แคทเร่งคลอด‘ดิจิทัลพาร์ค’

12 พ.ย. 2560 | 09:49 น.
“แคท” ในฐานะผู้บริหารพื้นที่จ้าง “ซาวิลส์ ประเทศไทย” ทำมาสเตอร์แพลน ให้ส่งแผนก่อนสิ้นปี ขณะที่ ครม.อนุมัติงบ 3,764 ล้านบาท ให้ “ดีป้า” พัฒนา เมืองอัจฉริยะ “สมาร์ท อีอีซี” ด้าน ก.ดีอี วางแผนดึงกลุ่มทุนจีน-ญี่ปุ่นลงทุนตั้งสถาบัน IOT

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ แคท ได้ว่าจ้าง บริษัท ซาวิลส์ ประเทศไทย จำกัด เพื่อจัดทำมาสเตอร์แพลนในโครงการดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ บนพื้นที่จำนวน 709 ไร่ เนื่องจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และ รัฐบาลต้องการจัดทำแผนแม่บทบนแต่ละพื้นที่ให้เกิดความชัดเจน ซึ่งหนึ่งในมาสเตอร์แพลนนั้นมีแผนจัดตั้งบริษัท ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ จำกัด อีกด้วย

[caption id="attachment_228722" align="aligncenter" width="336"] พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท[/caption]

เหตุผลการจัดทำมาสเตอร์แพลนครั้งนี้เนื่องจากว่าโครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้กลุ่มธุรกิจสื่อสารไร้สาย ซึ่งบริษัทไม่มีความเชี่ยวชาญด้านบริหารพื้นที่ ดังนั้นจึงต้องการแยกโครงสร้างธุรกิจให้ชัดเจน ในเบื้องต้นได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาพร้อมทีมงานแล้วจำนวน 10 คน

อย่างไรก็ตาม ครม. ได้อนุมัติให้กระทรวงดีอี จัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิตอล (Digital Park Thailand) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลใน 2 นโยบายหลัก ได้แก่ นโยบายประเทศไทย 4.0 และนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอลของไทยเอง และการประยุกต์ใช้ดิจิตอลในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 10 กลุ่มอุตสาหกรรมนำไปสู่อุตสาหกรรม 4.0

สำหรับพื้นที่ 709 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศูนย์โทรคมนาคมศรีราชา บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่ง Digital Park Thailand จะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่จะเป็นศูนย์กลางด้านดิจิตอลของภูมิภาค (Global Digital Hub) ที่มุ่งเน้นให้เกิดการลงทุนเพื่อการพัฒนาธุรกิจดิจิตอลควบคู่กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิตอล บนพื้นฐานของการเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ (International Exchange Gateway) และศูนย์ข้อมูลของประเทศ (Data Center Hub)

[caption id="attachment_183607" align="aligncenter" width="503"] คณิศ แสงสุพรรณ คณิศ แสงสุพรรณ[/caption]

ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ได้เห็นข้อเสนอของที่ปรึกษาในการจัดตั้งบริษัทแต่ต้องไปถามรายละเอียดทางกระทรวงดีอีโดยตรง
เมื่อเร็วๆ นี้ ครม.มีมติเห็นชอบ การจัดสรรทุนประเดิมให้แก่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กรอบวงเงินงบประมาณ 3,764 ล้านบาท ประกอบด้วย งบสำหรับเปลี่ยนผ่านสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) แผนงานแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล แผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ สมาร์ท อีอีซี แผนงานการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แผนงานเสริมสร้างศักยภาพและการเตรียมความพร้อม และแผนงานส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิตอลในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

ก่อนหน้านี้นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า มีแผนจัดตั้งสถาบัน IoT (Internet of Things) ทำในแบบกิจการร่วมค้า (Consortium) ขึ้นมา คาดว่าจะเริ่มสร้างอาคาร IoT ได้ในช่วงปี 2561 ได้เชิญชวนประเทศญี่ปุ่น และ จีน เข้ามาลงทุน และยังมีแพ็กเกจสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับนักลงทุนอีกด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,312 วันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว