ไทยเข้าสู่ยุค ‘Less Cash’หรือยัง?

11 พ.ย. 2560 | 09:05 น.
นโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่สนับสนุนการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องอี-เพย์เมนต์หรือคิวอาร์โค้ด ปัจจุบันได้เห็นผลและส่งผลต่อการใช้เงินสดอย่างไร?

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการธปท.ฝ่ายบริหาร ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2556-2560) มีอัตราโตเฉลี่ยปีละ 19% โดยเฉพาะการใช้โมบายแบงกิ้งปี 2559 เติบโตเท่าตัวจากปี 2558 มองไปข้างหน้าไทยยังมีรูมที่จะเติบโตได้อีกมาก เพราะเทียบประเทศอื่นของไทยยังตํ่าอยู่มาก

[caption id="attachment_229106" align="aligncenter" width="335"] ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการธปท.ฝ่ายบริหาร ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการธปท.ฝ่ายบริหาร[/caption]

โดยธุรกรรมผ่านอี-เพย์เมนต์ของไทยปี 2559 มีปริมาณ 3,200 ล้านรายการ เฉลี่ยต่อรายต่อปีอยู่ที่ 49 รายการ เทียบกับมาเลเซียอยู่ที่ 82 รายการ ส่วนเกาหลี และสิงคโปร์ มีปริมาณการใช้ต่อรายต่อปีสูงถึง 413 รายการ และ 716 รายการตามลำดับ

ส่วนการใช้เงินสดในช่วงเดียวกันเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจโตเฉลี่ยปีละ 6% และเทียบสัดส่วนต่อจีดีพี ซึ่งสะท้อนการใช้เงินสดในระบบเศรษฐกิจโดยไทยจัดอยู่ในประเทศที่ใช้เงินสดมาก คือมูลค่าธนบัตรหมุนเวียนอยู่ที่ 1.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 12.6% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และคิดเป็นปริมาณราย 5,300 ล้านใบสูงกว่าหลายๆประเทศไม่ว่าจะเป็นเกาหลีที่การใช้เงินสดต่อจีดีพีมีสัดส่วนเพียง 5.4%, มาเลเซีย 7.6%, จีน 9% ส่วนสิงคโปร์ 9.5% ฯลฯ

ส่วนประเทศที่มีการใช้เงินสดสูงกว่า เช่นฮ่องกงเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี 15% และญี่ปุ่นสูงมากสุดในโลกถึง 20% ขณะที่สวีเดน ซึ่งเป็นประเทศ “สังคมไร้เงินสด” ( cashless society )มีสัดส่วนการใช้เพียง 1.8% ของจีดีพีและมีแนวโน้มลดลงมาตามลำดับ ดังนั้นการใช้อี-เพยเมนต์ของไทยจึงยังไม่มีผลต่อเงินสดในทันทีที่จะไปทำให้การใช้เงินสดลดลงอย่างได้เห็น

“ระบบโดยทั่วไปก็ยังไม่เอื้อให้มีการลดใช้เงินสด เพราะคนยังขาดความเข้าใจและไม่มั่นใจกับการใช้อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งที่มีความปลอดภัยสูง และเหตุที่การใช้เงินสดยังมีปริมาณมาก เป็นเรื่องของนิสัย วัฒนธรรม อย่างคนเยอรมันไม่ชอบใช้บัตร มองว่าทำให้ไม่มีวินัยทางการเงิน จุดเด่นของเงินสดยังมีเพราะสามารถรักษาความเป็นส่วนตัว”

นายไพบูลย์ ยังยํ้าว่านโยบายของธปท. สนับสนุนให้การใช้อิเล็กทรอนิกส์เพย์เมนต์มากขึ้น เพื่อเอื้อให้ประชาชนได้รับความสะดวก และส่วนหนึ่งก็เพื่อลดต้นทุน เพราะแต่ละปีธปท.มีต้นทุนในส่วนนี้สูงถึงปีละ 4,000 ล้านบาท จากการผลิตธนบัตร การกระจายธนบัตรไปตามศูนย์เงินสด ไม่ต่างกับธนาคารพาณิชย์เองซึ่งมีต้นทุนส่วนนี้ตกถึงปีละ 9,000 ล้านบาท ยังไม่นับรวมค่าเสียโอกาสที่เงินต้องพักอยู่ในตู้เอทีเอ็มและต้นทุนด้านบุคลากร

แนวโน้มเพย์เมนต์ ยังเติบโตได้อีกมาก ธปท.คงไม่ไปกำหนดเป้าว่าการใช้เงินสดจะต้องลดลงเท่าไร เพราะระบบที่ดีต้องมีสื่อการชำระเงินที่หลากหลายสามารถสนองความต้องการประชาชนได้ทุกกลุ่ม” เขากล่าวและว่า

ทั้งนี้หน้าที่ธปท.ในการผลิตธนบัตรยังยึดหลัก 1.ต้องผลิตให้เพียงพอกับระบบเศรษฐกิจ 2.ผลิตธนบัตรที่มีคุณภาพ โดยคุณภาพในเชิงความใหม่ที่หมุนเวียนในระบบอายุการใช้งานของธนบัตร โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 3 ปี และ 3.ความยากต่อการปลอมแปลง ซึ่งธนบัตรไทยจัดอยู่ระดับท็อปเท็นโลกที่มีการปลอมแปลงน้อยที่สุด กล่าวคือล้านฉบับมีปลอมเพียง 1 ฉบับ เทียบกับเงินสกุลอื่นได้แก่ดอลลาร์ 1 ล้านฉบับ จะปลอม 4 ฉบับ และเงินยูโร 1 ล้านฉบับปลอม 64 ฉบับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,312 วันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว