พิสูจน์ฝีมือทายาทเตชะอุบล จากนักลงทุน สู่ นักบริหาร

11 พ.ย. 2560 | 03:17 น.
จากอาชีพนักลงทุน ที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของ “หลุยส์ เตชะอุบล” นักธุรกิจหน้าหวาน กับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทรทัน โฮลดิ้ง หรือ TRITN ถือเป็นเส้นทางใหม่ของการทำงานของผู้หญิงคนนี้ ซึ่งเธอบอกเลยว่า มันแตกต่างจากการเป็นนักลงทุนมากพอสมควร

การเป็นนักลงทุนขึ้นอยู่กับความสามารถในการลงทุนของตัวเอง ไม่ต้องไปบริหารหรือดูแลใคร แต่การเข้ามานั่งทำหน้าที่ผู้บริหารในองค์กร ต้องให้ความใส่ใจกับปัจจัยรอบด้าน โดยเฉพาะพนักงานที่ต้องทำงานร่วมกัน ที่ต้องทำให้พวกเขามีความสุข และอยากทำงานกับบริษัทที่มีโอกาสเติบโตและมั่นคง

[caption id="attachment_228786" align="aligncenter" width="335"] หลุยส์ เตชะอุบล หลุยส์ เตชะอุบล[/caption]

ทายาทสาวสวย วัย 30 กว่าๆ ของตระกูล “เตชะอุบล” คนนี้ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านไฟแนนซ์ มหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ จบโทที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะกลับมาช่วยงานครอบครัว และเคยทำงานเป็นโบรกเกอร์ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ และเธอก็เปลี่ยนตัวเองจากสายการลงทุน มาสู่การเป็นนักบริหารนำทัพ ไทรทัน โฮลดิ้ง บริษัทที่เธอหมายมั่นปั้นมือให้เป็น Investment Company ที่แข็งแกร่ง โดยเข้าซื้อหุ้นในบริษัทนี้ ด้วยสายตาของนักลงทุน ที่มองว่า ไทรทัน เป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้ ราคาหุ้นขณะนั้นตํ่า ในขณะที่ธุรกิจที่ไทรทันมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น สื่อ รับเหมาก่อสร้าง พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจพลังงาน-เหมืองแร่ เป็นธุริกจที่มีโอกาสเติบโต

ระยะเวลาเพียงไม่ถึงปี “หลุยส์” เข้ามาพลิกฟื้นไทรทัน ด้วยการดัน สเตรกา (STREGA) บริษัทในเครือ ไปคว้าโปรเจ็กต์ใหญ่ รับงานก่อสร้างท่อขนส่งนํ้ามันยาวที่สุดในประเทศไทย มูลค่า 3,300 ล้านบาท ขยายระบบท่อขนส่งนํ้ามันไปภาคเหนือ และล่าสุดสเตรกาพร้อมจับมือพันธมิตรด้านพลังงานระดับโลก เดินหน้าธุรกิจต่อ เธอตั้งเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้ สเตรกา บริษัทซึ่งขาดทุนในระยะแรก กลับมามีรายได้ และสร้างกำไร นำหน้าบริษัท สแพลช มีเดีย จำกัด (มหาชน) ธุรกิจสื่อบิลบอร์ดโฆษณา

เป้าหมายของนักธุรกิจหญิงคนนี้ คือ การปรับปรุงบริษัท สเตรกาฯ จากบริษัทขุดเจาะวางท่อ ใต้ดินในแนวราบโดยไม่เปิดหน้าดิน (HDD) สู่งานบริหารงานก่อสร้างโครงการ (Engineering Procurement Construction Management) เปิดการขยายงานของสเตรกาให้เพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งรับงานตรงจากเจ้าของงาน ไม่ได้ผ่านซับคอนแทร็กต์ เช่น การรับงานตรงจาก ปตท. พีพีทีเอ็มอี และบริษัท ขนส่งนํ้ามันทางท่อ จำกัด (เอฟพีที) ทำให้ในวันนี้สเตรกามี Backlog (มูลค่างานในมือ) อยู่กว่า 4,500 ล้านบาท และภายในปี 2562 เธอจะนำบริษัท สเตรกาฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯซึ่งจะทำให้สเตรกาขยายตัวได้อีกมาก และยังมีตัวเลขรายได้ที่ชัดเจนเข้าสู่บริษัท ไทรทัน โฮลดิ้ง

[caption id="attachment_228784" align="aligncenter" width="503"] หลุยส์ เตชะอุบล หลุยส์ เตชะอุบล[/caption]

“อีอีซี หรือโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก จะทำให้สเตรกาแข็งแรงขึ้นอีกเยอะ เพราะในอีก 6 ปีข้างหน้า งานจากอีอีซี ไม่ว่าจะเป็นสายไฟลงดิน การปรับปรุงท่อนํ้ามัน การเดินท่อนํ้ามัน และงานอินฟราสตรักเจอร์ที่รัฐบาลกำลังผลักดัน ยังมีอีกเยอะมาก แค่งานสายไฟฟ้าลงใต้ดินก็หลายหมื่นล้านแล้ว เราอยากเป็น 1 ในนั้น ปีหน้าสเตรกาจะวิ่งหางานเข้ามาให้เยอะขึ้นอีก เราพยายามเอางานก่อสร้างเข้า เพราะงานก่อสร้างไม่ใช่ได้แล้วเริ่มต้นได้เลย เราเลยต้องตุนงานไว้เยอะๆ เพราะมันมีปัจจัยเสี่ยงข้างนอกหลายอย่าง ที่จะกระทบการรับรู้รายได้”

ความท้าทายของการเข้ามาปรับปรุงบริษัทไทรทันฯ ครั้งนี้ “หลุยส์” บอกว่า สิ่งที่เธออยากเห็นคือการทำให้บริษัทเติบโต เมื่อปีที่แล้ว เธอปรับเปลี่ยนด้วยการควบคุมต้นทุน บริหารการเงินให้เข้าระบบ จากก่อนหน้านี้ ไทรทันเป็นบริษัทที่ค่อนข้างอุ้ยอ้าย มีระดับขั้นตอนเยอะ หลังการปรับปรุง เธอสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้กว่า 50%

การบริหารของนักธุรกิจคนนี้ ให้ความสำคัญกับเรื่องการเงิน ค่าใช้จ่ายในบริษัท รวมทั้งการบริหารงบการเงินกับโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่ต้องควบคุมต้นทุนให้ดี ส่วนการบริหารคน สไตล์ของนักบริหารคนนี้ไม่ใช่คนจู้จี้ ไม่ได้เข้มงวดเรื่องเวลา แต่เน้นที่คุณภาพของงาน และได้งานตามเป้า ประสิทธิภาพของคนและประสิทธิภาพของงาน คือสิ่งที่ผู้บริหารคนนี้ต้องการ ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน มีคนที่ต้องออกไปพอสมควร ตรงนี้เธอมองว่า...บริษัทก็เหมือนเรือลำหนึ่ง ถ้าคนเยอะๆ มันก็อยู่ไม่ได้ คนร่วมงานส่วนใหญ่เข้าใจ ถ้าเขาไม่ปรับ หรือปรับไม่ได้ ก็ต้องจากไป

ในปี 2562 “หลุยส์” กำหนดเป้าหมายชัดเจนว่า สเตรกา ต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และไทรทัน เป็น Investment Holding Company เต็ม 100% และเธอยังมีเป้าหมายต่อไปที่จะขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ทั้ง สินค้าคอนซูเมอร์ พลังงาน ธุรกิจรีไซเคิล และอื่นๆ ส่วนธุรกิจสื่อที่มีในมืออยู่แล้ว เธอบอกต้องขอเวลาในการดูภาพรวมของตลาดให้มีความชัดเจน หากมีโอกาสก็พร้อมที่จะลงทุนเพิ่มเติม

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1-14 หลังจากปรับปรุงไทรทัน มาได้เกือบปี นักบริหารหญิงคนนี้มองว่า การเติบโตขององค์กร ยังมีได้อีกมาก และในฐานะนักบริหาร ก็ต้องการให้บริษัทเติบโตไปเรื่อยๆ จากเป้าตอนนี้ เธอต้องการให้บริษัทมีรายได้เพิ่มอย่างน้อยปีละ 10% ส่วนอนาคตเป้าหมายก็จะต้องเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

“สิ่งสำคัญของการลงทุนในธุรกิจ...บริษัทนั้นๆ ต้องมีโอกาสในการเติบโต ทั้งอุตสาหกรรมดูแล้วมันต้องไปได้ และถ้าเราจะลงทุนในบริษัทไหน การเงินเขาต้องดี และต้องมีการบริหารจัดการที่เชื่อถือได้...โลกเราเปลี่ยนไปเยอะ เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ตลาดหุ้นอย่างเดียว มีพวกฟินเทค มีอะไรเกิดขึ้นเยอะแยะมากมาย มีแฟกเตอร์หลายอย่าง และทุกอย่างเปลี่ยนทิศทางเร็วมาก เพราะฉะนั้น การลงทุนต้องรอบคอบ ต้องศึกษา ต้องเรียนรู้ เพราะความเสี่ยงในอนาคต เสี่ยงกว่าตอนนี้เยอะ” นักธุรกิจหญิงมาดนุ่ม ทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,312 วันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว