ผู้ผลิตพลาสติกเร่งปรับตัว เปลี่ยนเครื่องจักรรับอุตฯ4.0

12 พ.ย. 2560 | 03:59 น.
สมาคมอุตฯพลาสติก จี้ผู้ประกอบการเร่งปรับเปลี่ยนเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง รองรับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน หากยังนิ่งเฉย หวั่นเวียดนามแซงหน้าไทย

นายสุชาติ ซื่อสัจจกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย-เอเชีย พี.อี.ไพ้พ์ จำกัด ในฐานะประธานการจัดงาน A-PLAS 2018 เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในระหว่างวันที่ 19-22 กันยายน 2561 ทางสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย จะจัดงาน A-PLAS 2018 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมพลาสติกครบวงจร ตั้งแต่วัตถุดิบ เครื่องจักร เทคโนโลยี รวมถึงผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมพลาสติก การจัดงานดังกล่าวถือเป็นการแสดงศักยภาพของประเทศไทยที่เป็นผู้นำและศูนย์กลางในอุตสาหกรรมด้านนี้

โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมพลาสติกมีผู้ประกอบการกว่า 3 พันราย มีการจ้างงานประมาณ 3-4 แสนคน และมีส่วนทำให้เกิดรายได้ราว 6 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งจากการหารือกับผู้ประกอบการไทยดังกล่าว ส่วนใหญ่ยังมองไปในทิศทางเดียวกันว่า อุตสาหกรรมพลาสติกของไทยยังเติบโตและแข็งแรง เพราะเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงสร้างอุตสาหกรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ บรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือแพทย์ ชิ้นส่วนต่างๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติก จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับการแข่งขัน และสอดรับกับนโยบายในการพัฒนา 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งถือเป็นฐานการผลิตวัตถุดิบต้นนํ้าที่สำคัญ ซึ่งในงานดังกล่าวจะเป็นการแสดงเครื่องจักร ที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทางสมาคมเล็งเห็นว่า จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทย ที่จะปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้

บาร์ไลน์ฐาน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอี ที่ไม่สามารถเดินทางไปดูงานต่างประเทศ จะได้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี นำไปพัฒนายกระดับเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในอาเซียน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้

“ขณะนี้ต้องยอมรับว่ามีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ยังไม่ได้ปรับตัว เนื่องจากยังใช้เครื่องจักรเก่าอยู่ หากยังเป็นเช่นนี้จะทำให้ไทยสูญเสียการแข่งขันทั้งที่มีศักยภาพ ซึ่งเวลานี้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามกำลังจะแซงหน้าไทยเพราะมีนักลงทุนเข้าไปลงทุนและใช้เครื่องจักรใหม่ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง นำระบบอัตโนมัติมาใช้”

นายสุชาติ กล่าวอีกว่า ส่วนความสนใจของนักลงทุน ที่จะขยายธุรกิจหรือลงทุนใหม่ในพื้นที่อีอีซีนั้น มองว่าหากเป็นผู้ประกอบการไทยคงจะเป็นการลงทุนสำหรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ แต่หากเป็นนักลงทุนจากต่างประเทศ หลายรายแสดงความสนใจและรอดูจังหวะที่จะเข้ามาลงทุนอย่างแน่นอน เพราะไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้เชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่การจะลงทุนจริงเกิดขึ้นอาจจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,312 วันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว