มังกรกินรวบทุบค้าชายแดนพ่อค้าไทยอ่วม

10 พ.ย. 2560 | 23:54 น.
จับตาจีนยุคใหม่เขย่าไทยทั้งตลาดและผลิต ยึดหัวหาดกัมพูชา เมียนมา ลาว ทำไทยเสียโอกาสการค้าเพื่อนบ้าน บุกขายเองถึงที่ เอกชนยอมรับแข่งขันหนักขึ้น กินรวบสินค้าทั่วโลก

การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 เพิ่งปิดฉากไป จีนยังคงมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเน้นการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี ภายใต้ยุทธศาสตร์ “เมด อินไชน่า 2025” ซึ่งความหมายเดียวกับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ของไทย หรือนโยบาย “อินดัสตรี 4.0” ของเยอรมนี ที่หลายประเทศก็พยายามประกาศออกมา เป็นนโยบายที่ทำต่อเนื่องเพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่มากขึ้น

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจีน เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การที่จีนเดินไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่อย่างเป็นทางการนั้น ทำให้ไทยต้องทำการบ้านหนัก หน่วงยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าของไทยอันดับ 1 โดยไทย ค้าขายกับจีนปีละ 6-7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ไทยขาดดุลการ ค้ากับจีนพอสมควร จะเห็นว่าตามภาวะปกติความเชื่อมโยงระหว่าง จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เชื่อม โยงไปสู่ไทยเยอะมาก เพราะจีนกับญี่ปุ่นก็ค้าขายกันปีละ 3.20 แสน ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จีนกับเกาหลีใต้ค้าขายกัน 2.20 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน และบริษัทในประเทศเหล่านี้ก็มาตั้งบริษัทในไทยด้วย

[caption id="attachment_229014" align="aligncenter" width="335"] รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์[/caption]

ดังนั้นเมื่อจีนขยับตัวแรงโดยเดินนโยบายหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง หรือ One Belt One Road ขยายอิทธิพลด้านการเมือง การทหาร และโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยคือ สินค้าที่ไทยผลิตจะแข่งขันกับจีนไม่ได้ จนต้องเสียตลาดไป ที่สำคัญก่อนหน้านั้นเราไปซื้อของจากจีนมาขายในตลาดโบ๊เบ๊ สำเพ็ง ใบหยก แต่ขณะนี้ จีนเข้ามาขายเองมากขึ้น ซึ่งตรงนี้จะต้องไปดูว่าผู้ประกอบการไทยจะสานประโยชน์ร่วมกันอย่างไร

“แม้เราจะได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว จากการสร้างทางรถไปสั่งของมาขายในไทยง่ายขึ้น และไทยก็ส่งของไปขายในจีนง่ายขึ้น หรือมีการขนคนมาเที่ยวเมืองไทยง่ายขึ้น คนไทยก็เข้าไปเที่ยวคุนหมิงง่ายขึ้น แต่ก็มาพร้อมกับผลกระทบ คือสินค้าในกลุ่มเดียวกัน ที่จีนขายได้ในราคาถูกกว่า ผู้ผลิตไทยอาจจะขายไม่ได้ ดังนั้นเราต้องไปทำความเข้าใจว่า มันคืออะไรและจะรับมืออย่างไรต่อไป”

อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวอีกว่า นโยบายหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางจะเชื่อมโยงทั้งทางบกและทะเลกับ 60 ประเทศ มีพลเมือง 2 ใน 3 ของประชากรโลก เชื่อว่าจีนจะต้องออกมาลงทุนนอกประเทศเพิ่มขึ้น หลังจากที่กำลังผลิตในจีนล้นตลาด และในจีนก็หันไปให้นํ้าหนักกับภาคบริการมากขึ้น โดยตลาดที่จีนจะเข้าไปลงทุนจะโฟกัสที่กัมพูชา เมียนมา สปป.ลาว มากขึ้น เนื่องจากเป็นประเทศที่เพิ่งเริ่มพัฒนา ขณะที่การเข้ามาลงทุนในไทยไม่ใช่เรื่องง่ายที่จีนจะเข้ามาปักฐาน เนื่องจากมีฐานการผลิตจากประเทศต่างๆเข้ามาปักหลักก่อนนานแล้ว

จากความเคลื่อนไหวดังกล่าวที่น่าจับตาต่อไปคือ เมื่อจีนเข้ามาในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นจะมีผลต่อประเทศไทย เพราะนอกจากของบางอย่างที่เราผลิตได้จะสู้จีนไม่ได้แล้ว พอจีนมาตั้งโรงงานในแหล่งผลิตใกล้ๆ ไทยทั้งสิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้า ก็จะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านไม่จำเป็นต้องนำเข้าจากไทยมากเหมือนเดิม ทำให้กระทบต่อยอดขายการค้าชายแดนของไทย

บาร์ไลน์ฐาน “เราจำเป็นต้องรู้เขา รู้เรา บริหารความเสี่ยงก็ต้องดูเป็นรายอุตสาหกรรม รายประเทศ เมื่อจีนออกมาแล้วก็ต้องตีโจทย์นโยบายของจีนให้แตก ต้องไปดูว่าการประชุมสมัชชาพรรคที่เขากำลังจะทำนั้น มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง และเมื่อจีนขยับแบบนี้จะมีผลต่อการค้าระหว่างประเทศ มีผลต่อการลงทุนระหว่างประเทศอย่างไร และจะมีผลต่อซัพพลายเชนของโลกอย่างไร ในฐานะที่ประเทศไทยเปิดกว้างมีการส่งออกเยอะ เราจะทำอย่างไร เพราะเวลานี้ในแง่ประเทศไทยก็ยังน่าห่วงอยู่ เนื่องจากการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนายังน้อยมาก ค่าแรงก็แพงขึ้น และไทยจะเก็บเกี่ยวผลด้านบวกได้อย่างไร”

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ดูแลงานส่งเสริมการค้าการลงทุน สภาธุรกิจและศูนย์อาเซียนกล่าวว่า สิ่งที่นักวิชาการพูดก็ตรงกับความคิดของผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีของไทย เพราะความมุ่งมั่นของจีนคือต้องการเป็นผู้นำเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกจากปัจจุบันเป็นที่ 2 รองจากอเมริกาและนโยบายหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน จะทำให้จีนขยายอิทธิพลมาทางอาเซียนมากขึ้น ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในอาเซียน และในเส้นทางที่สำคัญของจีน จากจีนตอนใต้ เช่น ยูนนาน สิบสองปันนา ที่จะเชื่อมระหว่างจีนตอนใต้สู่เซาธ์อีสต์เอเชีย ซึ่งความเชื่อมต่อนี้ จะทำให้จีนขยายเขตการค้าเข้ามาในอาเซียนมากขึ้นและมีแนวโน้มเชื่อมสู่อินเดีย

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยแล้วในขณะนี้คือเดิมย่านเยาวราช ถนนทรงวาด จะนำเข้าสินค้าจากจีนราคาถูกมาขาย แต่วันนี้สินค้าส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนมือเป็นพ่อค้าคนจีนขายเอง เช่นเดียวกับผลไม้ยอดฮิตที่จีนนิยมซื้อจากไทยเช่น ลำไย ที่ตอนนี้ “ล้ง” (การจัดตั้ง โรงคัดและบรรจุสินค้า) จีน เข้าไปยึดล้งไทยทำหน้าที่เป็นผู้รับซื้อลำไยแทนคนไทยมากขึ้นแล้ว ต้องจับตาและรับมือให้ทันเพราะอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนจะเข้มข้นยิ่งขึ้น โดยกองทัพจีนจะมี ทั้งค้าปลีก ค้าส่ง และมีการขยายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านไทยมากขึ้น แต่ละประเทศจะต้องมีมาตรการในการควบคุมให้ดี”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,312 วันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว