‘เพซ’ ช้ำ! ส่อถูกแก้งบ กดดันส่วนของทุน | นักวิเคราะห์แนะหลีกเลี่ยง จับตาเพิ่มทุน

20 พ.ย. 2560 | 08:02 น.
1501

PACE มีโอกาสถูกสั่งแก้งบการเงิน รับรู้รายได้มากไป ผิดหลักการลงบัญชี ขายหุ้นเพิ่มทุนมโหฬาร เกิดไดลูชัน 70% ขายต่ำกว่าพาร์ เกิดส่วนต่ำมูลค่าหุ้น กดดันส่วนของผู้ถือหุ้น เผย ภาระหนี้ครบดีล 12 เดือนข้างหน้า 1.55 หมื่นล้าน


แหล่งข่าวจากวงการผู้ตรวจสอบบัญชี เปิดเผยว่า การที่ บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE มีกำไรสุทธิถึง 5,310 ล้านบาท ในไตรมาส 2/2560 ถือว่า ‘ผิดปกติมาก’ เมื่อเปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ซึ่งประสบปัญหาขาดทุนมานาน ทำให้เป็นเป้าหมายในการตรวจสอบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย-สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในเรื่องของการบันทึกบัญชี และขอให้บริษัทชี้แจงข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง


MP17-3313-A

“มีความเป็นไปได้สูง ที่ บริษัท เพซฯ จะถูกให้แก้ไขงบการเงินงวดไตรมาส 2/2560 โดยเฉพาะเรื่องการรับรู้รายได้ ซึ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะรับรู้ได้เมื่อมีการโอนให้ลูกค้า แต่ PACE มีการรับรู้รายได้ตามงวดงานที่เสร็จ รวมถึงการดำเนินงานของ บริษัท ดีน แอนด์ เดลูก้าฯ อีกส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ การเจรจาขายหุ้น บริษัท ดีน แอนด์ เดลูก้าฯ ไม่สำเร็จ” แหล่งข่าว กล่าว

ส่วนการ ‘เพิ่มทุน’ ครั้งมโหฬารครั้งนี้ บริษัทจะได้รับเงินทั้งสิ้น 11,472 ล้านบาท นักวิเคราะห์คาดว่า ‘การเพิ่มทุนจดทะเบียน’ ขายผู้ถือหุ้นเดิม จำนวน 3,758 ล้านหุ้น สัดส่วน 1 ต่อ 2 ราคาหุ้นละ 0.50 บาท และแจกใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้น ชุดที่ 1 (PACE-W1) จำนวน 1,503 ล้านหน่วย อายุ 6 เดือน แปลงเป็นหุ้น 1 ต่อ 1 ราคา 0.80 บาท จะส่งผลไดลูชันประมาณ 70.58% นอกจากนั้น การขายในราคาต่ำกว่ามูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท ทำให้มีส่วนต่ำมูลค่าหุ้นและส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง


บาร์ไลน์ฐาน

ทางด้านผลการดำเนินงาน บริษัทประสบปัญหาการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) และอัตราผลตอบแทนจากทรัพย์สิน (ROA) ติดลบมาตลอด นับตั้งแต่หุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามเกณฑ์มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2556 ส่วนราคาหุ้นที่ทรุดลงเหลือไม่ถึง 1 บาท ส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ ณ วันที่ 15 มี.ค. 2560 บริษัทมีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 3,779 ราย คิดเป็นสัดส่วน 47.57% โดย ‘กลุ่มเตชะไกรศรี’ ถือหุ้นใหญ่รวมกันเกือบ 50%

สำหรับภาระหนี้สินที่เป็น ‘หุ้นกู้’ ถึงกำหนดต้องจ่ายคืนภายในปี 2560-2561 รวมมูลค่า 4,723 ล้านบาท ส่วนหุ้นกู้ที่เสนอขายภายในปีนี้ มูลค่า 1,219 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 6.5% ต่อปี จะครบกำหนดภายในปี 2563 ภาระหนี้ระยะสั้น ตั๋วเงิน และหุ้นกู้ระยะสั้น ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2560 มียอดคงค้าง 1,570 ล้านบาท

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1

นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)ฯ แนะนำให้ ‘หลีกเลี่ยง’ หุ้น PACE และเปลี่ยนตัวลงทุนไปยังหุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่มีพื้นฐานดีแทน เช่น AP, ANAN, SPALI, LH จากการวิเคราะห์เชิงปริมาณ ส่วนผู้ถือหุ้น ณ สิ้นไตรมาส 2/2560 จำนวน 6,900 ล้านบาท มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น 1.84 บาท หากเพิ่มทุนสำเร็จจากการขายหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นเดิม นักลงทุนเฉพาะเจาะจง (พีพี) และ PACE-W1 ไม่รวม PACE-W2 ส่วนผู้ถือหุ้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 13,299 ล้านบาท มูลค่าทางบัญชีลดลงมาอยู่ที่ 0.93 บาท ใกล้เคียงกับราคาหุ้นที่ปรับลงมาอยู่บริเวณ 0.96 บาท

อย่างไรก็ตาม ในกรณีไม่ดี (Worst Case) ทาง ก.ล.ต. ให้แก้ไขงบการเงิน ถอดกำไรพิเศษจากการลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทย่อย จำนวน 8,900 ล้านบาท ออก ส่วนผู้ถือหุ้นหลังปรับปรุง ติดลบ 1,960 ล้านบาท และเมื่อรวมผลการเพิ่มทุนสำเร็จ ส่วนผู้ถือหุ้นจะเพิ่มเป็น 4,400 ล้านบาท มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นลดลงมาที่ 0,31 บาท

ส่วนการวิเคราะห์ในเชิงคุณภาพ บริษัทมีหนี้เงินกู้ที่ต้องชำระใน 12 เดือนข้างหน้า จำนวน 1.55 หมื่นล้านบาท แต่เงินจากการขายสินทรัพย์รวมกับการเพิ่มทุน ประมาณ 1.82 หมื่นล้านบาท (ขายโครงการได้เงิน 1.18 หมื่นล้านบาท และเพิ่มทุน-ไม่รวม PACE-W2 ได้เงิน 6,400 ล้านบาท) นับว่า เพียงพอที่จะไม่มีปัญหาเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ แต่หากเพิ่มทุนไม่สำเร็จ สถานการณ์ก็จะแย่ลง ซึ่งจะต้องติดตามต่อไป ส่วนการเติบโตในอนาคตก็มีแนวโน้มจะด้อยลง เพราะโครงการที่ดีได้ถูกขายออกไปแล้ว


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,313 วันที่ 12-15 พ.ย. 2560 หน้า 17

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-34