ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค.ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 76.7สะท้อนศก.เริ่มฟื้นตัว

09 พ.ย. 2560 | 11:12 น.
ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค.ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 3 อยู่ที่ระดับ 76.7สะท้อนเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ขณะที่มาตรการช็อปช่วยชาติบวกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทำงานสะพัดปลายปีกว่า 2 หมื่นล้าน ดันจีดีพีอีก 0.1%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 2,259 คน ผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนต.ค. 2560 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ระดับ 76.7 ซึ่งเป็นผลมาจากดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 64.1 ,71.4 และ 94.4 ตามลำดับ โดยปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ

เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนก.ย. 2560 ที่อยู่ในระดับ 62.5, 69.8 และ 92.7 ตามลำดับ รวมทั้ง ผู้บริโภคมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้นตามการส่งออกและการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวดีขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลัง ประกอบกับผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มคลายกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันและเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคตน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น การปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม จะส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ซึ่งน่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเด่นชัดขึ้นในไตรมาสที่ 4 และเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในระดับ 3.7-4.0% ได้ในปี 2560

tanaw

ส่วนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะดำเนินการในช่วงเดือนพ.ย. ถึงต้นเดือนธ.ค.นี้ว่า ยากที่จะประเมินว่านโยบายช็อปช่วยชาติจะมีเงินเข้าระบบ 20,000 ล้านบาท ตามที่รัฐบาลคาดหวังได้จริงหรือไม่ เพราะรัฐเลือกทำในช่วงเดือนพ.ย.ทำให้ไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบเพราะสองปีก่อนภาครัฐมีโครงการนี้ในเดือนธ.ค. และมีเงินหมุนเวียนเข้าระบบจากมาตรการดังกล่าวประมาณ 15,000 ล้านบาท แต่โดยส่วนตัวมองว่าการกระตุ้นการจับจ่ายในช่วงเดือนพ.ย.นั้นจะช่วยเลื่อนการใช้จ่ายของผู้บริโภคให้เร็วขึ้นจากปกติช่วงเดือนธ.ค. ที่เป็นช่วงของการจับจ่ายเดิมอยู่แล้ว

เมื่อกำหนดมาตรการเร็วขึ้นก็จะทำให้เกิดเม็ดเงินใหม่เข้ามาในระบบ ทั้งจากแรงจูงใจด้านการลดภาษีและการที่ผู้ผลิตต้องสต็อกวัตถุดิบเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ความคึกคักในการจับจ่ายน่าจะเริ่มดีขึ้นแม้ประชาชนจะยังมีความระมัดระวัง เบื้องต้นคาดว่าจะมีเงินสะพัดประมาณ 15,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับเม็ดเงินจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท ก็จะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในช่วงปลายปี ราว 20,000 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ให้เพิ่มขึ้นได้ 0.1% ทั้งนี้ หอการค้าจะทำการประเมินเศรษฐกิจในภาพรวมอีกครั้งในช่วงปลายเดือนพ.ย. ในการประชุมสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศ ที่จ.สุราษฎร์ธานี

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว