เรื่องเล่าจากยอดดอย ... สู่ ‘อาหาร’ จากแผ่นดิน ตอน 1

21 พ.ย. 2560 | 09:33 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

1629

ทรรศนาจร โดย บุรฉัตร ศรีวิลัย กับ เรื่องเล่าจากยอดดอย ... สู่ ‘อาหาร’ จากแผ่นดิน ตอน 1 |
“... ถ้าเอาคนทั้งประเทศมารวมกันมีลักษณะเป็นกรวยแล้ว ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ ก็จะประทับอยู่บนยอดของกรวย และจะมีผู้ที่มีตำแหน่งอาวุโสเฝ้าฯ อยู่ใกล้ ๆ คล้ายกับ ‘สมเด็จพระปิยะมหาราช รัชกาลที่ 5’ ก็เสด็จประภาสต้นบ่อย ๆ ตามธรรมดาก็ปีละ 3 ภาค คือ เหนือ ใต้ และอีสาน และทุกภาคจะเสด็จฯ จากยอดของกรวยมาประทับกับพื้นต่อหน้าราษฎรที่นั่งเฝ้ารับเสด็จอยู่ จะมีรับสั่งถามถึงการกินอยู่ ทุกข์สุข ฯลฯ ทรงมีพระราชประสงค์จะรับข้อมูลโดยตรง ใครจะตอบแทนชาวบ้านไม่ได้ ทำให้ข้อมูลของท่านถูกต้องและมีรสชาติ ...”


MP28-3313-1AA

ข้อความตอนหนึ่งในหนังสือบันทึกเรื่องราว ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและโครงการหลวง’ ซึ่งเขียนโดย หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี อดีตผู้อำนวยการ โครงการหลวง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิโครงการหลวง เล่าถึงการเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ จุดเริ่มต้นการพลิกแผ่นดิน ด้วยน้ำพระทัยของ ‘ในหลวง รัชกาลที่ 9’ เปลี่ยนแปลงแผ่นดินบนภูเขาสูงที่เต็มไปด้วยไร่ฝิ่นให้เป็นจุดกำเนิด ‘อาหารจากแผ่นดิน’ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราว

 

[caption id="attachment_229624" align="aligncenter" width="377"] ลุงพะโย่ ตาโร ลุงพะโย่ ตาโร[/caption]

การเดินทางตามเส้นทางการพัฒนาที่เกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน ถนนลาดยางอย่างดี เป็นแนวยาวคดเคี้ยวหักวนไปมาดูเหมือนจะไม่มีวันจบ มองเห็นไอหมอกจาง ๆ ลอยฟุ้งปกคลุมยอดเขาเบื้องบน จุดซึ่งหลอมรวมเป็นแหล่งต้นน้ำของ ‘แม่น้ำปิง’ พรรณไม้นานาชนิดเปลี่ยนไปตามการไต่ระดับความสูงของรถนำทางที่เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ไปถึงจุดสูงสุดในประเทศไทย ... ‘ดอยอินทนนท์’


MP28-3313-2A

ไม่ใช่เพียงลูกท้อหรือลูกพืชผลเดียวที่ก่อกำเนิดโครงการหลวง เปลี่ยนชีวิตชาวเขาที่ปลูกฝิ่นเพื่อเป็นรายได้หาเลี้ยงชีพ แต่กลับขาดสารอาหาร ไม่มีข้าวและโปรตีนที่มีคุณภาพหล่อเลี้ยงชีวิต เพราะแต่ก่อนครัวเรือนไหนปลูกฝิ่นก็จะพากันปลูกฝิ่นเสียทั้งหมด ไม่ได้มีการทำไร่นาส่วนผสม การจัดสรรที่ดินเพื่อปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ดังเช่นที่ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเช่นในทุกวันนี้ แต่ยังมีอีกหนึ่งพืชสำคัญที่ ‘ในหลวง รัชกาลที่ 9’ ทรงส่งเสริมและสร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก คือ ‘กาแฟพันธุ์อาราบิก้า’


MP28-3313-6A

ในปี 2517 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงรับทราบว่า มีชาวเขาปลูกกาแฟและส่งเมล็ดขายให้กับพ่อค้าในเมือง จึงเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาท ข้ามเขามากว่า 7 กิโลเมตร ไปยังบ้านของชาวเขาที่ชื่อ ‘พะโย่ ตาโร’ ชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอ อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่บ้านหนองหล่ม อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่


MP28-3313-3A

“ในหลวงเสด็จฯ มาถึงตอนใกล้ค่ำ ลุงวิ่งไปรับเสด็จฯ รองเท้าก็ไม่ได้ใส่ ตอนนั้นมีพวกเราชาวเขามารับเสด็จฯ กัน 300-400 คน ในหลวงทรงถามว่า พวกเราอยู่กินกันอย่างไร เมล็ดกาแฟที่ปลูกได้ ขายได้กิโลกรัมละกี่บาท ทรงทอดพระเนตรต้นกาแฟที่ปลูกไว้ 2-3 ต้นนี้ อยู่นาน และเสด็จฯ ไปที่บ้านของลุง ซึ่งเมื่อก่อนยังเป็นบ้านที่มุงหลังคาด้วยหญ้าคา ทรงประทับอยู่ 2-3 ชั่วโมง แล้วก็เสด็จฯ กลับ”


MP28-3313-1A

ลุงพะโย่ พูดพร้อมกับเดินไปค้นถุงย่าม ที่ภายใน คือ ภาพถ่ายของลุงและในหลวง ซึ่งใส่กรอบและเก็บรักษาไว้อย่างดี พลางจับเหรียญที่เก็บติดตัวไว้ตลอดเวลา ด้านหน้า คือ พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ ‘ในหลวง รัชกาลที่ 9’ ด้านหลังระบุรหัสเหรียญที่ระลึกสำหรับชาวเขา ‘ชม 167798’ ซึ่งแต่ก่อนนั้น แต่ละครอบครัวจะได้รับเหรียญนี้เพียงครอบครัวละ 2 เหรียญ ตอนในหลวงตรัสกับลุงว่า จะนำ ‘การพัฒนา’ มาสู่ชาวเขา ลุงยังไม่รู้ว่าคืออะไร หากในหลวงไม่ได้เสด็จฯ มาในวันนั้น ลุงคงยังไม่รู้ว่าคำว่า ‘พัฒนา’ ที่เห็นผลในทางปฏิบัติจากน้ำพระทัยและพระราชประสงค์อันแรงกล้าที่พระองค์ต้องการ ‘ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก’ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขาซึ่งไม่มีความรู้เรื่องการเกษตรและการปศุสัตว์ มีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้เช่นทุกวันนี้ ลุงพะโย่ บอกกับเราว่า ได้มีโอกาสรับเสด็จฯ ในหลวงถึง 13 ครั้ง ทุกครั้งในหลวงเสด็จฯ ที่อินทนนท์ ลุงพะโย่จะไปรับเสด็จฯ ทุกครั้ง เมื่อเราถามว่า ลุงรักในหลวงตรงไหน ลุงพะโย่แหงนมองต้นกาแฟต้นแรก ที่ตอนนี้สูงมากกว่า 3 เมตร แล้วบอกกับเราว่า “ลุงรักในหลวงที่ตรงนี้” ที่ซึ่งชายหนุ่มชาวเขาได้มีโอกาสถวายรายงานการปลูกกาแฟบนดอยสูงต่อพระมหากษัตริย์ครั้งแรกในชีวิต


MP28-3313-4A

จากเมล็ดกาแฟสดกิโลกรัมละ 7 บาท 50 ปีผ่านมา หลังการเปลี่ยนชีวิตของชาวเขา เมล็ดกาแฟสดในปัจจุบันขายได้กิโลกรัมละ 120 บาท และจากต้นกาแฟ 2-3 ต้น ตอนนี้ ที่บ้านแม่ยะน้อย บนดอยหลวงอินทนนท์ มีพื้นที่ปลูกกาแฟมากถึง 200 ไร่ และไม่ไกลจากจุดดังกล่าวสูงขึ้นไปที่ตำแหน่ง 1,480 จากระดับน้ำทะเล คือ ที่ตั้งของสถานีหน่วยย่อยผาตั้ง หนึ่งใน 4 หน่วยย่อยของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ที่นี่คือ หน่วยศึกษาวิจัยการเลี้ยงแกะ เพื่อนำขนมาทอผ้า เพิ่มมูลค่าให้กับงานศิลปหัตถกรรมของชาวบ้านและชาวเขาที่ว่างจากการทำนา ทำไร่ ในตอนกลางคืน ที่ซึ่งมีแกะราว 200 ตัว จาก 4 สายพันธุ์ คือ แกะคอร์ริเดล, บอนด์, ดอร์เซท และแกะพันธุ์พื้นเมือง วิ่งเล่นอย่างสนุกสนาน พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาชมความน่ารัก พร้อมรับอากาศดี ๆ ที่อุณหภูมิเฉลี่ยราว 18-20 องศาเซลเซียสตลอดทั้งปี

นี่คือ หนึ่งเรื่องราวจากยอดดอย ที่ได้รับการสานต่อสู่ผลิตภัณฑ์อันเลื่องชื่อของโครงการหลวง ‘อาหารจากแผ่นดิน’ ผลิตภัณฑ์โครงการหลวงที่จะนำมาจำหน่ายในงาน ‘รอยัล โปรเจ็กต์ แอท สยามพารากอน’ ระหว่างวันที่ 23-29 พ.ย. ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ผลผลิตจากน้ำพระทัยของในหลวง คือ เรื่องเล่าที่ไม่มีวันจบ ...


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,313 วันที่ 12-15 พ.ย. 2560 หน้า 28

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว