จาก ‘เลนส์สู่เรื่องราว’ ... บันทึกประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน ตอน 11

21 พ.ย. 2560 | 04:56 น.
MP26-3313-13A

การมองสิ่งต่าง ๆ ผ่านเลนส์ เป็นการสื่อถึงบริบทและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งบางครั้งภาพถ่ายอาจสื่อได้ถึงอะไรหลายอย่างมากกว่าตัวหนังสือหรือข้อความ และภาพถ่ายแม้จะเป็นอดีตไปแล้ว แต่ก็เป็นอดีตที่ไม่เคยจางหายไป ยังคงส่งกลิ่นความทรงจำกระตุ้นเตือนเรื่องราวต่าง ๆ ให้ย้อนกลับมาได้ไม่หมดสิ้น


MP26-3313-7A MP26-3313-1A

… การเติบโตมาในครอบครัวที่คุณพ่อชอบถ่ายภาพและฝึกให้ น้องสาวและหนูได้ลองถ่ายภาพอยู่บ้าง แต่หนูกลับไม่คิดที่จะจับกล้องเลย ผนวกกับคำพูดหนึ่งของคุณพ่อและคุณแม่ที่บังเอิญพูดออกมาว่า “ถ่ายอะไร ไม่เห็นสวยเลย” ประโยคสั้น ๆ ดูเหมือนไม่มีความหมายอะไรกับใครเท่าไหร่ แต่คือ คำพูดที่สะกิดใจหนูมากที่สุด นับจากนั้น หนูจึงคิดที่จะตั้งใจศึกษาวิธีการถ่ายภาพแบบจริงจัง ด้วยการให้คุณพ่อสอนการใช้กล้องเบื้องต้น จนได้ย้ายเข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ โรงเรียนที่มีชมรมหนึ่ง ซึ่งทุกคนในชมรมได้เรียนรู้วิธีการใช้กล้องผ่านการปฏิบัติงานจริง ‘ชมรมเด็กหลังเลนส์’ หนูจึงตัดสินใจเลือกสมัครเข้าชมรมนี้ในทันที และนั่นคือ จุดเริ่มต้นเส้นทางการถ่ายภาพของหนู เด็กที่มีปมในใจว่า “ตัวเองถ่ายภาพไม่สวย” แต่เปลี่ยนความรู้สึกแย่เป็นการลงมือทำด้วยการเริ่มต้นใหม่ให้ดียิ่งกว่าเดิม


MP26-3313-6A MP26-3313-5A

‘ชมรมเด็กหลังเลนส์’ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ เป็นชมรมที่ตั้งขึ้นโดยยึดพระราชดำรัสของ ‘ในหลวง รัชกาลที่ 9’ ที่ทรงต้องการให้ภาพถ่ายไม่หยุดอยู่เพียงแค่การเป็นงานศิลปะ แต่ยังเกิดคุณค่าต่อสังคมและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ... คุณครูสุรกานต์ ดะห์ลัน คุณครูที่ปรึกษาชมรม มักจะสอนพวกเราเสมอว่า “เวลาลงพื้นที่ถ่ายภาพงานต่าง ๆ เราต้องพยายามเก็บภาพให้ได้ทุกคน เพื่อทุก ๆ คนจะได้มีภาพถ่ายเป็นของตนเอง” และเพราะ “คนทุกคนสำคัญเท่ากันหมด” เราต้องให้ความเคารพกับทุกคนและทุกอย่างที่เกิดขึ้นในเลนส์เล็ก ๆ ของเรา ... ช่วงแรกของการเป็นน้องใหม่ในชมรม หนูเองยังไม่เข้าถึงเจตนารมณ์สูงสุดที่เกิดขึ้นมาแล้วกว่าสิบปีในชมรมแห่งนี้ รวมถึงยังไม่ทราบมุมภาพ จังหวะภาพ ภาพที่ออกมาจึงไม่ถูกเรียกว่าเป็นภาพที่สวย เป็นเหตุผลให้ถูกตำหนิอยู่บ่อย ๆ แต่คำตำหนิเหล่านั้น กลับเป็นแรงผลักดันให้หนูได้พัฒนาตนเองขึ้นเรื่อย ๆ จนมีวันที่คำตำหนิกลายเป็นคำชม ทำให้หนูเกิดพลังในการถ่ายภาพมากขึ้น และตั้งใจถ่ายภาพเพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้อื่นมีความสุขกับภาพถ่ายของตนเอง


MP26-3313-8A

13 ต.ค. 2559 ... วันที่ ‘ในหลวง รัชกาลที่ 9’ ผู้ทรงเป็นแบบอย่างให้กับชมรมเด็กหลังเลนส์ เสด็จสวรรคต แม้จะเต็มไปด้วยความโศกเศร้าที่โหมกระหน่ำจากภายใน คนรอบข้างและอีกหลายสิบล้านคนทั่วประเทศ แต่พวกเราชมรมเด็กหลังเลนส์ยังคงมุ่งมั่นทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด การเดินทางไปเก็บภาพบรรยากาศของประชาชนและการเปลี่ยนแปลงในท้องสนามหลวง ตั้งแต่วันสวรรคตอย่างสม่ำเสมอ ความตั้งใจจริงของพวกเราทำให้ได้รับโอกาสครั้งยิ่งใหญ่จากกรมศิลปากร ให้เข้าไปถ่ายภาพการก่อสร้าง ‘พระเมรุมาศ’ ในนาม ‘ช่างภาพจิตอาสาของกรมศิลปากร’ จนกลายเป็น ‘เครือข่ายช่างภาพเยาวชนจิตอาสา กรมศิลปากร’ ที่เริ่มมีผู้เข้าร่วมทีมมากขึ้น ... ในฐานะช่างภาพ หนูรู้สึกดีใจและเป็นเกียรติมากที่ได้มีโอกาสเข้าไปถ่ายภาพเกือบทุกองค์ประกอบที่เกิดขึ้นในพระราชพิธีฯ อันยิ่งใหญ่และสมพระเกียรตินี้ หนูได้เห็นการทำงานตั้งแต่การปั้นประติมากรรมต่าง ๆ ประกอบพระเมรุมาศ การฉลุไม้จันทน์ การลงสี รวมถึงงานเล็กงานน้อยต่าง ๆ ที่พี่ ๆ เจ้าหน้าที่และจิตอาสาร่วมกันลงมือ ลงแรง และทุ่มหัวใจให้กับงานนี้


MP26-3313-4A MP26-3313-3A

เวลาหนูได้มีโอกาสเข้าไปถ่ายภาพในที่ต่าง ๆ พี่ ๆ จิตอาสาหลายคนมักถามหนูว่า “ถ่ายพี่ไปหรือยัง” ซึ่งบางครั้งเวลาพี่ ๆ ถาม หนูก็ยังไม่ได้ถ่ายพี่เขา หนูจึงต้องคิดทบทวนใหม่ “ทำไมในขณะที่คนคนหนึ่งต้องการถ่ายภาพ ทำไมหนูถึงไม่ถ่ายพี่เขา ทำไมหนูถึงมองข้ามคนคนหนึ่งไป” ทั้งที่คุณครูมักสอนอยู่เสมอ มันทำให้หนูรู้สึกว่า “ภาพถ่ายมันมีค่ามากกว่าที่จะถ่ายแล้วก็เอาไปเก็บไว้โดยไม่มีประโยชน์อะไร” เพราะคนหลาย ๆ คน ยังต้องการภาพจากหนู เพื่อเก็บเป็นที่ระลึกว่า ครั้งหนึ่งฉันได้มาทำเพื่อพระองค์ท่านแล้ว หนูจึงตั้งใจถ่ายภาพพี่ ๆ จิตอาสาให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกเรื่องราวสำคัญในชีวิตอย่างเต็มความสามารถเท่าที่เด็กคนหนึ่งจะสามารถทำได้

 

[caption id="attachment_229583" align="aligncenter" width="335"] เรื่อง/ภาพ: นางสาวสุพิชญาน์ เพ็งประพัฒน์ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ เรียบเรียง: บุรฉัตร ศรีวิลัย เรื่อง/ภาพ:
นางสาวสุพิชญาน์ เพ็งประพัฒน์
โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์
เรียบเรียง: บุรฉัตร ศรีวิลัย[/caption]

เมื่อวันพระราชพิธีใกล้เข้ามาถึง พวกเราเดินทางไปยังจุดซ้อมริ้วขบวนฯ ตั้งแต่ตี 3 เพื่อเก็บภาพการเคลื่อนพระมหาพิชัยราชรถออกจากโรงเก็บราชรถในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แต่ในสถานะที่ไม่ใช่ ‘สื่อมวลชน’ ทำให้การทำงานของพวกเรามีขีดจำกัดมากขึ้น ทั้งการเข้าพื้นที่และการปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด จนวันที่ 24 ต.ค. 2560 ก่อนงานพระราชพิธีเพียง 2 วัน พวกเราได้รับบัตรและปลอกแขนจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เพื่อเป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ของหอจดหมายเหตุฯ เปิดพื้นที่ให้พวกเรามีโอกาสบันทึกภาพมากขึ้น แม้จะไม่มีโอกาสเท่าพี่ ๆ สื่อมวลชนก็ตาม เพียงเท่านี้ก็เป็นโอกาสสูงสุดของเยาวชนตัวเล็ก ๆ ที่ไม่ได้เห็นเพียงริ้วขบวนอันยิ่งใหญ่ แต่ยังได้เห็นความตั้งใจของประชาชนคนไทยที่หลั่งไหลมารอรับเสด็จฯ ไม่ขาดสาย ภาพประชาชนชูภาพในหลวงทั้งน้ำตา ภาพประชาชนกราบขณะริ้วขบวนผ่านและร้องไห้ เสียงสะอื้นดังขึ้นอย่างเบา ๆ อยู่รอบ ๆ ตัว มีคุณยายคนหนึ่งพูดกับหนูว่า “หนูโชคดีมากที่ได้มีโอกาสมาเห็นริ้วขบวน เพราะมันมีครั้งเดียวในชีวิต ขนาดยายแก่แล้ว ยายยังดีใจเลย” คุณยายพูดกับหนูแล้วน้ำตาคลอ แต่ก็ยังยิ้มด้วยความดีใจ คือ สิ่งทำให้หนูดีใจและน้ำตาคลอไปด้วย และทำให้หนูรู้ว่า คนไทยทุกคนรักพระองค์ และจะไม่มีวันจางหายไป พระองค์จะคงอยู่ในใจคนไทยตลอดไป ...


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,313 วันที่ 12-15 พ.ย. 2560 หน้า 26

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว