คอมเซเว่นผุดแฟรนไชส์ค้าปลีกไอที หนุน SMEs แจ้งเกิดธุรกิจ

16 พ.ย. 2560 | 04:39 น.
คอมเซเว่น ผุดโมเดลแฟรนไชส์ค้าปลีกไอที-สมาร์ทโฟน ภายใต้แบรนด์ “BananaStore.com” เปิดให้เอสเอ็มอีเป็นเจ้าของธุรกิจ ชูความเสี่ยงตํ่า ไม่ต้องสต๊อกสินค้า ตั้งเป้าแจ้งเกิดปีแรก 200 ร้านค้า รายได้รวมกันกว่า 3,000 ล้านบาท พร้อมผนึกกสิกร หนุนเงินลงทุนเงื่อนไขพิเศษ

นายสุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทคอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าขณะนี้บริษัทมีความพร้อมในการขยายธุรกิจในรูปแบบของแฟรนไชส์ค้าปลีกไอทีและสมาร์ทโฟน ภายใต้โครงการ Franchise by COM7 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการเริ่มธุรกิจ ด้วยวิธีที่ง่ายขึ้น โดยมีคอมเซเว่นช่วยบริหารจัดการและจัดส่งสินค้าไอทีให้ทั้งหมด ใช้แบรนด์ BananaStore.com ในการทำ แฟรนไชส์ครั้งนี้ พร้อมทั้งออกแบบ และตกแต่งร้านค้าในรูปแบบเดียวกันทุกสาขา โดยมีธนาคารกสิกรไทย ให้การสนับสนุนเงินทุนในการทำธุรกิจ สำหรับเอสเอ็มอีที่ไม่มีเงินทุน หรือเงินทุนจำกัด

[caption id="attachment_67980" align="aligncenter" width="335"] สุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) สุระ คณิตทวีกุล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน)[/caption]

ทั้งนี้ในการลงทุนแฟรนไชส์ BananaStore.com ใช้เม็ดเงินลงทุนเริ่มต้น 7 แสน-1.2 ล้านบาท ซึ่งจากการศึกษา โดยรูปแบบร้านจะเป็นแบบสแตนด์อะโลน มีพื้นที่ร้านประมาณ 1-2 คูหา ซึ่งผู้ประกอบการจะมีรายได้ประมาณ 1-3 ล้านบาทต่อเดือน สามารถคืนทุนได้ภายในระยะเวลา 7 เดือนถึง 3 ปี โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความเสี่ยงตํ่า ไม่ต้องเก็บสต๊อกสินค้า และสินค้าทั้งหมดในร้านเป็นของคอมเซเว่น หากขายไม่ได้ ก็สามารถคืนได้ทั้งหมด และใช้งบลงทุนเริ่มต้นเพียง 7 แสน-1.2 ล้านบาท ด้วยขนาดร้านพื้นที่ประมาณ 1-2 คูหา โดยบริษัทมุ่งเน้นการขยายสาขารูปแบบดังกล่าวไปในอำเภอรอง หรืออำเภอที่ยังไม่มีร้านสาขาของคอมเซเว่นตั้งอยู่ โดยวางเป้าหมายภายในปี 2561 จะมีลูกค้าให้ความสนใจจำนวน 200 ร้านค้า ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจติดต่อมาแล้ว 50 ราย และคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้จากธุรกิจแฟรนไชส์ในปี 2561 หรือมีรายได้ผ่านร้าน BananaStore.com รวมกันมากกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี

“ที่ผ่านมามีผู้สนใจติดต่อสอบถามให้เราเปิดขายสิทธิ์แฟรนไชส์มาตลอด แต่เรามองว่ายังไม่พร้อม โดย 3 ปีที่แล้วเราเชี่ยวชาญการขายโน้ตบุ๊ก 2 ปีที่แล้วเพิ่งเริ่มทำตลาดสมาร์ทโฟน มาวันนี้ยอดขายสมาร์ทโฟนของบริษัทขึ้นมาติดท็อป 3 ของผู้ผลิตแต่ละแบรนด์ ทำให้ต้นทุนเราไม่ต่างจากผู้ค้าปลีกสมาร์ทโฟน และเรามองว่าร้านค้าปลีกสินค้าไอทีไม่มีโปรดักต์ครอบคลุมเหมือนเรา โดยมีทั้งโน้ตบุ๊ก แอปเปิล และ สมาร์ท โฟนหลาหลายแบรนด์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,313 วันที่ 12 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-34