เตือนความเสี่ยงก่อตัว แบงก์ชาติจีนยอมรับปัญหาหนี้เพิ่มสุดอันตราย

12 พ.ย. 2560 | 23:13 น.
ผู้ว่าการแบงก์ชาติจีนออกโรงเตือนความเสี่ยงที่กำลังก่อตัว ซึ่งนอกจากจะมีความซับซ้อน สามารถส่งผลอย่างปุบปับและสร้างปฏิกิริยาลูกโซ่แล้ว ยังมีอันตรายอย่างมาก แม้ระบบการเงินของจีนยังดูแข็งแรงดีอยู่ แต่ปัญหาหนี้ที่ก่อตัวสูงขึ้นมากก็เป็นบ่อเกิดความเสี่ยงที่น่ากลัว จำเป็นที่จะต้องมีการดูแลอย่างรัดกุม

นายโจว เสี่ยวฉวน ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBOC) กล่าวว่า จีนสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤติทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นด้วยการเพิ่มมาตรการตรวจสอบดูแลที่เข้มงวด ขณะเดียวกันก็ให้กลไกตลาดเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่แท้จริง นอกจากนี้เขายังระบุว่า รัฐบาลจีนควรจะเปิดตลาดให้มากขึ้นด้วยการผ่อนคลายการควบคุมเงินทุน และลดข้อจำกัดต่างๆให้กับสถาบันการเงินต่างประเทศที่สนใจเข้ามาดำเนินธุรกิจในจีน

ผู้ว่าการแบงก์ชาติจีนกล่าวต่อไปว่า ผู้นำพรรคคอมมิว นิสต์ควรจะต้องเป็นผู้นำการปฏิรูปทางการเงิน และเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยง จีนจำเป็นจะต้องจัดการทั้ง “ต้นเหตุและอาการ” และจะต้องมีทั้งมาตรการเชิงรุกและเชิงรับ

TP10-3313-1A นายโจวเขียนเป็นบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์ของธนาคารกลางเพื่ออธิบายให้ประชาชนเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับเนื้อหารายงานการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 ที่มีขึ้นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ระหว่างการประชุมครั้งนั้น เขาได้ระบุถึงความเสี่ยงในแบบ Minsky Moment หรือความปั่นป่วนในตลาดที่เกิดขึ้นหลังฟองสบู่แตก ทุกคนขาดสภาพคล่อง คนที่กู้ไว้มากก็ต้องถูกสถานการณ์บังคับให้ขายสินทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ หรือตราสารดีๆที่มีอยู่เอามาใช้หนี้ ทุกภาคการผลิตขาดสภาพคล่อง ขาดแคลนเงินสด และรัฐถูกเรียกร้องให้ต้องออกมาช่วยเหลือ สำหรับประเทศจีนนั้น สภาวะดังกล่าวหมายถึงราคาสินทรัพย์ที่หล่นวูบลงอย่างฉับพลันหลังจากที่มีการขยายตัวหรือราคาพุ่งมาเป็นเวลายาวนาน โดยสาเหตุอาจจะมาจากปัญหาหนี้เสียหรือแรงกดดันจากอัตราแลกเปลี่ยน

แม้ว่าปัจจุบันจีนจะสามารถหลีกเลี่ยงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจแบบเฉียบพลัน แต่สิ่งหนึ่งที่นักวิเคราะห์หลายสำนัก รวมทั้งสถาบันการเงินระดับโลกอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ออกมาเตือนไว้ก็คือ จีนนั้นกำลังอยู่ในสภาวะมียอดหนี้สะสมมากเกินไปแล้ว โดยมีการประเมินว่ายอดหนี้โดยรวมของจีนนั้นมีมูลค่าสูงกว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี อยู่เกือบ 3 เท่าหรือคิดเป็น 260% ของจีดีพี ทั้งนี้ หนี้ในส่วนของบริษัทเอกชนนั้นพุ่งสูงขึ้นคิดเป็นสัดส่วน 159% ของจีดีพีในปี 2559 เพิ่มขึ้นจาก 10% ของจีดีพีเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต นายโจวแนะนำให้ผู้ที่ต้องการเงินกู้ กู้เงินตรงจากตลาดการเงิน ไม่ควรกู้ผ่านตัวกลาง เพื่อลดความเสี่ยงในระบบธนาคาร นอกจากนี้ ยังเสนอแนะวิธีการหลีกเลี่ยงวิกฤติทางการเงินที่อาจเกิดขึ้น โดยเสนอให้มีการปฏิรูปกลไกการออกหลักทรัพย์ สนับสนุนการพัฒนาการระดมทุนผ่านกองทุนรูปแบบต่างๆ การแปลงหนี้เป็นสินทรัพย์ และการขยายตลาดพันธบัตร นอกจากนี้ เขายังสนับสนุนการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ทางการเงินโดยระบุว่า จีนจะผ่อนคลายการควบคุมตลาดปริวรรตเงินตรา และจะสนับสนุนให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากล เปิดตลาดให้สถาบันการเงินต่างประเทศสามารถเข้าสู่ตลาดจีนได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เขาระบุถึงความจำเป็นที่ยังจะต้องมีมาตรการสร้างสมดุล คือเมื่อมีการเปิดตลาดเสรีมากขึ้น ก็จำเป็นต้องมีมาตรการสอดส่องดูแลที่เข้มงวดขึ้น เพื่อที่รัฐบาลท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลจะสามารถรับมือกับผู้ที่ตั้งใจทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย หรือจัดการกับปัญหาการระดมเงินนอกภาคธนาคาร รวมทั้งการระดมทุนเพื่อบิดเบือนกลไกตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในส่วนของ “บริษัทซอมบี้ฯ” ซึ่งหมายถึงรัฐวิสาหกิจที่แบกภาระหนี้สินอย่างหนักจนหมดประสิทธิภาพแล้วนั้น นายโจวระบุ ว่าเป็นปัญหาที่ได้รับการแก้ไขอย่างช้าๆ ขณะที่สถาบันการเงินจำนวนมากขาดสมรรถนะในการแข่งขัน นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้ความมั่นใจของต่างชาติที่มีต่อตลาดการเงินของจีนหดลดลงไป ได้แก่ การที่มีบริษัทจีนผิดนัดชำระหนี้จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,313 วันที่ 12 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว