ยึดเวทีเอเปกทรัมป์ถกคู่ค้ากลบขาดดุล

11 พ.ย. 2560 | 04:15 น.
การประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก (APEC) ครั้งที่ 25 ณ นครดานัง ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 8-11 พฤศจิกายน 2560 ต่อด้วยการประชุมสุดยอดอาเซียน (อาเซียน ซัมมิต) ครั้งที่ 31 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 12-14 พฤศจิกายน 2560 ถูก จับตามองถึงไฮไลต์ที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้สื่อต่างประเทศรายงานว่าการประชุมเอเปกปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก (ธีม) “การสร้างพลวัตใหม่และการส่งเสริมอนาคตร่วมกันของเอเชีย-แปซิฟิก” ซึ่งนอกเหนือจากการประชุมผู้นำเอเปก 21 เขตเศรษฐกิจแล้ว ยังมีการประชุมอื่นๆ ด้วย ที่สำคัญได้แก่ การประชุมหารือเอเปก-อาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ การประชุมผู้นำธุรกิจเอกชนเอเปก(Apec CEO Summit) ที่จะมีผู้นำธุรกิจต่างชาติและของเวียดนามเองเข้าร่วมมากกว่า 2,000 คน ขณะที่ในฐานะเจ้าภาพ เวียดนามจะจัดงาน Vietnam Business Summit ขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อแนะนำศักยภาพของเวียดนามทั้งด้านการลงทุน การท่องเที่ยว และโอกาสทางธุรกิจสู่ประชาคมโลก

ด้านสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปก (ABAC) ได้เตรียมประเด็นเสนอต่อที่ประชุมระดับผู้นำในวันที่ 10 พฤศจิกายน นี้โดยจะขอให้ช่วย เหลือบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนการเข้าถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และความก้าวหน้าทางดิจิตอล และยังจะเสนอแนะให้ผู้นำ รัฐบาลร่วมกันขจัดกำแพงการค้าและลัทธิกีดกันการค้า เพื่อส่งเสริมให้มีการค้าลงทุนระหว่างกันมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ขอให้ผู้นำกำหนดวิสัยทัศน์ของเอเปกหลังปี 2563 ร่วมกัน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าในการประชุมเอเปกครั้งนี้จะเป็นการเชื่อมโยงในภูมิภาคในทุกมิติ และการผนึกรวมของภูมิภาคจะเป็นหนึ่งในประเด็นที่จะมีการหารือกันในการประชุมระดับผู้นำ ระดับรัฐมนตรีการค้า และรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นโอกาสไทยจะได้ยกเรื่องระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการผลักดันในการดึงการลงทุนสู่ประเทศไทยด้วย ส่วนการหารือระดับทวิภาคีในเบื้องต้นนายกรัฐมนตรีของไทยมีกำหนดพบหารือ 2 ฝ่ายกับผู้นำฮ่องกง

บาร์ไลน์ฐาน ส่วนการประชุมอาเซียนซัมมิทซึ่งเป็นอีก 1 เวทีสำคัญที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจะเข้าร่วมนั้น แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เผยถึงไฮไลต์การประชุมในครั้งนี้นอกจากจะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน(ระดับนายกรัฐมนตรี 10 ประเทศ), การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯสมัยพิเศษ ฉลองครบรอบ 40 ปี และการประชุม สุดยอดอาเซียนกับจีน เกาหลี และญี่ปุ่นแล้ว จะมีการประชุมในอีกหลายเวที เช่น การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ, การประชุม ระดับผู้นำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย เป็นต้น

ขณะที่จะมีการพบปะหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับสภาที่ปรึกษาอาเซียน (ASEAN BAC) ด้วย
ส่วนการลงนามด้านเอกสารที่สำคัญในครั้งนี้จะมีการลงนามเอกสารความตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)อาเซียน-ฮ่องกง และความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน-ฮ่องกง ส่วนในพิธีปิดการประชุมจะมีการส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนให้แก่สิงคโปร์

นายอรินทร์ จิรา ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN BAC) ในส่วนของประเทศไทย เผยว่า ในโอกาสที่จะได้พบปะกับผู้นำอาเซียนครั้งนี้ทาง ASEAN BAC ที่มีฟิลิปปินส์เป็นประธาน จะนำเสนอในหลายเรื่องที่เคยนำเสนอแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำหรือไม่มีความคืบหน้า เช่น การจัดทำอาเซียนซิงเกิลวินโดว์ การขจัดมาตรการทางการค้า (NTMs) และมาตรการกีดกันการค้า (NTBs) ที่ยังเป็นอุปสรรค แม้ภาษีระหว่างกันจะลดลงเป็น 0% แล้วก็ตาม ซึ่ง ณ ปัจจุบันประเทศในอาเซียนมีมาตรการ NTMs และ NTBs ที่เป็นอุปสรรคทางการค้ากว่า 6,000 รายการ ล่าสุดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนตั้งเป้าหมายปี 2563 จะลดมาตรการลงให้ได้ 10%

“นอกจากนี้จะขอให้มีการอำนวยความสะดวกการค้าข้ามแดน และค้าชายแดนระหว่างกัน การสร้างโครงข่ายเศรษฐกิจดิจิตอล และระบบอินเตอร์เน็ตของภูมิภาคให้มีความแข็งแรงเพื่อรองรับอนาคต รวมถึงการดูแลเอสเอ็มอีของแต่ละประเทศให้มีความเข้มแข็ง”

[caption id="attachment_78758" align="aligncenter" width="414"] เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เจน นำชัยศิริ
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)[/caption]

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า น่าจับตาการเดิน ทางเยือนเอเชียยาวนานที่สุดของโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯรวม 11 วัน ซึ่งรวมถึงการประชุมเอเปก และ อาเซียนซัมมิท เป้าหมายหลักเพื่อหาพันธมิตรกรณีเกาหลีเหนือแล้ว คงเน้นหนักการเจรจาการค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับหลายประเทศในภูมิภาคนี้ว่าจะเอาคืนอย่างไร

อนึ่ง เอเปกถือเป็นกลุ่มคู่ค้าสำคัญของไทย โดยช่วง 9 เดือนแรกปีนี้การค้าไทย-เอเปกมีมูลค่า 8.11 ล้านล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 70% ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออก 4.14 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.4% นำเข้า 3.96 ล้านล้านบาท ขยายตัว 8.7% ไทยเกินดุลการค้ากลุ่มเอเปก 1.77 แสน ล้านบาท ส่วนการค้าไทยกับกลุ่มอาเซียน (9) มีมูลค่า 2.56 ล้านล้าน บาท คิดเป็นสัดส่วน 22% ของการ ค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออก 1.49 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.1% นำเข้า 1.06 ล้านล้านบาท ขยายตัว 9.7% ไทยเกินดุลการค้าอาเซียน 4.33 แสนล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,312 วันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว