‘3รสก.ท่องเที่ยว’รับโบนัสอู้ฟู่ ทอท.นำโด่งจ่าย7.5เดือน วิทยุการบิน4เดือน

16 พ.ย. 2560 | 03:30 น.
3 รัฐวิสาหกิจ ควักจ่ายโบนัส-เงินรางวัลตอบแทนพิเศษ ทอท.ได้ 7.5 เดือนเท่าปีที่แล้ว แม้ 6 สนามบินโตทุกด้าน หวั่นข้อครหา ทั้งยังกันเงินไว้ลงทุนในปีงบ ประมาณ 61 ด้าน บวท. จ่ายเงินตอบแทน 4 เดือน ส่วนททท. จ่อให้สูงสุดไม่เกิน 2 เดือน

จากการสำรวจของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า หลังการปิดงบประมาณปี 2560 ในขณะนี้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ เริ่มมีการแจ้งการจ่ายโบนัส และเงินรางวัลตอบแทนพิเศษในการทำงานให้แก่พนักงานกันบ้างแล้ว

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในขณะนี้มี 2 หน่วยงานด้านการขนส่งทางอากาศของกระทรวงคมนาคม ได้แจ้งการจ่ายโบนัส และเงินรางวัลตอบแทนพิเศษ ให้แก่พนักงานแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท. โดยปีนี้จ่ายโบนัสอยู่ที่ 7.5 เดือนเท่ากับปีที่ผ่านมา แม้ผลการดำเนินงานด้านการให้บริการของสนามบินทั้ง 6 แห่งของทอท.จะขยายตัวเพิ่มขึ้นหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลต่อผลประกอบการในงบประมาณปี 2560 ที่เพิ่มขึ้นก็ตาม เนื่องจากฝ่ายบริหารมองว่าเหมาะสม และไม่อยากให้ถูกข้อครหาที่เหมือนในอดีตที่เคยจ่ายโบนัสมากถึง 11 เดือน รวมถึงยังต้องการกันเงินสำหรับโครงการลงทุนขยายสนามบินต่างๆ ในช่วงงบประมาณปี 2561

ส่วนการจ่ายปันผลของผู้ถือหุ้นของทอท.ยังไม่ได้ประกาศ เนื่องจากต้องรอการรับรองงบผลประกอบการจากสำนักงานการตรวจ เงินแผ่นดินหรือสตง.ก่อน และ จะแจ้งได้หลังการประชุมบอร์ดทอท.ในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้

นอกจากนี้ทางบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทยฯ (บวท.) ก็ได้จ่ายเงินรางวัลตอบแทนพิเศษสำหรับการทำงานในปีนี้ให้พนักงานอยู่ที่ 4 เดือน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงาน

ในส่วนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านการท่องเที่ยว นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การให้เงินโบนัสแก่พนักงานของททท.ในปีนี้ เรากำหนดไว้ว่าจะไม่เกิน 2 เดือน ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงาน

niti นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.กล่าวถึงผลการดำเนินงานด้านการให้บริการในงบประมาณปี 2560 (ตุลาคม 2559- กันยายน 2560) ของทอท.ว่า ปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท.ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศ ยานภูเก็ต, ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย มีการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียว กันของปีที่ผ่านมาในทุกด้าน

โดยปริมาณเที่ยวบินที่ใช้บริการรวมทั้ง 6 สนามบิน มีทั้งสิ้น 823,574 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือเฉลี่ย 2,250 เที่ยวบินต่อวัน แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 415,338 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 3.13% และเที่ยวบินภายในประเทศ 408,236 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 9.10% สำหรับผู้โดยสารที่ใช้บริการมีทั้งสิ้น 129.20 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.73% หรือเฉลี่ย 354,000 คนต่อวัน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 72.54 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.57% ผู้โดยสารภายในประเทศ 56.66 ล้านคน เพิ่มขึ้น 9.26% ส่วนการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์เข้าออก 1.57 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11.89%

ทั้งนี้หากแยกเป็นรายสนามบินเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า สนามบินสุวรรณภูมิ มีการให้บริการเที่ยวบินและผู้โดยสารสูงสุด รองลงมา คือ สนามบินดอนเมือง ตามมาด้วยสนามภูเก็ต สนามบินเชียงใหม่ สนามบินหาดใหญ่ และสนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงรายตามลำดับ (ตารางประกอบ)

MP22-3313-1C “เที่ยวบินระหว่างประเทศเติบโตทุกแห่ง ยกเว้นสนามบินหาดใหญ่ ที่มีการเติบโตในอัตราที่ลดลง ขณะที่ท่าอากาศยานเชียงราย มีเที่ยวบินเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้เริ่มเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ส่วนเที่ยวบินภายในประเทศ ที่ใช้บริการสนามบินทั้ง 6 แห่ง มีการเติบโตอย่างมาก ยกเว้นที่สนามบินดอนเมือง ที่เติบโตเพียงเล็กน้อย เนื่องจากกลุ่มสายการบินต้นทุนตํ่า ลดความถี่เที่ยวบินในเส้นทางบินภายในประเทศ และหันไปทำตลาดในเส้นทางบินระหว่างประเทศแทน ซึ่งการเติบโตของผู้โดยสารระหว่างประเทศและภายในประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับปริมาณเที่ยวบินของทุกสนามบิน”

นายนิตินัย ยังกล่าวต่อว่า สำหรับผู้โดยสารชาวต่างชาติ ที่เดินทางผ่านสนามบินของทอท. 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย และมาเลเซีย ส่วนสายการบิน 5 อันดับแรกที่ใช้บริการสนามบินของ ทอท.แยกตามจำนวนผู้โดยสาร ได้แก่ สายการบินแอร์เอเชีย, การบินไทย, ไทยไลอ้อนแอร์, นกแอร์ และบางกอกแอร์เวย์ส

บาร์ไลน์ฐาน ทั้งนี้ เมื่อสิ้นงบประมาณปี 2560 มีสายการบินที่ให้บริการเที่ยวบินประจำรวม 135 สายการบิน เป็นสายการบินต้นทุนตํ่า 37 สายการบิน และให้บริการไปยังจุดหมายปลายทางกว่า 200 จุด แบ่งเป็นปลายทางต่างประเทศ กว่า 170 จุด และปลายทางภายในประเทศกว่า 30 จุด เชื่อมต่อประเทศ 57 ประเทศทั่วโลก

สำหรับด้านการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์เข้าออกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่สนามบินสุวรรณภูมิ ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 12.45% เนื่องจากการส่งออกปรับตัวดีขึ้น และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่ยังขยายตัวดี ทำให้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอื่นๆ ปรับตัวดีขึ้น

อีกทั้งจากกรณีที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทย ซึ่งนำไปสู่การขยายเส้นทางบินระหว่างประเทศของสายการบินสัญชาติไทย ทั้งในรูปแบบเส้นทางใหม่ และความถี่ของเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางบินไปยังประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละประเทศที่จะอนุญาตให้สายการบินสามารถขอเพิ่มความจุ และความถี่ของเที่ยวบินได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,313 วันที่ 12 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว