงทุนใน RMF? ซึ่งในทางกลับกันพบว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการออมระยะยาวเพื่อการเกษียณที่เขาเรียกกันว่า 401K จนเต็มเพดานทั้งๆ ที่เงื่อนไขผูกมัดของ 401K มีความคล้ายคลึงกับ RMF ของไทย คือ ต้องถือครองไปจนครบอายุเกษียณ 55 ปีเช่นกันโดยอันนี้น่าจะมาจากการแนะแนวและการปลูกฝังความคิดเรื่องการออมเพื่อการเกษียณตั้งแต่ยังอยู่ในโรงเรียน พอเริ่มทำงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลและสวัสดิการพนักงานก็จะให้ความรู้กับพนักงานใหม่ว่าควรลงทุนจนเต็มเพดานเพื่อลดภาษี ที่นำมาเล่าให้ท่านฟังเพื่ออยากให้ทราบว่าเขาแนะนำกันอย่างไร

ข้อแรกเลยคือ “ภาษียิ่งเสียน้อยยิ่งดี ยิ่งเสียช้ายิ่งดี” แน่นอนทุกคนอยากเสียภาษีน้อยที่สุด แต่เราเองก็ไม่อยากผูกมัดเงินไปอีกกว่า 30 ปี บริษัทฝรั่งจะสอนพนักงานของเขาเลยว่า หาก “จำเป็น” ต้องถอนเงินออกจากกองทุนก็สามารถถอนได้ แต่ต้องไปเสียภาษีในปีที่ถอนออก และถ้าหากเรา “จำเป็น” จริงๆ ก็แสดงว่าเราไม่มีรายได้หรือมีรายได้น้อย ฐานในการคำนวณภาษีในปีที่ถอนออกและต้องไปคำนวณภาษีนั้นก็จะไม่สูง เพราะภาษีเงินได้เป็นแบบอัตราก้าวหน้า คือ รายได้ยิ่งสูงยิ่งเสียมาก เพราะฉะนั้นภาษียิ่งเสียช้าเท่าไหร่ก็ยิ่งดีจะไปเสียปีนี้เลยทำไม ออมไปก่อนสิลงทุนใน RMF ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยไปเลย เพื่อนๆ ชาวต่างชาติของผมที่เริ่มงานพร้อมกันๆ ต่างก็เลือกออมเงินจนเต็มพิกัดที่สรรพากรให้ลดหย่อนกันเลยทีเดียว

ข้อ2 ที่เน้นคือ “ออมก่อนรวยกว่า” การอบรมพนักงานใหม่ของบริษัทจะมีการแนะนำการออมเงินและลงทุน โดยทำกราฟมาให้เห็นเลยว่าการออมเพียงเดือนละไม่มาก เมื่อรวมกับดอกผลทบต้นไปหลายสิบปีนั้นจะยิ่งทำให้เงินงอกเงยเป็นจำนวนมากในยามที่เราแก่ตัวลง และอาจเป็นเพราะช่วงที่ผมเริ่มทำงานนั้น เป็นช่วงเวลาที่เปลี่ยนจากระบบสวัสดิการหลังเกษียณที่บริษัทจะกำหนดตายตัวว่าผู้เกษียณจะได้ 50% ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย (define benefits) มาเป็นระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบปัจจุบันคือ ต่างคนต่างออม โดยที่ลูกจ้างจ่ายส่วนหนึ่งและบริษัทสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง แต่ไม่รับรองว่าท้ายที่สุดแล้วจะได้เท่าไหร่ ใครที่เลือกลงทุนเก่งก็มีสินทรัพย์เยอะยามเกษียณ (define contribution) ในปัจจุบันบริษัทต่างๆ มักจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเพราะมีเป้าหมายคือต้องการให้พนักงานมีเงินสะสมเพียงพอในยามเกษียณ

บาร์ไลน์ฐาน และแม้บริษัทในสหรัฐฯ จะมีทางเลือกในการลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากมาย หรือแบบที่เราเรียกกันว่า employee choices ฝ่ายบุคคลก็มักจะยํ้ากับเด็กเข้าใหม่เสมอว่าควรลงสินทรัพย์เสี่ยงเยอะๆ เพราะในระยะยาวแล้ว หุ้นก็ยังให้ผลตอบแทนที่ชนะสินทรัพย์อื่นอยู่ดี ถึงแม้จะรวมปีที่ติดลบหนักๆ แล้วก็ตาม

จากเรื่องนี้เราจะเห็นว่าเขาปลูกฝังและให้ความรู้เรื่องการลงทุนอย่างจริงจัง เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้วจะรออะไรล่ะครับ รีบไปใช้สิทธิของท่านในการลงทุนกับกองทุน RMF และใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเต็มอัตราสูงสุด อย่าลืมนะครับ “ออมก่อนรวยกว่า” และ “ภาษียิ่งเสียน้อยยิ่งดี ยิ่งเสียช้ายิ่งดี”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,313 วันที่ 12 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-34