ผ่าตัดใหญ่! ‘นกแอร์’ ยกเครื่องธุรกิจพ้นปากเหว

12 พ.ย. 2560 | 10:24 น.
แม้ผลประกอบการของสายการบินนกแอร์ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ยังขาดทุนบักโกรก 1,628 ล้านบาท แต่นับว่าเป็นตัวเลขที่ลดลง หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนอยู่ 2,110 ล้านบาท รวมทั้งการขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมรอบ 2 เมื่อวันที่ 16-20 ตุลาคมที่ผ่านมา ยังได้รับความสนใจซื้อหุ้นเกินจำนวนมากว่า 2.6 ล้านหุ้น คิดเป็น 2 เท่าของหุ้นที่เปิดขายทั้งหมด 1,135 ล้านหุ้นและสามารถระดมเงินจากการเพิ่มทุนในครั้งนี้กว่า 1,703 ล้านบาท ต่อลมหายใจและใช้เป็นเงินหมุนเวียน และพลิกฟื้นธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว

**เพิ่มทุนครบ 3 พันล้าน
การเพิ่มทุนครั้งนี้เท่ากับกระตุ้นชีพจรนกแอร์ที่ใกล้จะหยุดเต้นให้กลับมาฟื้นอีกครั้ง แต่คำถามที่ตามมาคือเงินที่ใส่ไปแล้วจะทำให้นกแอร์อยู่ได้ไปนานแค่ไหน หรือทำอย่างไรให้เงินที่ลงทุนไปนั้นต่อยอดให้นกแอร์กลับมาเติบโตได้อย่างมั่นคงอีกครั้ง นี่จึงเป็นเหตุผลที่การ บินไทยและผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง “กลุ่มจุฬางกูร” เปิดใจหารือนอกรอบเคลียร์ความชัดเจนจนนำมาสู่การผ่าตัดครั้งใหญ่ จนการบินไทยตัดสินใจยอมเพิ่มทุนรอบ 2 แม้จะเหลือหุ้นที่ถือในนกแอร์อยู่ 21.5% เบ็ดเสร็จหากรวมกับการเพิ่มทุนในครั้งแรกไปแล้ว นกแอร์ ได้รับเงินจากการเพิ่มทุนรวมแล้วกว่า 3 พันล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามแผนความต้องการใช้เงินที่วางไว้

การผ่าตัดใหญ่นกแอร์เกิดขึ้น หลังดึงลูกหม้อ “ปิยะ ยอดมณี” มานั่งเป็นซีอีโอแทน “พาที สารสิน” ทั้งมีการปรับเปลี่ยนองคาพยพครั้งใหญ่ตั้งแต่ระดับนโยบาย ไปจนถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานในองค์กร เพื่อทำงานบรรลุตามแผนพลิกฟื้นธุรกิจ (Turnaround Plan) ที่ให้นกแอร์กลับมามีกำไรอีกครั้ง

**ตั้งบอร์ดร่วมกำกับแผนฟื้นฟู
ในระดับนโยบายบอร์ดนกแอร์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร (Executive Committee)ขึ้นมาดูแลการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูอย่างใกล้ชิด ตลอดทั้งการปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการให้รวดเร็ว และมีประสิทธิ ภาพยิ่งขึ้น ซึ่งมี “ประเวช องอาจสิทธิกุล” เป็นประธาน เพื่อให้การดำเนินงานภายในบริษัท เกิดความคล่องตัว ตลอดทั้งให้มีการกลั่นกรองเรื่องของงานในด้านต่างๆ ให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งกรรมการชุดดังกล่าวมีตัวแทนจากกลุ่มจุฬางกูร 2 คน ตัวแทนจากการบินไทย คือ “อุษณีย์ แสงสิงแก้ว” รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย และมีฝ่ายบริหารของนกแอร์ 4 คนที่มาจากฝ่ายต่างๆ ได้แก่ ซีอีโอนกแอร์,ฝ่ายปฏิบัติการ,สายการพาณิชย์ และซีเอฟโอของนกแอร์ รวมไปถึงการมีการจัดตั้งคณะกรรมการของบริษัท ในเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท (Corporate Governance) เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน

[caption id="attachment_229867" align="aligncenter" width="503"] ปิยะ ยอดมณี ปิยะ ยอดมณี[/caption]

สำหรับการบริหารงานภายใต้บังเหียน ซีอีโอใหม่ “ปิยะ” ก็มีการปรับเปลี่ยนฝ่ายบริหารในองค์กรหลายด้าน โดยเฉพาะฝ่ายการพาณิชย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และที่สำคัญคือภารกิจการขับเคลื่อนแผนพลิกฟื้นธุรกิจ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ 1.ลดการขาดทุนภายใน 6 เดือน ปลดระวางเครื่องบินเก่าอายุงาน 14-16 ปีจำนวน 5 ลำออกจากฝูงบินเพื่อลดค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุง ขยายการใช้งานเครื่องบินเพิ่มเป็น 11 ชั่วโมงและบินไกลขึ้น เป้าหมายมุ่งเมืองอันดับ 2 และ 3 ของจีน

2.ช่วงสร้างความพร้อมในการเดินไปข้างหน้าให้มีประ สิทธิภาพ นับตั้งแต่ปี 2561 ถึงต้นปี 2562 และ 3.เป็นแผนที่จะกลับไปขยายเส้นทางบินอีกครั้งช่วงปลายปี 2562-2563 ซึ่งจะรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX 8 ลำ ที่จะทยอยเข้ามาในปี 2562 เพื่อนำมาใช้บินในเส้นทางบินสู่ประเทศจีน

“เงินที่ได้จากการเพิ่มทุนจะนำมาใช้เสริมสภาพคล่อง เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามแผนพลิกฟื้นธุรกิจ เช่น การปรับปรุงฝูงบิน รองรับขยายเส้นทางการบินใหม่ วางสัดส่วนเส้นทางบินในประเทศ 60% ระหว่างประเทศ 40% โดยเน้นที่จีน ปัจจุบันเส้นทางจีนทำรายได้ 20% จากการบินเช่าเหมาลำกว่า 19 จุดบิน

ช่วง 6 เดือนนี้จะเพิ่มจุดบินจีนอีก 6 เส้นทางทั้งยังจะทยอยปรับ 10 เส้นทางจากการเปิดบินแบบเช่าเหมาลำมาทำการบินแบบประจำในช่วงไตรมาสแรกปีหน้า โดยร่วมกับพันธมิตรธุรกิจท่องเที่ยวจีนที่อยู่ในไทยและพัฒนาระบบเพย์เมนต์ร่วมกับอาลีเพย์ รวมถึงหารือกับ สไปซ์เจ็ท สายการบินต้นทุนตํ่าของอินเดีย ในการขยายจุดบินไปยังอินเดีย คาดว่าปีหน้าผลประกอบการของนกแอร์จะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” ปิยะกล่าว

บาร์ไลน์ฐาน **ผุด 3 โปรดักต์ดันยอดขาย
อย่างไรก็ดีนกแอร์ยังเปิดตัวจุดขายใหม่ เพื่อให้ตอบสนองกลุ่มลูกค้าทุกไลฟ์สไตล์ โดยเปิดตัวบัตรโดยสาร 3 ประเภท ได้แก่ 1.บินเบาๆ (Nok Lite) ที่ตอบโจทย์ผู้เดินทางมีเพียงสัมภาระติดตัวขึ้นเครื่องไม่เกิน 7 กิโลกรัม 2.บินสบาย (Nok X-tra) ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการโหลดกระเป๋าขึ้นเครื่องฟรี 15 กิโลกรัมบินในประเทศ 20 กิโลกรัมบินต่างประเทศ และ 3.บินเพลิดเพลิน (Nok MAX) ตอบโจทย์ผู้โดยสารที่ต้องการโหลดสัมภาระขึ้นเครื่อง โดยจะได้รับนํ้าหนักสัมภาระ 15 กิโลกรัมสำหรับภายในประเทศ และ 20 กิโลกรัมสำหรับเส้นทางต่างประเทศ พร้อมรับบริการอาหารร้อนบนเที่ยวบิน

นอกเหนือจากนี้ยังมีบริการเสริม เช่น นกฮอลิ-เดย์ ที่จะขายห้องพักและกิจกรรมท่องเที่ยวแก่ผู้โดยสาร นกพรีเมียมซีท เพิ่มสิทธิพิเศษเช็กอินช่องทางพิเศษขึ้น เครื่องก่อน ไม่ต้องรอกระเป๋า นาน นกคาร์ ที่บริการรถเช่า นกชวนชิม ที่ขายเมนูอาหารร้อนบนเครื่องบิน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มรายได้นอกจากขายตั๋วเครื่องบินและรายได้จากบริการเสริม ให้เพิ่มขึ้นเป็น 15% จากเดิมที่ไม่เคยทำมาก่อน

ทั้งหมดล้วนเป็นความพยายามอีกเฮือกของนกแอร์ที่จะอยู่ให้รอด !!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,313 วันที่ 12 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว