ธนชาตรุกเอสเอ็มอีไซซ์เล็ก

10 พ.ย. 2560 | 04:43 น.
ธนชาต เข็นสินเชื่อเอสเอ็มอีรายเล็ก-บัตรเครดิตลุยโค้งท้าย หลังผู้ประกอบการรายเล็กส่งสัญญาณทยอยเบิกใช้วงเงิน เร่งปรับกระบวนการอนุมัติให้สั้นลง คาดสินเชื่อโต 10-15%

นางธีรนุช ขุมทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ลูกค้ารายย่อย ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจรายย่อยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาตัวเลขการเติบโตตํ่ากว่าเป้าหมายเล็กน้อย เนื่องจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยค่อนข้างชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ สอดคล้องกับการเติบโตของระบบที่ไม่ได้ขยายตัวสูงมากนักทำให้พอร์ตโดยรวมลดลง

[caption id="attachment_229107" align="aligncenter" width="335"] ธีรนุช ขุมทรัพย์ ธีรนุช ขุมทรัพย์[/caption]

ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ขนาดเล็ก หรือ Small Business ยอดขายไม่เกิน 200 ล้านบาท และสินเชื่อบัตรเครดิตยังเห็นการขยายตัวได้ต่อเนื่อง จึงคาดว่าภาพรวมทั้งปีสินเชื่อธุรกิจรายย่อยจะสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 10% ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท จากปัจจุบัน ณ เดือนสิงหาคมอยู่ที่ 1.36 แสนล้านบาท

แนวโน้มในไตรมาสที่ 4 คาดว่า ธุรกิจบัตรเครดิตยังมีทิศทางอัตราการเติบโต เพราะเป็นฤดูกาลใช้จ่ายผ่านบัตรในช่วงปลายปี ประกอบกับธนาคารได้ออกบัตรเครดิตใบใหม่ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นยอดการใช้จ่ายและยอดสมัครบัตรได้ เพราะมีสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้าค่อนข้างครบเมื่อเทียบกับตลาด

รวมถึงธนาคารขยายความร่วมมือกับร้านค้าพันธมิตรเพิ่มขึ้น และทำโปรแกรมผ่อนชำระมากขึ้น จึงคาดว่ายอดใช้จ่ายจะเติบโตเพิ่มขึ้น โดยทั้งปีธนาคารตั้งเป้าการเติบโตอยู่ที่ 3-5% ภายในสิ้นปียอดสินเชื่อคงค้างจะจบที่ 8.3 พันล้านบาท ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ได้เติบโตสูง โดยสอดคล้องกับตลาดที่ตั้งเป้าเติบโต 5-7% ยอดคงค้างอยู่ที่ 1.10 แสนล้านบาท

ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็ก (SSME) จะเป็นสินเชื่อหลักในการเติบโต เนื่องจากตลาดเอสเอ็มอีค่อนข้างใหญ่ แต่พอร์ตธุรกิจของธนาคารค่อนข้างเล็ก จึงเป็นโอกาสที่จะขยายการเติบโตในกลุ่มผู้ประกอบการได้อีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่มียอดขายไม่เกิน 200 ล้านบาท หรือวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท ยังคงเห็นความต้องการสินเชื่อและแหล่งเงินทุนอีกจำนวนมาก ประกอบกับธนาคารมีการปรับกระบวนการทำงานให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้สามารถอำนวยสินเชื่อให้ลูกค้าได้เร็วขึ้น จากเดิมจะใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานราวกว่า 40 วัน ปัจจุบันลดขั้นตอนเหลือเพียง 20 วันเท่านั้น รวมถึงให้เจ้าหน้าที่สาขาเป็นคนที่ช่วยดูแลและติดตามลูกค้าอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้สามารถตอบสนองลูกค้าได้ทันท่วงที

ขณะที่ความต้องการสินเชื่อใหม่ในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่ามีสัดส่วนของวงเงินสินเชื่อระยะยาวประมาณ 80% และสินเชื่อหมุนเวียน 20% สะท้อนถึงสถานการณ์ของลูกค้ากลุ่มนี้ปรับตัวดีขึ้น ธนาคารจึงจะหันมาเน้นกลุ่มนี้มากขึ้น
ธนาคารตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อ 10-15% จากยอดสินเชื่อคงค้างปัจจุบันอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท คาดว่าสิ้นปีจะจบที่ 1.35 หมื่นล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,312 วันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว