คำพิพากษา‘คดีจำนำข้าว’(2) ไขปมรายประเด็นสยบ‘ยิ่งลักษณ์’

15 พ.ย. 2560 | 09:44 น.

คําวินิจฉัยกลางของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไขประเด็นข้อสงสัย ปมปัญหาต่างๆ ที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ หยิบยกขึ้นต่อสู้เอาไว้แบบละเอียดยิบ

กรณีคณะกรรมการป.ป.ช.ขอถอดถอนออกจากตำแหน่งแล้วจึงไม่อาจดำเนินคดีอาญาได้ และการรวมสองกรณีเข้าด้วยกันขัดรัฐธรรมนูญ ศาลแจงประเด็นนี้ว่า การถอดถอนจากตำแหน่งเป็นกระบวนการตรวจสอบทางการเมืองโดยวุฒิสภา ส่วนการดำเนินคดีอาญาเพื่อลงโทษทางอาญาแก่บุคคล ซึ่งรธน.ปี 2550 ม.274 วรรคท้ายบัญญัติรับรองไว้ว่า มติวุฒิสภาเรื่องถอดถอนนั้นไม่กระทบกับการพิจารณาของศาลฯ ซึ่งทั้ง สองเรื่องนี้อยู่ในอำนาจไต่สวนของ ป.ป.ช. มูลเหตุกล่าวหาเป็นเรื่องเดียวกัน การรวมเข้าด้วยกันเป็นไปเพื่อความสะดวกในการไต่สวนซึ่งกระทำได้ หาได้ขัดต่อเจตนารมณ์ของรธน.

การอ้างว่า การแจ้งข้อกล่าวหาไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาเรื่องการระบายข้าวโดยทุจริตนั้น ศาลระบุว่า คณะกรรมการป.ป.ช.ได้ปฏิบัติตามระเบียบของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่าด้วยการไต่สวนข้อเท็จจริง พ.ศ.2555 ที่ให้คณะอนุฯไต่สวนจัดทำความผิด ข้อเท็จจริง และรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำ บุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะทำให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจข้อกล่าวหาได้ดี โดยในส่วนของการระบายข้าวนั้นได้แจ้งให้ทราบ ดังนี้

“...ท่านยังได้รับทราบเรื่องการทุจริตในการดำเนินการโครง การรับจำนำข้าวและการระบายข้าวจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ...ระหว่างวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2555...และการตั้งกระทู้ถามท่านเรื่องผลการตรวจสอบการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ...” และที่ระบุว่า “...และท่านยังได้รับทราบเรื่องการทุจริตในการดำเนินโครงการ และการระบายข้าว... แทนที่ท่านจะระงับยับยั้ง กลับยืนยันที่จะดำเนินการต่อไป อันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการมากขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งที่ท่านมีอำนาจ...การกระทำของท่านดังที่กล่าวมาจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต...”

ถือได้ว่า มีการแจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการระบายข้าวโดยทุจริตให้ทราบแล้ว การแจ้งข้อกล่าวหาจึงชอบด้วยกฎหมาย

**สำนวนสมบูรณ์-ฟ้องในเวลา
ส่วนที่อ้างว่า คณะทำงานร่วมระหว่างผู้แทนของอัยการสูงสุด (อสส.) กับ ป.ป.ช. ยังไต่สวนข้อไม่สมบูรณ์ตามความเห็นของ อสส. ไม่แล้วเสร็จยังไม่อาจฟ้องเป็นคดีได้ ศาลเห็นว่า แม้คณะทำงานร่วมประชุมเพื่อพิจารณาพยานหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์กันหลายครั้งและไม่อาจหาข้อยุติได้ แต่การประชุมเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 ซึ่งมีคณะทำงานผู้แทน อสส. 3 คน และคณะทำงานผู้แทน ป.ป.ช. 10 คน เข้าร่วมครบองค์ประชุมได้พิจารณาพยานหลักฐานที่ดำเนินการตามมติที่ผ่านมา เห็นว่า ครบถ้วนสมบูรณ์แล้วจึงมีมติให้ส่งพยานหลักฐานทั้งหมดเสนอ อสส.เพื่อฟ้องคดี ทั้งยังปรากฏว่า อสส.ได้มีหนังสือถึงประธานป.ป.ช.ให้ส่งตัวจำเลยเพื่อดำเนินการฟ้องคดีดังกล่าวด้วย แสดงว่า อสส.เห็นพ้องกับมติของคณะทำงานร่วมว่าได้พิจารณารวบรวมพยานหลักฐานสมบูรณ์และได้ข้อยุติเกี่ยวกับการฟ้องคดีแล้ว

 

ข้อต่อสู้ว่า ไม่ได้ฟ้องคดีภายในกำหนดเวลา ศาลวินิจฉัยว่า ระยะเวลาที่ให้อสส.ฟ้องคดีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงาน เอกสารและพยานหลักฐาน พร้อมความเห็นของ ป.ป.ช. ตามมาตรา 10 พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาฯ 2542 เป็นเพียงเวลาเร่งรัดให้ดำเนินการ ไม่มีผลกระทบต่ออำนาจฟ้องของ อสส. ไม่ใช่กำหนดอายุความฟ้องคดี ทั้งยังปรากฏในมาตรา (ม.) 12 ที่ว่า การยื่นฟ้องเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตาม ม.10 และ ม.11 ย่อมกระทำได้ถ้าฟ้องภายในอายุความ ดังนั้น โจทก์มีอำนาจฟ้อง

ประเด็นคำฟ้องโจทก์เป็นการตรวจสอบการกระทำของรัฐบาล และการดำเนินโครงการนี้เป็นการใช้อำนาจทางการบริหาร เป็นการพิจารณาในทางรัฐประศาสโนบาย หรือการใช้ดุลพินิจทางการเมืองไม่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมนั้น เห็นว่า คดีนี้กล่าวหาในฐานะนายกฯ ว่า กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามพ.ร.ป. รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฯ ตามรธน. 2550 ม.275 ประกอบพ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2542 ม.9 (1) กฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่ อสส. ยื่นฟ้องคดีนี้ ข้อต่อสู้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

**“ยิ่งลักษณ์”รู้ข้อกล่าวหาดี
ข้อสังเกตที่ว่า คำฟ้อง ของอสส.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะบรรยายฟ้องไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น เห็นว่า ข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฯ ปี 2543 ข้อ 8 วรรค 1 ประกอบพ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาฯ 2542 ม.18 วรรค 2 กำหนดว่า ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือมีข้อความตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.158 และต้องมีข้อความเป็นการกล่าวหาเกี่ยวกับเรื่องการรํ่ารวยผิดปกติ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น และต้องระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่า กระทำความผิดพร้อมทั้งชี้ช่องพยานหลักฐานให้ชัดเจนพอที่จะดำเนินกระบวนพิจารณา ไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้

ในคำฟ้องได้บรรยายถึงฐานะและอำนาจหน้าที่ของนางสาวยิ่งลักษณ์ โครงการนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของจำเลยที่ได้ดำเนินการท่ามกลางคำเตือน และข้อโต้แย้งของหลายหน่วยงานถึงข้อบกพร่องและปัญหาการทุจริตในโครงการ ซึ่งทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวแต่ละเลยไม่ใช้อำนาจตามกฎหมายสั่งระงับยับยั้งเพื่อระงับความเสียหาย ปล่อยให้ดำเนินต่อไปโดยงดเว้นไม่ป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้ผู้ทุจริตได้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดต่อไปได้อีกอันเป็นการแสวง หาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับผู้อื่นซึ่งมีข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลา สถานที่ซึ่งเกิดการกระทำ อีกทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้นางสาวยิ่งลักษณ์เข้าใจข้อ หาได้ดี รวมทั้งพฤติการณ์ที่กล่าว หาว่า กระทำความผิดกับบรรยายถึงพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ความผิดของนางสาวยิ่งลักษณ์ไว้ในตอนท้ายของคำฟ้องด้วย จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแล้ว

นอกจากนี้ พ.ร.ป.รัฐ ธรรมนูญว่า ด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาฯ 2542 ม.5 วรรค 1 บัญญัติให้ศาลยึดรายงานของ ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณา และอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร กฎหมายกำหนดให้ศาลมีหน้าที่ค้นหาความจริงอันเป็นการดำเนินคดีในระบบไต่สวน เป็นหน้าที่ของศาลต้องตรวจคำฟ้องว่า ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก่อนประทับรับฟ้องซึ่งในชั้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง หากไม่เข้าใจข้อหาแห่งคำฟ้องอย่างไรก็ชอบที่จะแถลงเพื่อให้ศาลสั่งให้โจทก์ชี้แจงข้อหานั้น หรือแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดแห่งคำฟ้องจนเข้าใจได้ดี แต่กลับให้การปฏิเสธ ทันทีโดยมิได้ดำเนินการเช่นที่ว่า ชี้ให้เห็นว่า เข้าใจข้อหาแห่งคำฟ้องดีแล้วจึงไม่อาจยกปัญหาความชอบด้วยกฎหมายของคำฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ขึ้นอ้างได้อีก

**“ตระกูลมีอำนาจลงชื่อฟ้อง
ส่วนกรณีที่อ้างว่า นายตระกูล วินิจนัยภาค ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการอสส. และไม่ได้เป็นอสส.โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจลงชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้องนั้น ได้ไขปมประเด็นนี้ว่า แม้การแต่งตั้งและให้พ้นจากตำแหน่งจะต้องบังคับตามบท บัญญัติ ม.10 วรรค 1 ของพ.ร.บ. องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 บัญญัติให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) และได้รับความเห็นชอบจากวุฒิ สภา และให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราช โองการแต่งตั้ง ซึ่งนายตระกูลไม่ ได้รับการแต่งตั้งตามกระบวนการนี้

แต่ได้ความว่า ระหว่างนั้นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ยึดอำนาจปกครองประเทศและเป็นรัฏฐาธิปัตย์มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงอำนาจในการออกคำสั่งใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการบริหารบ้านเมืองและคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ได้ โดยคสช.ได้มีคำสั่งที่ 77/2557 ให้นายตระกูล พ้นจากตำแหน่งรองอัยการสูงสุด และให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดตั้งแต่วันที่มีคำสั่ง (27 มิถุนายน 2557) และรธน.ฉบับชั่วคราว 2557 ยังบัญญัติรับรองความชอบของคำสั่งดังกล่าว โดยม. 47 วรรค 1 บัญญัติว่า “บรรดาประกาศและคำสั่งของคสช. หรือคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ได้ประกาศ หรือสั่ง ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันที่ ครม.เข้ารับหน้าที่ตามรธน.นี้ ...ให้ประกาศ หรือคำสั่ง ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้น...เป็นประกาศหรือคำสั่งหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรธน.และเป็นที่สุด...” วรรค 2 บัญญัติว่า “กรณีที่ คสช.มีคำสั่งให้บุคคลใดดำรงตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่งใดที่ระบุไว้ในม.24 ก่อนวันที่รธน.นี้ใช้บังคับ ให้นายกฯนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งให้บุคคลนั้นดำรงตำแหน่งนั้น หรือทรงให้บุคคลนั้นพ้นจากตำแหน่งนั้นด้วย”

ต่อมามีประกาศสำนักนายกฯ เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการอัยการว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายตระกูล วินิจนัยภาค ดำรงตำแหน่งอัยการ สูงสุด อันเป็นการปฏิบัติตาม ม. 47 วรรค 2 โดยครบถ้วนแล้ว คำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดจึงชอบด้วยกฎหมาย นายตระกูล ย่อมมีอำนาจลงชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้องได้ คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ข้อต่อสู้ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,313 วันที่ 12 - 15 พฤศจิกายน .ศ. 2560