ศูนย์การขนส่งชายแดนนครพนม เชื่อมคมนาคมระบบรางโยงภูมิภาคอาเซียน

11 พ.ย. 2560 | 12:38 น.
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่ปี 2558 ได้เห็นชอบในหลักการให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม บนพื้นที่ 600 ไร่ วงเงิน 1,111 ล้านบาทเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมให้เกิดการเชื่อมโยงด้านคมนาคมระบบรางช่วยกระจายสินค้าสู่ภูมิภาคอาเซียน ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปี 2559-2562) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอโดยให้มีการจัดทำรายละเอียดสัดส่วนการลงทุน และผลตอบแทนการลงทุนให้ชัดเจน และเป็นไปตามกรอบของพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เพื่อนำเสนอครม.อีกครั้ง

โครงการดังกล่าวนี้เบื้องต้นเป็นการเสนอให้ภาครัฐลงทุนก่อสร้างทั้งหมด โดยให้เอกชนเป็นผู้รับสัมปทานเพื่อบริหารจัดการ จัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ยกขน และบำรุงรักษาตลอดอายุสัมปทาน 10 ปี วงเงินประมาณ 177 ล้านบาท ต่อมารัฐบาลเห็นว่าเป็นโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนสูง หากเป็นไปได้ต้องการให้เอกชนมาร่วมลงทุนตั้งแต่ต้น เพื่อประหยัดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบางส่วน

TP12-3312-B สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการนี้เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า รองรับกิจกรรมการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทย ผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวทางถนนสาย R12 ไปยังสาธารณรัฐสังคมเวียดนาม และภาคตะวันตกของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยใช้สะพานข้ามแม่นํ้าโขงแห่งที่ 3 (นครพนม) เพื่อเป็นศูนย์ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One stop service) สามารถดำเนินพิธีการที่เกี่ยวกับการนำเข้า และส่งออกได้ในจุดเดียว เพื่อเตรียมการรองรับการเชื่อมต่อระบบการขนส่งจากถนนไปสู่ระบบรางในอนาคต และเพื่อเตรียมการรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจจังหวัดนครพนมในอนาคต

ส่วนพื้นที่ก่อสร้างอยู่บริเวณด้านใต้ประชิดด่านพรมแดนไทย-ลาวบริเวณสะพานข้ามแม่นํ้าโขงแห่งที่ 3 (นครพนม) ได้มีการจัดวางผังการใช้ประโยชน์ จำแนกตามพื้นที่กิจกรรมหลัก 5 ส่วน เนื้อที่รวม 606ไร่ ได้แก่ ส่วนที่ 1 ศูนย์การขนส่งสินค้าเนื้อที่ 174 ไร่ ส่วนที่ 2 สถานีขนส่งผู้โดยสาร เนื้อที่ 53 ไร่ ส่วนที่ 3 ศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าผ่านแดนของพาณิชย์ จ.นครพนม เนื้อที่ 35 ไร่ และพื้นที่พักอาศัยของเจ้าหน้าที่ศุลกากร เนื้อที่ 65 ไร่ ส่วนที่ 4 พื้นที่เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสู่ระบบราง เนื้อที่ 194 ไร่ และส่วนที่ 5 ศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า เนื้อที่ 85 ไร่

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1 โครงการนี้เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนนี้จึงถือเป็นโครงการที่กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ จ.นครพนม และใกล้เคียง รวมถึงสอดคล้องกับแนวนโยบายหลักในการผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพิ่มมูลค่าการค้าลงทุนในพื้นที่ชายแดนได้มากขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลยังมีแผนดำเนินโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคอีก 9 จังหวัด วงเงิน 8,065 ล้านบาท โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค(เมืองหลัก) อีก 8 จังหวัดวงเงิน 9,438 ล้านบาท ส่วนจะได้มากน้อยแค่ไหนคงต้องติดตามอย่างกระชั้นชิดต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,312 วันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว