ไล่เช็กบิล‘ทักษิณ’ ชงศาลพิจารณา4คดีลับหลัง

15 พ.ย. 2560 | 09:49 น.
ทันทีที่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 (พ.ร.ป.คดีอาญาการเมือง) มีผลบังคับใช้ให้ศาลสามารถพิจารณาคดีลับหลังได้โดยไม่จำเป็นต้องมีจำเลยมาขึ้นศาล องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้เดินหน้ารื้อคดีที่คั่งค้างอยู่ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ประกอบด้วย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ฟ้องนายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยตํ่าของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ ให้กับรัฐบาลเมียนมา วงเงิน 4,000 ล้านบาท ในโครงการปรับปรุงระบบโทรคมนาคมของเมียนมาเพื่อเอื้อประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียมให้สั่งซื้ออุปกรณ์จากบริษัท ชิน แซทเทล ไลท์ฯ และบริษัทในเครือตระกูลชินวัตร ซึ่งคดีนี้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่านายทักษิณ ซึ่งเป็นจำเลยได้รับหมายเรียกแล้วแต่ไม่มาฟังการพิจารณาคดีโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง พฤติการณ์จึงมีเจตนาจะหลบหนี ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว และให้ออกหมายจับจำเลยมาเพื่อพิจารณาคดีต่อไป

TP06-3313-A1 อีกคดี คือ การทุจริตโครง การออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว (คดีหวยบนดิน) โดยนายทักษิณ อดีตนายกฯ เป็นจำเลยที่ 1 มีคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ เป็นจำเลยที่ 2-30 คณะผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นจำเลยที่ 31-47 ในฐานความผิด เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อหรือจัดการทรัพย์ ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของคนอื่นโดยทุจริต เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการดูแลกิจการ เข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อผลประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จ่ายทรัพย์ จ่ายเกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์ตนเองหรือผู้อื่น เป็นเจ้าพนักงานที่แสดงว่ามีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร เรียกเก็บโดยทุจริตหรือละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบ ซึ่งในส่วนของนายทักษิณ ศาลสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว เนื่องจากหนีคดี

ขณะที่ในส่วนของ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งที่ 1621/2560 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2560 โดยนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด ลงนามแต่งตั้งคณะทำงานมีนายพรศักดิ์ ศรีณรงค์ รองอัยการสูงสุด เป็นประธานคณะทำงาน เพื่อพิจารณารายละเอียดข้อกฎหมายใน 2 คดี ประกอบด้วย

คดีทุจริตออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือและดาวเทียมเป็นภาษีสรรพสามิต เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบริษัท ชินคอร์ปฯ ทำรัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว, เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่น, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

คดีทุจริตปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทยให้แก่กลุ่มกฤษดามหานคร ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับรัฐ 9.9 พันล้านบาท โดยนายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1 และพวกอีก 27 ราย ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดในอีกหลายมาตรา ซึ่งศาลได้ตัดสินจำคุกและปรับจำเลยที่เกี่ยวข้องในคดีหลายราย แต่ในส่วนของนายทักษิณ ศาลพิจารณาเห็นว่า อดีตนายกรัฐมนตรีได้รับทราบนัดโดยชอบแล้วแต่ไม่มาฟังการพิจารณาคดี มีเหตุให้สงสัยว่า จะหลบหนีให้ออกหมายจับและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว

ความคืบหน้าล่าสุด คณะทำงานชุดดังกล่าวพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างทำบันทึกส่งให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ หากพิจารณาแล้วเห็นสมควรว่าจะยื่นคำร้องขอให้มีการพิจารณาคดีที่ชะงักไว้ในศาลฎีกาฯ ก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลได้เลย

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1 สำหรับคดีทุจริตปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย นั้น ยังเชื่อมโยงกับ นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายด้วย โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้มีหนังสือถึง กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เพื่อส่งข้อมูลและแจ้งผลการดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิด กรณีผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) อนุมัติสินเชื่อให้แก่กลุ่มบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) โดยมิชอบ โดยขอให้ดีเอสไอตรวจสอบผู้ที่รับโอน หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดจำนวน 10 ล้านบาท และ 26 ล้านบาท ตามลำดับ รวม 4 ราย คือ 1.นายพานทองแท้ ชินวัตร 2.นางเกศินี จิปิภพ 3.นางกาญจนาภา หงษ์เหิน และ 4.นายวันชัย หงษ์เหิน

ทั้งนี้ ดีเอสไอ ได้รับไว้เป็นคดีพิเศษที่ 25/2560 กระทั่งพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้พิจารณาพยานหลักฐานแล้วเห็นชอบร่วมกันว่า มีพยานหลักฐานตามสมควรที่จะแจ้งข้อกล่าวหากลุ่มบุคคลดังกล่าวข้างต้นในข้อหา “สมคบกันโดยตกลงกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ร่วมกันฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบแล้ว” ตามมาตรา 5, มาตรา 9 วรรค 1, วรรค 2 แห่งพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ออกหมายเรียกให้บุคคลดังกล่าวเข้าพบเพื่อรับทราบข้อหาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี หลังได้รับหมายเรียกบุคคล 4 รายได้ขอเข้าพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้สอบสวนปากคำไว้ โดยผู้ต้องหาทั้ง 4 ประสงค์จะส่งเอกสารเพื่อประกอบการแก้ข้อกล่าวหา และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ซึ่งจะนำมามอบให้โดยเร็ว สำหรับคดีนี้จะหมดอายุความในปี 2561

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,313 วันที่ 12 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-34