JMTแก้หนี้เบ็ดเสร็จ ดึงเจฟินเทคปล่อยกู้ ขอไลเซนส์นาโนฯ

10 พ.ย. 2560 | 12:29 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

JMT เปิดแผนปี 2561 เดินเกมรุกแก้หนี้แบบเบ็ดเสร็จภายใต้ Eco System ดึง “เจ ฟินเทค” เสริมทัพรีไฟแนนซ์หนี้ต่อยอดฐานลูกค้า 3 ล้านราย หลังประเมินหนี้เสียยังทะลักเข้าระบบ พร้อมออกบอนด์ใหม่ 5 พันล้านบาท ระดมทุนซื้อหนี้ปีหน้าเพิ่ม 3 หมื่นล้านบาท

นายปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แผนการดำเนินงานในปี 2561 จะดำเนินภายใต้ยุทธศาสตร์ “Eco System” โดยทำงานร่วมกันระหว่างบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) บริษัทเจเอ็มทีฯ และบริษัท เจ ฟินเทคฯ ถือเป็นการแก้หนี้แบบเบ็ดเสร็จ เนื่องจากบริษัทภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบบริษัทมองว่าสถานการณ์หนี้เสียยังคงสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะหนี้เสียรายย่อยสะท้อนจากธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non Bank) ที่ยังเร่งปรับโครงสร้างหนี้ช่วยเหลือลูกค้า

[caption id="attachment_154773" align="aligncenter" width="503"] ปิยะ พงษ์อัชฌาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็สจำกัด (มหาชน) (JMT) ปิยะ พงษ์อัชฌาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็สจำกัด (มหาชน) (JMT)[/caption]

บริษัทมั่นใจว่าซัพพลายของหนี้เสียยังคงมีออกมาให้เห็น จึงเป็นโอกาสของบริษัทเจเอ็มทีฯในการรับซื้อและบริหารหนี้ โดยทั้งปีตั้งเป้ารับซื้อหนี้มาบริหารจำนวน 3 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันรับซื้อมาแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้พอร์ตคงค้างภายในสิ้นปีอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท จากปัจจุบันพอร์ตคงค้างอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท ทำให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

ขณะเดียวกันบริษัทได้รับการอนุมัติให้ออกหุ้นวงเงิน 5,000 ล้านบาท ไว้รองรับการรับซื้อหนี้มาบริหารในปี 2561 ซึ่งจากเดิมจะใช้วงเงินเพียง 1,500 ล้านบาท ในการรับซื้อหนี้จำนวน 3 หมื่นล้านบาท แต่ปี 2561 คาดว่าหนี้จะทยอยออกมาในระบบ จึงขอวงเงินรองรับไว้ก่อน ซึ่งในเบื้องต้นจะใช้วงเงินล็อตแรกจำนวน 3,500 ล้านบาท และที่เหลืออีก 1,500 ล้านบาท จะมีการประเมินอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 4

MP24-3312-A อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการแก้ปัญหาหนี้แบบเบ็ดเสร็จกรณีลูกค้าไม่สามารถหมุนเงินได้ทันการชำระหนี้ จะมีบริษัท เจ ฟินเทคฯ เข้ามาช่วยลูกค้าในการรีไฟแนนซ์หนี้ซึ่งภายหลังจากได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากลูกค้าจะมีหนี้ที่ดีและไม่ดี เช่น มีหนี้บัตรเครดิตและเช่าซื้อรถที่ค้างชำระ แต่หนี้ที่อยู่อาศัยไม่ได้ค้างชำระ ลูกค้าสามารถเข้ามารีไฟแนนซ์หนี้ได้

เจ ฟินเทค จะเข้าไปปล่อยสินเชื่อหมุนเวียนให้กับลูกค้า ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกผ่อนชำระขั้นตํ่าหรือจ่ายเต็มได้ โดยอัตราการชำระขั้นตํ่าจะอยู่ที่ 2.5% ของวงเงิน อัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกเฉลี่ยอยู่ที่ 24-28% ต่อปี ขึ้นอยู่กับความสามารถของลูกค้าและประวัติการชำระหนี้ของลูกค้า โดยเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 0.8% ต่อเดือน นอกจากนี้ลูกค้ายังสามารถปิดยอดการชำระหนี้ได้ คิดอัตราดอกเบี้ยในวันที่ปิดยอด

ปัจจุบันบริษัทเจฟินเทคฯ สามารถปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 3,000 ล้านบาท คาดว่าภายในสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 3,500 ล้านบาท โดยมีฐานลูกค้าประมาณ 1.3 แสนราย ซึ่งจากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจที่ขยายตัว และทิศทางหนี้เสียที่ยังคาดว่าจะมีออกมาอย่างต่อเนื่อง บริษัทตั้งเป้าการเติบโตในปี 2561 จะเติบโตเพิ่ม 1 เท่า ทั้งในแง่ของฐานลูกค้าและสินเชื่อปล่อยใหม่ โดยฐานลูกค้าน่าจะอยู่ที่ 2.6 แสนราย และยอดสินเชื่อจะอยู่ที่ราว 6,000-7,000 ล้านบาท

นอกจากนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างขอไลเซนส์ทำธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ เพื่อจะตอบโจทย์ลูกค้าที่ไม่มีเงินเดือนประจำที่เป็นรายย่อย โดยคาดว่าธปท.จะอนุมัติได้ภายในเดือนหน้า ซึ่งหากได้รับการอนุมัติจะช่วยเสริมการทำธุรกิจแบบ EcoSystem ตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้

“แผนปีหน้าเราต้องการทำงานเป็นแบบ Eco System ร่วมกันระหว่างบริษัทในเครือ เพื่อการแก้ไขหนี้บริหารหนี้แบบเบ็ดเสร็จ โดยดึงจุดแข็งของเจเอ็มที เรื่องฐานข้อมูลลูกค้าที่มีกว่า 3 ล้านราย ดึง เจ ฟินเทค เข้ามาช่วยรีไฟแนนซ์หนี้ให้ลูกค้าด้วย”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,312 วันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว